ปรากฎการณ์แจ๊ค หม่า ดิจิทัล ทรานสฟอร์เมชั่นที่จำเป็นต้องเกิด

ปรากฎการณ์แจ๊ค หม่า ดิจิทัล ทรานสฟอร์เมชั่นที่จำเป็นต้องเกิด

“ส่งออกทุเรียน 80,000 ลูกภายใน1นาที” ฟังดูแล้วน่าจะเป็นสิ่งที่ดีแต่แล้วทำไมมีทั้งเสียงคัดค้านและเสียงสนับสนุน

สำหรับผู้บริโภคที่เสพสื่อโซเชียลทั่วไปที่ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางและอาศัยอยู่ในหัวเมืองใหญ่ อาจยังไม่เข้าใจถึงโครงสร้างของภาคการเกษตรในประเทศไทยซึ่งเป็นอีกครึ่งหนึ่งของประเทศและมีความแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับวิถีชีวิตในเมือง

ภาคการเกษตรโดยมากแล้วเริ่มต้นจากการทำเกษตรกรรมซึ่งมีทั้งเกษตรแปลงเล็กและเกษตรแปลงใหญ่แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นผู้มีรายได้ต่ำและเป็นเกษตรแปลงเล็ก

จากผลผลิตของเกษตรกรเหล่านี้ เช่น ทุเรียนก็จะมีผู้รวบรวมในระดับท้องถิ่นที่รับซื้อผลิตผลจากเกษตรกรโดยตรงเพื่อนำมาแปรรูปและหรือนำมาขายต่อจากผู้รวบรวมท้องถิ่นก็อาจขายต่อให้ผู้รวบรวมจังหวัดผู้รวบรวมภูมิภาคและกระทั่งผู้รวบรวมในระดับประเทศ

ซึ่งผู้รวบรวมระดับประเทศนี้ก็นำมาขายต่อผ่านช่องทางของโมเดิร์นเทรดให้กับผู้บริโภคที่เป็นชนชั้นกลางอยู่ในหัวเมืองใหญ่หรือกระทั่งเป็นผู้ส่งออกเพื่อนำไปขายต่อในต่างประเทศ

การเป็นผู้รวบรวมก็ไม่แตกต่างกับการเป็นพ่อค้าคนกลางราคาทุเรียนที่เกษตรกรขายหน้าฟาร์มจึงมีความแตกต่างและต่ำกว่าราคาที่ผู้บริโภคซื้อจากโมเดิร์นเทรด

ส่วนต่างขอราคาก็คือรายได้ของพ่อค้าคนกลาง ซึ่งเป็นผู้มีรายได้ปานกลาง หรือสูง (แต่ต้องอย่าลืมว่าพ่อค้าคนกลางก็มีต้นทุนด้วย)

ปรากฎการณ์ แจ๊คหม่าแท้ที่จริงก็คือ ดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่นที่ไม่เพียงแต่เพิ่มประสิทธิภาพด้วยการเป็นดิจิทัลและก็ยังปรับเปลี่ยนและทำลายห่วงโซ่อุทานเดิมทำให้พ่อค้าคนกลางน้อยลง(แต่ก็ไม่ได้หมดไป)เพื่อทำให้ผู้ผลิตอยู่ใกล้ผู้บริโภคมากขึ้นซึ่งคราวนี้ผู้บริโภคก็อยู่ห่างไกลถึงประเทศจีน

สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นคือเกษตรกร ซึ่งเป็นผู้มีรายได้ต่ำ จะมีรายได้ที่สูงขึ้นส่วนผู้บริโภคในประเทศจีน(หรือกระทั่งผู้บริโภคชาวไทย ที่เข้ามาใช้ระบบนี้)ได้สินค้าที่ราคาถูกลงทั้งสองอย่างนี้เกิดจากจำนวนพ่อค้าคนกลาง ซึ่งเป็นผู้มีรายได้ปานกลางและสูง ที่ลดลงถูกปรับเปลี่ยนและทำลาย แต่ในขณะที่ระบบของแจ๊คหม่าได้เข้ามาแทนที่พ่อค้าคนกลางรายเดิม

จากปรากฎการณ์ แจ๊คหม่าโดยอาศัยตัวอย่างของทุเรียนผู้ที่ชนะก็คือเกษตรกรของไทยผู้บริโภคในประเทศจีน (หรือประเทศไทย) และระบบของแจ๊คหม่า

ส่วนผู้ที่แพ้ ก็คือผู้รวบรวมหรือพ่อค้าคนกลางสัญชาติไทย

ทั้งนี้ จึงไม่ใช่สถานการณ์ชนะ-ชนะจึงขึ้นอยู่กับผู้อ่านจะเลือกเห็นอกเห็นใจ ผู้เล่นฝ่ายใด

เสียงที่ไม่สนับสนุนส่วนใหญ่ คือผู้ที่เป็นห่วง พ่อค้าคนกลางสัญชาติไทย ที่เป็นเจ้าของ ห่วงโซ่อุปทานในระบบเศรษฐกิจเดิม ที่เริ่มต้นจากผู้รวบรวม จนไปถึง โมเดิร์นเทรด

และยังมีอีกกลุ่ม ที่มีความเป็นห่วงว่า ปรากฎการณ์ แจ๊ค หม่า จะสร้างการผูกขาด และดับฝัน ของธุรกิจสตาร์ทอัพสัญชาติไทย ที่หวังจะมาเป็นพ่อค้าคนกลางรายใหม่ในยุคดิจิทัล

แม้เรื่องนี้จะไม่ใช่สถานการณ์ชนะ-ชนะ แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเกิด เพราะเป็นผลพวงมาจาก ดิจิทัล ทรานสฟอร์เมชั่น ที่ได้ปรับเปลี่ยนและทำลายห่วงโซ่อุทานเดิม ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่แจ๊ค หม่า ก็ต้องเป็นธุรกิจอีคอมเมอร์ซ ยักษ์ใหญ่ข้ามชาติสัญชาติอเมริกัน ยุโรป หรือจะเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพสัญชาติไทย ก็เป็นได้

จึงขอตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่เรื่องนี้สะท้อน ก็คือทุกฝ่ายมองว่า ดิจิทัล ทรานสฟอร์เมชั่น เป็นสิ่งที่ดี แต่หลายฝ่ายอยากเห็นธุรกิจสตาร์ทอัพสัญชาติไทย เป็นเจ้าของระบบหลัก ที่ในการทำ ดิจิทัล ทรานสฟอร์เมชั่น ของประเทศ

ตามที่เคยกล่าวถึงในบทความก่อนหน้า ที่ประเทศจีน ได้ก้าวข้ามนโยบาย Industry 4.0 เพื่อเข้าสู่นโยบาย Made in China 2025 ซึ่งหมายความว่าเทคโนโลยีหลักที่จะใช้ได้การขับเคลื่อนประเทศของประเทศจีน จะต้องสร้างโดยคนจีนเท่านั้น

แล้วสำหรับประเทศไทย เราพร้อมจะมีนโยบายอย่างนี้หรือยัง