การคาดการณ์กับความเสี่ยง

การคาดการณ์กับความเสี่ยง

งครามการค้า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ราคาน้ำมันดิบที่ 75 ดอลลาร์ ดอกเบี้ยพันธบัตรที่พุ่งสูงถึง 3% รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจที่เริ่มแผ่ว

ดูเหมือนความเสี่ยงที่มากมายในโลกปัจจุบัน คำถามคือ เศรษฐกิจโลกจะยังขยายตัวได้ดีท่ามกลางความเสี่ยงต่าง ๆ ที่รุมล้อมหรือไม่

ณ ปัจจุบัน ดูเหมือนสำนักวิจัยต่าง ๆ จะยังคงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวดีที่ประมาณ 4% สูงขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อนๆ แต่สำหรับผู้เขียน การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณมากขึ้นที่อาจขยายตัวได้ไม่ถึงเป้าดังกล่าว โดยมี 5 สัญญาณคือ (1) เริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างพร้อมเพรียง (Synchronized slowdown) จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ทั่วโลกที่ตกต่ำลง (2) เงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าส่งผลให้ค่าเงินสกุลหลักอื่น ๆ แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง กระทบต่อภาคการส่งออกและเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มดังกล่าว (3) ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอาจส่งผลกระทบต่อแรงกดดันเงินเฟ้อและการฟื้นตัวเศรษฐกิจ (4) ผลตอบแทนพันธบัตรที่เริ่มกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง บ่งชี้ว่าต้นทุนทางการเงินทั่วโลกเริ่มเพิ่มขึ้น และ (5) สัญญาณจากจีนที่ผ่อนคลายมาตรการการเงินในช่วงที่ผ่านมา บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจภายในประเทศของจีนอาจแย่กว่าตัวเลขที่ทางการประกาศไว้

5 สัญญาณดังกล่าวบ่งชี้ว่าเป็นไปได้สูงขึ้นที่เศรษฐกิจโลกในระยะต่อไปอาจไม่ได้ขยายดีตามที่หลายฝ่ายมองไว้ นอกจากนั้น ในระยะต่อไป เศรษฐกิจโลกยังเผชิญกับ 3 ความเสี่ยงหลักที่อาจจะยิ่งฉุดรั้งให้ตกต่ำลง

ความเสี่ยงแรกได้แก่ สงครามการค้าที่รุนแรงมากขึ้นในปีนี้ หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ดำเนินนโยบายปกป้องการค้าตามที่เขาเคยได้หาเสียงไว้ โดยเฉพาะการมุ่งเป้าโจมตีจีนด้วยการกล่าวหาว่าจีนละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และประกาศรายชื่อสินค้าที่จะขึ้นภาษี 25% มูลค่ารวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์

หลังจากประกาศไม่กี่ชั่วโมง จีนก็ตอบโต้ทันทีโดยประกาศรายชื่อสินค้ามูลค่ารวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์ที่จะขึ้นภาษีนำเข้า 25% เช่นเดียวกัน โดยส่วนใหญ่ได้แก่สินค้าเกษตร เช่น ถั่วเหลือง รวมถึงพาหนะเช่น รถยนต์และเครื่องบิน

แต่หลังจากที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ไปกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมนานาชาติที่เมืองโบอ่าว โดยประกาศว่าพร้อมที่จะเปิดประเทศมากขึ้น ซึ่งหลังการกล่าวดังกล่าว ทรัมป์ก็กล่าวชื่นชม ทำให้ตลาดมองว่าความเสี่ยงสงครามการค้าดูเหมือนจะลดลง

การคาดการณ์กับความเสี่ยง

ดูส่วนตัวแล้ว แม้ว่าผู้เขียนเห็นด้วยกับหลายฝ่ายว่า สงครามการค้าครั้งนี้จะไม่รุนแรงดังเช่นในช่วงปี 1930 ที่นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก (The great depression) แต่ก็ไม่น่าจะยุติลงโดยง่าย แต่น่าจะเป็นดั่ง สงครามเย็นทางการค้า” (Trade Cold War) มากกว่า เนื่องจาก

(1) หากทั้งจีนและสหรัฐขึ้นกำแพงภาษีสินค้าตามที่ได้ประกาศรายชื่อไว้จริง จะทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ได้รับผลกระทบแง่ลบอย่างมาก ดังนั้น ธุรกิจต่าง ๆ น่าจะ Lobby ฝ่ายการเมืองไว้ล่วงหน้า

(2) ในส่วนของจีนที่ประกาศรายชื่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐจำนวน 5 หมื่นล้านดอลลาร์นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าเกษตรที่อาจกระทบต่อฐานเสียงของพรรครีพับบริกกัน ซึ่งหากถูกเก็บภาษีจริง อาจทำให้พรรครีพับบริกกันพ่ายแพ้การเลือกตั้งในปลายปีนี้ จึงเป็นไปได้ที่สมาชิกสภาคองเกรสจะออกมาต่อต้านแผนการเก็บภาษีดังกล่าว และ

(3) นอกจากจะกีดกันทางการค้าแล้ว สหรัฐยังมีแผนการกีดกันการลงทุนของบริษัทจีนในอุตสาหกรรมด้านอิเล็กทรอนิกส์ของสหรัฐด้วย ทำให้มองได้ว่าเกมนี้เป็นแผนระยะยาวของสหรัฐในการคุมกำเนิดการขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นแล้ว สงครามครั้งนี้ไม่น่าจะจบลงโดยง่าย ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงที่กดดันเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป

ความเสี่ยงที่สอง ได้แก่ ราคาน้ำมันและโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะเบรนท์ที่ขึ้นสูงสุดในรอบ 3 ปี เกือบไปแตะระดับ 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเกิดจาก 3 เหตุผลหลักคือ (1) จากการลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC และพันธมิตรที่นำโดยรัสเซียถึง 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน (2) จากกระแสความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง ทั้งในซีเรียและซาอุดิอาราเบียที่ถูกยกระดับขึ้น และ (3) จากกระแสการเก็งกำไรที่เพิ่มขึ้นหลังซาอุดิอาราเบียออกมาประกาศว่าตั้งเป้าราคาน้ำมันที่ 80-100 ดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่าราคาน้ำมันจะค่อย ๆ ลดลงไปอยู่ที่ 60-70 ดอลลาร์ในระยะต่อไปจาก 3 เหตุผลคือ (1) การผลิต Shale oil ในสหรัฐที่ค่อย ๆ กลับมา เห็นได้จากแท่นขุดเจาะที่เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2) ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ฟื้นตัวค่อนข้างเปราะบาง โดยฟื้นแต่ฝั่งภาคการผลิตแต่กำลังซื้อยังอยู่ในระดับต่ำ และ (3) การที่สหรัฐมีเหตุผลเชิงกลยุทธ์ที่ไม่ต้องการให้ราคาน้ำมันสูงเกินไปก่อนการต่ออายุข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่านในเดือนหน้า ทำให้ราคาน้ำมันไม่น่าจะขึ้นไประดับสูงได้นานนัก

ความเสี่ยงสุดท้าย ได้แก่ ความตึงตัวของภาคการเงินที่เริ่มกระทบต้นทุนการเงินทั่วโลก โดยล่าสุด ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐปรับเพิ่มขึ้นมาแตะระดับเกือบ 3% หลังจากที่นักลงทุนกังวลความเสี่ยงเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น และความเสี่ยงสงครามการค้า นอกจากนั้น การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed อย่างต่อเนื่อง ก็ยิ่งผลักดันให้ต้นทุนทางการเงินโดยรวมปรับเพิ่มขึ้น เห็นได้จากดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านในสหรัฐที่ปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 50 bps นับจากต้นปี ทั้งนี้ การตึงตัวของดอกเบี้ยในสหรัฐจะเริ่มทำให้ต้นทุนทางการเงินทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้นตาม

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่า ต้นทุนทางการเงินน่าจะปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จาก (1) เศรษฐกิจที่ยังฟื้นอย่างเปราะบาง ทำให้ Fed ไม่น่าจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว (2) ความเสี่ยง Trade Cold War ที่อาจมีผลฉุดให้เศรษฐกิจชะลอตัวจากความไม่แน่นอนที่มีมากขึ้น กระทบต่อความเชื่อมั่นและกำลังซื้อ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจชะลอลง กดดันให้ Fed ไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้แรงนัก และ (3) ราคาน้ำมันที่ไม่น่าจะสูงขึ้นอีกมากนัก น่าจะทำให้เงินเฟ้อไม่น่าปรับเพิ่มขึ้นได้อีกมาก ทำให้ไม่มีจำเป็นในการรีบขึ้นดอกเบี้ย

โดยสรุป ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกมีน้ำหนักมากขึ้นทำให้เศรษฐกิจโลกอาจชะลอลงกว่าที่สำนักวิจัยต่าง ๆ คาดไว้ แต่จากการที่ความเสี่ยงบางปัจจัยที่อาจขัดกันเอง ทำให้ผลกระทบแง่ลบต่อเศรษฐกิจโลกไม่น่ารุนแรงมากนัก

อย่างไรก็ตาม ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน นักลงทุนทั้งหลาย จงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด