Building Future Skills สร้างทักษะแห่งอนาคต (2)

Building Future Skills สร้างทักษะแห่งอนาคต (2)

ครั้งที่แล้วดิฉันได้แชร์เรื่องราวที่ประเทศสิงคโปร์ ว่าเขาเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนเพื่อรับมือกับ Digital Disruption อย่างไร

และเรื่องนี้รัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญมากถึงขนาดมีนโยบายสปอนเซอร์การศึกษาและพัฒนายกระดับ basic digital skills ให้คนของเขาผ่านโครงการ SkillsFuture ในครั้งนี้ดิฉันอยากแชร์เรื่องราวต่อไปว่าในมุมของธุรกิจภาคเอกชนที่ประเทศสิงคโปร์ เช่น ในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารก็ได้สร้างสรรค์ไอเดียใหม่เป็น blueprint ของอุตสาหกรรมในเรื่องเกี่ยวกับ “Building Future Skills” คือ การสร้างทักษะแห่งอนาคตด้วยเช่นกัน โดยให้ความสำคัญกับ 6 เรื่องต่อไปนี้

1.การสร้าง Digital Awareness ให้คนเข้าใจการใช้ application ต่างๆ และเห็นภาพว่าเทคโนโลยีใหม่และนวัตกรรมต่างๆ เช่น AI, IoT, Machine learning, Blockchain, social media และ digital platform เข้ามามีบทบาทและสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการดำเนินธุรกิจอย่างไร

2.การให้ความสำคัญกับ Data Analytics นำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อเข้าใจลูกค้าและแก้ปัญหาให้กับลูกค้ามากยิ่งขึ้น เป็นเรื่องที่เขาให้ความสำคัญกับคุณค่าของข้อมูล การเข้าใจ life cycle ของข้อมูลในมุมต่างๆ รวมไปถึงการบริหารข้อมูลและการออกแบบโครงสร้างข้อมูล Data Engineering

3.การออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการในมุมมองของลูกค้า โดยใช้หลัก Human Centered Design เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ มาตอบสนองให้ตรงความต้องการของลูกค้าได้อยู่เสมอ

4.การทำงานโดยมีความยืดหยุ่นและใช้หลักการของ Agile ในทุกองคาพยพของธุรกิจ มีแนวคิดลองผิดลองถูก และเขียน Business Model ใหม่ๆ เพื่อทดลองให้ประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว

5.การสื่อสารในยุคดิจิทัลที่ต้อง engage ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ การทำ framework บน digital marketing การใช้ platform ที่เหมาะสมในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย และการสร้าง content อย่างมียุทธศาสตร์

6.การเข้าใจเรื่องการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) และการกำกับดูแล (Governance) ในโลกดิจิทัล รู้วิธีจัดการกับความเสี่ยงในโลกดิจิทัลและผลกระทบทางด้าน financial services ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ การกำกับดูแลด้านดิจิทัล (Digital Governance) และการระมัดระวังป้องกัน Cyber Security

ทั้งหมดนี้เป็นการสร้าง blueprint เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานของทุกธนาคารหรือสถาบันการเงินภายในอุตสาหกรรมเดียวกันโดยใช้จรรยาบรรณและการกำกับดูแลเป็นพื้นฐานหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจไปข้างหน้า การที่สถาบันการเงินของสิงคโปร์ให้ความสำคัญและร่วมกันสร้างหลักการและ roadmap เพื่อเดินไปข้างหน้า มีผลอย่างมากต่อการพัฒนา skill ของคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ให้สามารถอยู่ได้และสร้างคุณประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจของประเทศในโลกดิจิทัล

อีกเรื่องหนึ่งที่หลายฝ่ายกำลังช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้นกับคนในประเทศและในองค์กรของตนคือ การสร้าง “Lifelong Learning” หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะ skill ต่างๆ ที่เป็นที่ต้องการของตลาดนั้นจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตาม demand ของธุรกิจในแต่ละยุคสมัย ดังนั้น skill ที่เราสร้างขึ้นในวันนี้ก็จะไม่เป็นที่ต้องการในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่คนจะต้องพัฒนาตัวเองต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง หากยังอยากเป็นคนที่เป็นที่ต้องการของธุรกิจหรือเป็นคนไม่ตกยุค หลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนจึงมี initiative ต่างๆ เพื่อส่งเสริมและผลักดันในเรื่องนี้ เช่น มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore, NUS) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของเอเชีย ได้พัฒนาหลักสูตร NUS Lifelong Learners (NUS L3) ให้กับศิษย์เก่าทุกคนไม่ว่าจะเรียนจบไปกี่ปีแล้วก็ตาม ได้มีโอกาสกลับมา upskill และ reskill ให้ตัวเองอยู่เสมอเป็น lifelong learning เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ยังคงแข่งขันได้ในตลาดแรงงาน และเป็นบุคลากรที่ช่วยสร้างผลกระทบในแง่บวกให้กับเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

หลักสูตร NUS L3 ออกแบบหลักสูตรให้เหมาะกับแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมและสอดรับกับ 8 Priority and Emerging Skills Areas ที่อยู่ใน SkillsFuture Series อันได้แก่ Data Analytics, Finance, Tech-enabled Services, Digital Media, Cyber Security, Entrepreneurship, Urban Solutions และ Advanced Manufacturing ชาวสิงคโปร์ที่เข้ามาเรียนที่ NUS ผ่านโครงการ SkillsFuture จะได้รับการสนับสนุนค่าเล่าเรียนจากรัฐบาลถึง 70% สำหรับคนที่อายุ 40 ปีลงมา และมากถึง 90% สำหรับคนที่อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป เพื่อกระตุ้นให้คนที่มีอายุกลับมาเรียนรู้ใหม่ โดยการเรียนการสอนจะผสมผสานทั้งแบบดั้งเดิมที่เรียนกับครูในชั้นเรียน และแบบ online ที่สามารถเรียนที่ไหนเมื่อไรก็ได้

การได้ไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในครั้งนี้ทำให้ดิฉันเห็นว่าเรื่องต่างๆ ที่ SCB กำลังทำอยู่สอดคล้องกับแนวทางที่คนอื่นเขาคิดเอาไว้แล้ว และเราสามารถหยิบยืมไอเดียดีๆ บางอย่างมาใช้ในบริบทของเราได้ โดยเฉพาะเรื่องการ Reskill People และ Lifelong Learning ให้เกิดขึ้นกับคนในองค์กรนั้น แม้จะเป็นเรื่องยากแต่เป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นต้องทำอย่างยิ่ง กาลิเลโอ นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกกล่าวไว้ว่า เราไม่สามารถสอนอะไรใครได้ เราทำได้แค่เพียงช่วยให้พวกเขาค้นพบมันในตัวของพวกเขาเอง คำพูดนี้สะท้อนความจริงที่ว่า ต่อให้องค์กรทำหลักสูตรที่ดีแค่ไหน แต่ถ้า engage พนักงานให้เกิดไฟในการเรียนรู้ด้วยตัวของเขาเองไม่ได้ มันก็ยากที่จะทำให้สำเร็จเพราะในเรื่องพัฒนาคนนั้น คนไม่มี skill ยังพอ build ไหว แต่คนไม่มีไฟ build เท่าไรก็ไม่เป็นผล