3 ข้อชวนคิด ประสิทธิผล ‘นโยบายการเงิน’

3 ข้อชวนคิด ประสิทธิผล ‘นโยบายการเงิน’

ยอมรับว่า “แปลกใจ” อยู่ไม่น้อยที่เห็น “ผลโหวต” ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ครั้งล่าสุด ที่เริ่ม “เสียงแตก”

โดยมี “หนึ่งเสียง” โหวตให้ “ขึ้น” ดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 1.75% แม้ว่า กนง. เสียงส่วนใหญ่ “6 เสียง” จะยังโหวตให้ “คง” ดอกเบี้ยเอาไว้ที่เดิม คือ 1.5%

ผลโหวตของ กนง. ที่เริ่มไม่เป็นเอกฉันท์ในการประชุมรอบนี้ แม้จะยังไม่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่ก็นับเป็นการ “ส่งสัญญาณ” ถึงภาวะ “ดอกเบี้ยขาขึ้น” ที่อาจเกิดขึ้นได้ในระยะข้างหน้า

ที่แปลกใจ คือ การส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้นครั้งนี้ เกิดขึ้นพร้อมกับการ “ปรับลด” คาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้ลง โดย กนง. หั่นคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปที่ใช้เป็น “เป้าหมาย” ในการทำนโยบายการเงินจาก 1.1% ลงมาอยู่ที่ 1% เท่ากับกรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อ

อีกประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือ ผลสำรวจ “คาดการณ์เงินเฟ้อ” ระยะ 5 ปีข้างหน้า ที่สอบถามความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจ หรือ “นักเศรษฐศาสตร์” ซึ่งข้อมูลนี้ปรากฎในรายงานนโยบายการเงินฉบับล่าสุด โดยผลสำรวจบ่งชี้ว่า นักเศรษฐศาตร์ คาดการณ์เงินเฟ้อในอีก 5 ปีข้างหน้าไว้ที่ 1.8% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 2.3% นับเป็นการลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ข้อมูลนี้ ชวนให้คิดว่า นโยบายการเงิน “เริ่มมีปัญหา” เรื่องการ “ยึดเหนี่ยว” คาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชนหรือไม่

ที่สำคัญ การส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้นของ กนง. ท่ามกลางการปรับลดประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ลง และยังสวนทางกับคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไประยะ 5 ปีข้างหน้า ที่ลดลงแบบมีนัยสำคัญ ยิ่งทำให้เกิดคำถามว่า “กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ” ที่ ใช้ในการดำเนินนโยบายการเงิน เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน

เท่าที่ไล่อ่านรายงานนโยบายการเงินฉบับล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีเรื่องชวนคิดอย่างน้อย 3 ข้อ

1. นับตั้งแต่ กนง. หันมาใช้ “เงินเฟ้อทั่วไป” ในการทำนโยบายการเงิน เมื่อปี 2558 โดยกำหนดค่ากลางของเป้าหมายไว้ที่ 2.5% บวกลบไม่เกิน 1.5% หรือ มีกรอบอยู่ที่ 1-4% จนถึงวันนี้ ยังไม่มีปีใดที่เงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้เลย

2. เงินเฟ้อช่วงที่ผ่านมา ลดลงจากฝั่งของ “ซัพพลาย” โดยเฉพาะจากราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่ กนง. มองว่า การลดดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินเฟ้อ ประสิทธิผลที่ได้ไม่สูงมาก ขณะที่เงินเฟ้อล่าสุดแม้จะต่ำกว่า 1% แต่แนวโน้มเริ่มทยอยปรับขึ้นแบบช้าๆ ซึ่งก็เกิดจากเรื่องของซัพพลาย คือ ราคาน้ำมันเช่นกัน ..แต่ กนง. กลับเริ่มส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ย

3. การส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ย เกิดขึ้นท่ามกลางการปรับลดประมาณการเงินเฟ้อในปีนี้ลง ขณะที่ คาดการณ์เงินเฟ้อระยะ 5 ปีข้างหน้า ก็ปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ บ่งชี้ไปในเชิงว่า นโยบายการเงินไม่อาจยึดเหนี่ยวคาดการณ์เงินเฟ้อเอาไว้ได้

ทั้งหมดนี้ชวนให้คิดว่า “เงินเฟ้อ” ที่อยู่ระดับต่ำ เป็นเพราะนโยบายการเงินยัง “ไม่ได้ทำงานอย่างเต็มที่” เพื่อดึงให้เงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย หรือเป็นเพราะ “ปัจจัยเชิงโครงสร้าง” ทำให้ผลที่มีต่อเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงไป

...ถ้าเป็นอย่างหลังก็น่าคิดว่า “กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ” ถึงเวลาต้องทบทวนใหม่แล้วหรือยัง!!?