เจาะลึกหน้าตามหาวิทยาลัย 200 อันดับแรกของโลก

เจาะลึกหน้าตามหาวิทยาลัย 200 อันดับแรกของโลก

ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยถือว่าเป็นหน้าตาของประเทศ เพราะมหาวิทยาลัยคือแหล่งผลิตบุคลากรที่มีทักษะระดับสูง ประเทศไทยพยายามจะผลักดัน

ให้มีมหาวิทยาลัยระดับโลกเกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ถ้าดูผลการจัดอันดับในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยภาพรวมแล้ว มหาวิทยาลัยที่เป็นหน้าเป็นตาของเรา มีอันดับขึ้นๆ ลงๆ อยู่ในช่วงเดิม ไม่ได้มีก้าวกระโดดสูงขึ้นให้คนไทยได้ชื่นใจ

หรือบางทีเรื่องนี้อาจจะเป็นฝันที่ไกลเกินตัว?

ในความเป็นจริงแล้ว กว่ามหาวิทยาลัยสักแห่งจะสร้างชื่อจนได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติก็ต้องใช้เวลาและทรัพยากรจำนวนมาก ทั้งในด้านการผลิตผลงานทางวิชาการในระดับสากล การหารายได้จากงานวิจัย การมีสัดส่วนของนักศึกษาต่อบุคลากรที่เหมาะสม รวมไปถึงการมีนักศึกษาจากต่างชาติเพื่อเพิ่มมิติความเป็นนานาชาติ ซึ่งทั้ง 4 ด้านนี้คือสิ่งที่หน่วยงานจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลกใช้เป็นเกณฑ์พื้นฐานในการให้คะแนนเพื่อจัดอันดับ

เมื่อปี 2558 ไทม์ ไฮเยอร์ไทม์สไฮเออร์เอ็ดดูเคชั่น ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่จัดอันดับมหาวิทยาลัย ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะพื้นฐานของมหาวิทยาลัยที่ติด 200 อันดับแรก เทียบกับมหาวิทยาลัยที่ติด 400 อันดับแรก มีรายละเอียดตามที่แสดงไว้ในภาพ

เห็นข้อมูลเหล่านี้แล้ว พอจะเดาออกได้ไม่ยากว่า การจะดันมหาวิทยาลัยของไทยให้ขึ้นติด 200 อันดับแรกเป็นเรื่องหืดขึ้นคอขนาดไหน สำหรับประเทศไทยที่ความเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคธุรกิจยังไม่เข้มแข็ง ธุรกิจส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีการวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจัง หากเราจะเดินทางนี้จริง ทางเลือกในระยะสั้นก็เหลืออยู่คือการพึ่งเงินภาษีของประชาชน

แม้ว่าตอนนี้จะไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าเงินที่ลงไปจะทำให้ประเทศไทยได้กำไรหรือขาดทุน แต่หากศึกษาผลดีที่เกิดขึ้นจากการมีมหาวิทยาลัยระดับโลกในประเทศต่างๆ ก็พอจะสรุปได้ว่ามี 4 ข้อ

1.มาตรฐานทางวิชาการของมหาวิทยาลัยระดับโลก จะกลายเป็นมาตรฐานอ้างอิงเพื่อให้มหาวิทยาลัยอื่นในประเทศได้ทำตามอย่าง ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพของมหาวิทยาลัยโดยรวมให้สูงขึ้นในระยะยาว

2.มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง สามารถดึงดูดนักศึกษาเก่งๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การมีคนเก่งมาเรียน โดยเฉพาะการเรียนในระดับปริญญาโทและเอกที่มีการวิจัยอย่างเข้มข้นนั้น ก็เท่ากับว่าจะได้มือดีมาช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับมหาวิทยาลัยด้วยอีกแรงหนึ่ง เพราะงานวิจัยของนักศึกษามักจะมีส่วนเสริมงานวิจัยที่อาจารย์กำลังทำอยู่ จึงสามารถผลิตผลงานวิชาการออกมาได้อย่างต่อเนื่อง

3.การมีนักศึกษาจากต่างชาติมาเรียน ยังหมายถึงเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาในประเทศแถมยังเป็นเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะยาว เพราะการจะเรียนให้จบหลักสูตรได้นั้น ต้องใช้ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ ระหว่างที่เรียนอยู่ก็ต้องจับจ่ายใช้สอย หากวัดกันแล้ว รายจ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อปีจากนักศึกษาต่างชาติคนหนึ่งจึงถือว่าไม่น้อย

4.การได้มาใช้ชีวิตในประเทศไทย ย่อมทำให้เขารู้สึกคุ้นเคยกับสินค้าและวัฒนธรรมของเรา เมื่อกลับไป เขาก็จะกลายเป็นลูกค้าของเราต่อไปอีก นอกจากนี้ การมีนักศึกษาต่างชาติมาเรียนถือเป็นโอกาสที่นักศึกษาไทยจะได้เรียนรู้วัฒนธรรม ความคิดความอ่านของชาติอื่น ที่อาจพัฒนาไปเป็นความสัมพันธ์ในเชิงธุรกิจได้ในอนาคต

เรื่องที่ต้องคิดกันให้หนักคือจะเอาเงินก้อนนี้ไปลงทุนกับมหาวิทยาลัยไหนดี เพราะการจะเลือกที่ไหน ต้องมีการเก็บข้อมูลและหาเหตุผลมาสนับสนุนให้เพียงพอ เราอาจทำแบบมาเลเซีย ที่ประกาศล่วงหน้าก่อนระยะหนึ่งว่าให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งสามารถเข้าแข่งกันได้ เพื่อให้มหาวิทยาลัยได้มีเวลาเตรียมตัว มหาวิทยาลัยไหนมีผลงานวิชาการออกมาในระดับนานาชาติมากกว่ากัน พัฒนาการเรียนการสอนได้ดี มีการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการได้เหมาะสมที่สุด ก็จะเป็นผู้ชนะ ได้เงินสนับสนุนไป

งานวิจัยด้านปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพของมหาวิทยาลัย และงานวิจัยของธนาคารโลกสรุปไว้ว่า องค์ประกอบที่สำคัญของมหาวิทยาลัยระดับโลกมี 3 อย่างด้วยกัน คือ 1.การรวมอาจารย์เก่ง นักวิจัยเก่ง และนักศึกษาเก่ง ไว้ด้วยกัน 2.การมีกฎระเบียบที่เหมาะสม โปร่งใส มีระบบการประเมินผลงานที่เป็นธรรม เอื้อต่อการสร้างคนเก่ง และเปิดโอกาสให้คนเก่งสามารถแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ และ 3.การมีทรัพยากรจำนวนมาก สามารถให้ผลตอบแทนสูงพอที่จะดึงดูดให้คนเก่งมาทำงานในมหาวิทยาลัย สามารถให้ทุนกับนักศึกษาที่มีศักยภาพ และสามารถส่งเสริมให้เกิดงานวิจัยที่มีคุณภาพได้

หากเราสามารถทำตามเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อนี้ได้ แม้มีมหาวิทยาลัยติดอันดับโลกแค่ไม่กี่แห่ง แต่กำไรที่ประเทศไทยจะได้ในระยะยาวนั้น มันยิ่งกว่าคุ้มเกินคุ้ม