เก็งกำไรหุ้นอย่างไรดีให้ไม่ขาดทุน

เก็งกำไรหุ้นอย่างไรดีให้ไม่ขาดทุน

เก็งกำไรหุ้นอย่างไรดีให้ไม่ขาดทุน

จากบทความ”เริ่มต้นลงทุนอย่างไรดีให้ไม่ขาดทุน” ในวันที่ 9 มีนาคม 2561 สามารถนำหลักการ ”เอากำไรในอนาคต” มาใช้เก็งกำไรเพื่อไม่ให้ขาดทุนได้  โดยจะทำยังไงนั้น ติดตามกันได้เลยครับ

สำหรับนักเก็งกำไรทุกคนย่อมที่จะต้องรู้จักกับคำว่าตัดขาดทุน (Cut loss) หรือก็คือการยอมรับขาดทุนเมื่อราคาของหุ้นที่เก็งกำไรได้ลดลงมาถึงระดับหนึ่ง ซึ่งเราจะใช้หลักการตัดขาดทุนนี้มาประยุกต์ใช้ครับ โดยการคำนวณให้ปริมาณเงินที่ตัดขาดทุนไม่เกินกว่าจำนวนเงินของกำไรในอนาคตนั่นเอง ส่วนที่มาของกำไรในอนาคตก็มาจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำๆที่สุด ตัวอย่างเช่น ลงทุนในเงินฝาก หรือพันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น ที่ให้ผลตอบแทนที่แน่นอนและมี Default risk = 0 และเมื่อเอาเฉพาะกำไรในอนาคตเป็นตัวกำหนด โอกาสขาดทุนย่อมไม่มี เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนมาดูตัวอย่างกันครับ

ตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีเงินต้นอยู่ 1 ล้านบาทแล้วต้องการลงทุนในตลาดหุ้นเพื่อเก็งกำไร โดยสมมติว่ายอมตัดขาดทุนได้ครั้งละ 5% ของเงินลงทุน แต่ต้องการรักษาเงินต้นทั้งจำนวนไว้ด้วย จะทำได้อย่างไร (สมมติว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารอยู่ที่ 1.5% ต่อปี)

ก่อนอื่นต้องคำนวณหาผลตอบแทนเงินฝากในอนาคต เพื่อนำมาคำนวณหาจำนวนเงินขาดทุนสูงสุดจากการเก็งกำไรในตลาดหุ้นเสียก่อน จากสูตร

ผลตอบแทนเงินฝาก     =       (เงินต้นทั้งหมด x อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก)  /  (1 + อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก)    

                              =             (1,000,000 x 0.015) / (1 + 0.015)     =      14,778 บาท

หมายความว่าจำนวนเงินขาดทุนสูงสุดจากการเก็งกำไรในตลาดหุ้นคือ 14,778 บาท ต่อมาจึงทำการคำนวณหาจำนวนเงินเก็งกำไรในตลาดหุ้นที่เหมาะสมกับการเก็งกำไร ดังนี้

                จำนวนเงินที่เหมาะต่อการเก็งกำไรในตลาดหุ้น          =             จำนวนเงินผลตอบแทนในอนาคต / % ขาดทุนที่รับได้

                                                                                   =             14,778 / 0.05        =             295,560 บาท

จากเงินต้น 1 ล้านบาท เมื่อนำมาเก็งกำไรในตลาดหุ้น 295,560 บาท หากกำหนดจุดตัดขาดทุนที่ 5% จะสูญเสียเงินไปจากการเก็งกำไรเพียง 14,778 บาท และจะได้เงินจำนวนนี้คืนกลับมาได้ ด้วยการนำเงินที่เหลือไปฝากธนาคาร

(1,000,000 – 14,778 = 985,222 บาท) รับผลตอบแทน 1.5% ต่อปี ก็จะได้ดอกเบี้ยพร้อมเงินฝากคืนกลับมาที่ 1,000,000 บาทเท่าเดิม

ส่วนกรณีที่ดีกว่าคือเก็งกำไรแล้วไม่ขาดทุนแต่กลับได้กำไรกลับมาด้วย ก็สามารถเพิ่มอัตราส่วนเงินที่เก็งกำไรตามเงินต้นที่เพิ่มขึ้นมาได้ครับ ตัวอย่างเช่น ผ่านไปหนึ่งปีเก็งกำไรแล้วเงินต้นงอกเงยขึ้นมาเป็น 1,050,000 บาท  จำนวนเงินในอนาคตที่นำมากำหนดการขาดทุนสูงสุดในการเก็งกำไรได้ก็จะขยับขึ้นมาเป็น 15,517 บาท และจำนวนเงินเก็งกำไรก็จะเพิ่มเป็น 310,340 บาท เป็นต้น

สำหรับท่านที่มีคำถามว่าควรตั้งขาดทุนกี่เปอร์เซ็นต์จึงจะเหมาะสมที่สุด และควรกำหนดการเก็งกำไรกี่ครั้งดี ผมขอแนะนำให้ดูจากประสบการณ์การเก็งกำไรที่ผ่านมาของตัวเองครับ หรือในกรณีมือใหม่อาจอาศัยการทดสอบกับอดีตก่อน (Back-test) นอกจากนี้สำหรับบางท่านที่รับความเสี่ยงได้สูงมากอาจจะประยุกต์ไปลงทุนในตราสารบางอย่างที่มีอัตราทด (Leverage) แต่จำกัดขาดทุน ตัวอย่างเช่น Derivative warrant หรือ Option ได้ด้วย

สุดท้ายนี้ก็หวังว่านักเก็งกำไรทุกท่าน หรือนักเก็งกำไรมือใหม่ที่คิดจะเข้าเก็งกำไรในตลาดหุ้นจะนำความรู้จากบทความนี้ไปใช้ประโยชน์ จนเอาตัวรอด ไม่ขาดทุนจากตลาดหุ้นได้ โดยผมมีความเชื่อว่าหากปิดโอกาสขาดทุนได้แล้ว โอกาสกำไรจะตามมาเองครับ

“ Rule No.1 Never lose money, Rule No.2 Never forget rule no.” Warren Buffet Quotes