การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในลาว

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในลาว

เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในลาวส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในภาคการผลิตไฟฟ้า เหมืองแร่ เกษตร และบริการ รวมถึงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน

 โดยในอดีตไทยเคยเป็นประเทศหลักที่เข้าไปลงทุนในลาว แต่ในระยะหลังจีนเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุด รองลงมาคือเวียดนามและไทย นอกจากนี้พบว่าการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะเพิ่มขึ้น สำหรับการลงทุนในภาคหัตถอุตสาหกรรมแม้จะยังมีน้อย แต่ยังมีบรรษัทข้ามชาติต่างๆ เข้ามาตั้งโรงงานในลาว ส่วนหนึ่งเป็นการย้ายฐานการผลิตบางส่วนจากประเทศเพื่อนบ้านเช่นไทยเข้ามาในลาว สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการลงทุนของต่างชาติในลาว ได้แก่

ปัจจัยดึงด้านบวกจากลาว พบว่า ลาวเป็นประเทศที่ยังคงมีทรัพยากรค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ มีที่ดินแปลงใหญ่สามารถรองรับการผลิตในภาคการผลิตต่างๆ การเมืองมีเสถียรภาพ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง (แต่กระจุกตัวอยู่ในบางภาคเศรษฐกิจ) ค่าจ้างแรงงานต่ำและจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจของลาวกับประเทศในภูมิภาคและการได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากหลากหลายประเทศ ทำให้การลงทุนในลาวสามารถเข้าถึงตลาดที่ใหญ่ขึ้น รวมถึงสามารถใช้ลาวเป็นฐานการผลิตส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค อีกทั้งลาวมีการปรับปรุงกฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุนให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงการเตรียมพร้อมก่อนเข้าเป็นสมาชิกและหลังการเข้าเป็นสมาชิก WTO ในปี 2556 สำหรับกฎหมายการลงทุนฉบับล่าสุด (ปี 2552) เป็นการรวมกฎหมายการลงทุนในประเทศและการลงทุนของต่างชาติเข้าด้วยกัน ทำให้นักลงทุนในประเทศและต่างชาติมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น นอกจากนี้ลาวมีการปรับลดอัตราภาษีกำไรให้เหลือ 24% ตั้งแต่ปี 2557 ยิ่งเป็นการเพิ่มความมั่นใจและดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในลาวมากขึ้น

ปัจจัยดึงด้านลบของลาว พบว่า ลาวมีขนาดตลาดค่อนข้างเล็ก ด้านแรงงานแม้จะมีค่าจ้างแรงงานต่ำแต่มีกำลังแรงงานไม่มาก ผลิตภาพการผลิตแรงงานต่ำ ในภาพรวมยังคงขาดแคลนแรงงานในทุกระดับ และพบว่าแรงงานมีการศึกษาไม่เพียงพอ แหล่งเงินทุนในลาวมีค่อนข้างจำกัด ด้านกฎระเบียบการลงทุน แม้จะมีการปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่างๆ แต่ยังคงมีปัญหาในการนำไปบังคับใช้ ขั้นตอนการขออนุญาตการดำเนินการเพื่อเริ่มลงทุนและกระบวนการทางภาษียังคงมีความยุ่งยากซับซ้อน ขาดความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นบางส่วน และยังมีปัญหาการคอร์รัปชันและกิจกรรมนอกระบบ อีกทั้งสถาบันโดยเฉพาะด้านกระบวนการยุติธรรมยังคงไม่พัฒนาเท่าที่ควร และมีศักยภาพในการกำกับดูแลอยู่ในระดับต่ำ และในบางครั้งภาครัฐไม่สามารถส่งมอบที่ดินให้ได้ตามที่ระบุไว้ในสัญญาสัมปทาน

ปัจจัยผลักจากประเทศที่เป็นแหล่งทุนหลัก พบว่า ทั้งจีนและเวียดนามมีกลยุทธ์ที่ค่อนข้างชัดเจนเกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ จีนลงทุนในลาวกับหลายภาคเศรษฐกิจ แต่ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญคือ การลงทุนด้านพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน โดยภาครัฐจีนมีการตั้งองค์กรต่างๆ ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศ ส่วนเวียดนามเน้นการให้รัฐวิสาหกิจเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน (โดยเฉพาะในลาวและกัมพูชา) และกระจุกตัวอยู่ในไม่กี่อุตสาหกรรม เช่น พลังงาน ป่าไม้ เกษตร และโทรคมนาคม เป็นต้น 

สำหรับไทยแม้ในระยะหลังภาครัฐจะมีมาตรการในการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศในด้านต่างๆ ส่วนใหญ่บรรษัทข้ามชาติไทยที่ไปลงทุนในลาวจะตัดสินใจลงทุนจากความได้เปรียบเฉพาะของบริษัทเอง และปัจจัยดึงจากลาวมากกว่ามาตรการของภาครัฐไทย สำหรับปัจจัยผลักอื่นๆ จากไทย เช่น ที่ดินแปลงใหญ่ที่เหมาะสำหรับการเพาะปลูกในไทยเริ่มมีน้อยลง ค่าจ้างแรงงานในไทยที่สูงขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ ภาคธนาคารของแต่ละประเทศทั้งจีน เวียดนาม และไทย ต่างมีบทบาทในการเป็นแหล่งเงินทุนให้บรรษัทข้ามชาติของตนไปลงทุนในลาว โดยเฉพาะบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ รวมถึงมีการตั้งสำนักงานสาขาในลาว โดยเน้นให้บริการกลุ่มลูกค้าเป็นบรรษัทข้ามชาติจากประเทศตน

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ลงทุนหรือสนใจเข้าไปลงทุนในลาว อาจพิจารณาโอกาสการลงทุนตามภาคเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในลาว ซึ่งรวมถึงภาคเศรษฐกิจที่ใช้ทรัพยากรเข้มข้น เช่น การผลิตไฟฟ้า เหมืองแร่ การเกษตร และการลงทุนในภาคเศรษฐกิจที่ภาครัฐของลาวส่งเสริมเป็นพิเศษ เช่น การลงทุนที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และภาคบริการ (ด้านสุขภาพ การศึกษา และการท่องเที่ยว เป็นต้น) โดยต้องคำนึงถึงความได้เปรียบเฉพาะของบริษัทตนควบคู่ไปกับการพิจารณาปัจจัยดึงจากลาว (ทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบ) และปัจจัยผลักจากไทย

ส่วนภาครัฐไทยควรมีนโยบายที่ชัดเจนในการกำหนดทิศทางการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ เช่น พิจารณาว่าควรส่งเสริมการลงทุนในภาคเศรษฐกิจใดในประเทศหรือกลุ่มประเทศใด อีกทั้งควรมีมาตรการที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมในการส่งเสริม

 

โดย...   ดร.เณศรา สุขพานิช