บนเส้นทางสู่การเติบโตที่ยั่งยืน (มิติด้านสิ่งแวดล้อม)

บนเส้นทางสู่การเติบโตที่ยั่งยืน  (มิติด้านสิ่งแวดล้อม)

บนเส้นทางสู่การเติบโตที่ยั่งยืน (มิติด้านสิ่งแวดล้อม)

สวัสดีครับ

ในเดือนก่อน ผมได้เกริ่นถึงการดำเนินธุรกิจที่สามารถแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะต้องประกอบไปด้วยความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม ผ่านมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, and Governance: ESG) ในวันนี้ผมขอยกตัวอย่างกิจกรรมที่น่าสนใจของภาคธุรกิจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการภายใต้มิติด้านสิ่งแวดล้อมครับ

องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ไม่เพียงมองการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือสภาวะโลกร้อน (Climate Change) เป็นปัญหาระดับโลก แต่ยังถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญทั้งในด้านความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจและซัพพลายเซน โดยตัวอย่างของภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำเกือบทุกปีในประเทศไทยคือภัยแล้งและน้ำท่วม ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายและผลกระทบต่อความต่อเนื่องด้านการผลิต

สำหรับในประเทศไทย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกมีบทบาทหลักในการสนับสนุนการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกของประเทศภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) ซึ่งในปัจจุบันเราพบว่ามีองค์กรจากภาคธุรกิจหลายแห่งได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว โดยกระบวนการนี้เริ่มจากการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่องค์กรได้ปลดปล่อยจากการดำเนินธุรกิจเพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ และการควบคุมกระบวนการผลิตเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการกำหนดเป้าหมายและกรอบเวลาที่ชัดเจน  รวมถึงการจัดทำรายงานการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น  

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสนใจว่าการดำเนินการปรับกระบวนการผลิตเพื่อควบคุมหรือลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกอาจช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจไปพร้อมๆ กัน เนื่องจากการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน รวมทั้งการลดของเสียและก๊าซเรือนกระจกในทุกกระบวนการผลิต อาจหมายถึงประสิทธิภาพทางการผลิตที่เพิ่มขึ้นในขณะที่ค่าใช้จ่ายปรับลดลง

ในส่วนของภาคธุรกิจการเงิน นอกเหนือไปจากการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กรแล้ว สถาบันการเงินยังนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่มีส่วนสนับสนุนธุรกิจหรือกิจกรรมที่มีส่วนช่วยลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถือเป็นการช่วยลดสภาวะโลกร้อนได้โดยทางอ้อมอีกด้วย ผลิตภัณฑ์และบริการดังกล่าวรวมถึงสินเชื่อสีเขียว (Green Loans) หรือสินเชื่อที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ ธุรกิจพลังงาน ที่เน้นพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเพื่อทดแทนพลังงานฟอสซิล  ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ผลิตภัณฑ์หรือเทคโนโลยีที่มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ การลงทุนในโครงการที่เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร  หรือโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ รวมถึงโครงการก่อสร้างอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Buildings) เป็นต้น

ในฉบับต่อไป ผมจะอธิบายเพิ่มเติมและยกตัวอย่างกิจกรรมการระดมทุนผ่านเครื่องมือทางการเงินสีเขียวที่กำลังเป็นที่น่าจับตาของภาคธุรกิจภายใต้มิติด้านสิ่งแวดล้อม นั่นคือ Green Bond ครับ