การทำงาน กับ ปัญหาสุขภาพ

การทำงาน กับ ปัญหาสุขภาพ

ขอต้อนรับกลับสู่การทำงานหลังจากหยุดพักผ่อนยาวช่วงสงกรานต์ และหวังว่าการกลับสู่ชีวิตการทำงานในครั้งนี้

 ทุกท่านจะมีภูมิต้านทานที่เพียงพอจนกว่าจะได้หยุดยาวครั้งต่อไป เพราะท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่า ปัญหาด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นกับเรานั้น ส่วนหนึ่งเกิดมาจากสถานที่ทำงาน หรือถ้าพูดอีกมุมหนึ่งคือ สถานที่ทำงานนั้นกำลังจะทำลายสุขภาพเราลงอย่างช้าๆ มีบทความที่ปรากฎใน Stanford Insight ที่ระบุว่า The workplace is killing people and nobody cares โดยในบทความดังกล่าวได้อ้างผลวิจัยหลากหลายที่ระบุว่า อาการป่วยของคนทำงานจำนวนมากในอเมริกานั้น จะมาจากโรคเรื้อรังต่างๆ อาทิเช่น เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด

สาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งของโรคเรื้อรังเหล่านี้ มาจากความเครียด และ สาเหตุสำคัญของความเครียดก็มาจากสถานที่ทำงานนั้นเอง ดังนั้นถ้านำทุกอย่างมาเชื่อมโยงกันก็จะเห็นว่า สถานที่ทำงานมักจะก่อให้เกิดความเครียด ความเครียดนำไปสู่โรคเรื้อรัง และ โรคเรื้อรังเป็นสิ่งที่บ่อนทำลายสุขภาพของเรา จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมในปัจจุบันเราถึงเห็นการเติบโตของ Gig economy ที่คนไม่ทำงานประจำแต่ทำงานตามที่ตนเองต้องการ หรือ เห็นคนทำงานที่ยังไม่ถึงวัยเกษียณ หลายคนยินดีที่จะเกษียณตนเองจากการทำงานประจำแล้วหันมาทำงานในลักษณะที่เป็นอิสระมากขึ้น

ความเครียดในการทำงานนั้นมักจะมาจากทั้งปัจจัยที่เห็นได้ชัดเจน เช่น ความขัดแย้ง หรือ ความมุ่งมั่น ตั้งใจ และจากปัจจัยที่หลบซ่อนและเป็นภัยเงียบที่มองไม่เห็นอีกหลายประการ อาทิเช่น

ความไม่สมดุลระหว่าง Demand และ Control ก็เป็นบ่อเกิดหนึ่งของความเครียด ซึ่งก็คือ การที่ได้รับความคาดหวังหรือถูกเรียกร้องเยอะ (Demand สูง) แต่ขาดอิสระหรือความสามารถในการควบคุมต่อผลผลิตหรือความสำเร็จของงาน (Control น้อย)

ตัวอย่างของความไม่สมดุลระหว่าง Demand และ Control นั้นจะพบได้ทั่วไป เช่น เมื่อเจ้านายมอบหมายงานให้ทำโดยคาดหวังความสำเร็จชั้นเลิศ แต่กลับไม่ได้ให้อำนาจหน้าที่หรือเครื่องมือที่พร้อมที่จะทำให้งานดังกล่าวสำเร็จ ก็เปรียบเสมือนมี Demand ที่สูง แต่มี Control ที่ต่ำ

ยังมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า ถ้าบุคลากรมีความรู้สึกว่าความพยายามในการทำงานของตนเองนั้น ไม่ได้รับผลลัพธ์ที่เหมาะสมแล้วก็จะนำไปสู่ความเครียดได้เช่นเดียวกัน เช่น เมื่อตั้งใจ ทุ่มเท และพยายามให้กับงานอย่างเต็มที่ แต่สุดท้ายงานก็ไม่ประสบความสำเร็จ แถมยังถูกดุจากผู้บังคับบัญชาอย่างไร้เหตุผล

นอกเหนือจาปัญหาเรื่องของความเครียดจากสถานที่ทำงานและสุขภาพแล้ว ยังมีงานวิจัยอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นว่าการทำงานที่หนักและมากเกินไป สามารถนำไปสู่ การบาดเจ็บในการทำงาน อาการติดสุรา หรือ แม้กระทั่งน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น (ขัดกับความเชื่อแต่โบราณที่คิดว่าทำงานหนักแล้วจะผอม) อีกทั้งยังมีงานวิจัยที่พบว่า ความขัดแย้งระหว่างชีวิตการทำงานกับชีวิตครอบครัว (เช่น ทำงานจนไม่มีเวลาให้ครอบครัว) ยังนำไปสู่ปัญหาอีกหลายๆ อย่าง ทั้งอาการหดหู่ (Depression) กระวนกระวาย จิตไม่ปกติ รวมถึงปัญหาทางด้านสุขภาพด้วย

ในสหรัฐมีการประมาณไว้ว่าสถานที่ทำงานที่ไม่เอื้อต่อสุขภาพ หรือ unhealthy workplace นั้น มีส่วนสำคัญที่ต้องรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตที่ไม่จำเป็นกว่า 1 แสนราย (การเสียชีวิตที่มาจากการทำงาน หรือ โรคและความเครียดที่มาจากที่ทำงาน) รวมทั้งนำไปสู่ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงมาก

ที่เขียนมาทั้งหมด ไม่ใช่ว่าจะยุให้ทุกท่านเลิกทำงานและกลับไปอยู่ที่บ้าน แต่ผู้บริหารองค์กรสามารถที่จะออกแบบสภาวะแวดล้อมในการทำงาน วัฒนธรรมองค์กร รวมทั้งการสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ไม่เป็นพิษต่อสุขภาพของบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ไม่เกิดความเครียดที่ไม่จำเป็น หรือ การทำให้บุคลากรได้มีชีวิตที่สมดุล ทั้งระหว่างการทำงาน ครอบครัว การพักผ่อน และ สุขภาพ ซึ่งผลดีย่อมไม่ได้เกิดขึ้นต่อสุขภาพของบุคลากรเพียงด้านเดียว แต่ก็ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งด้านการรักษาพยาบาลและค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้นจากพนักงานหยุดงานอีกด้วย ดังนั้นเรามาทำให้ที่ทำงานของเราเป็น healthy workplace กันเถอะครับ