เกณฑ์ใหม่คุมส่งออกสินค้าใช้ได้สองทาง

เกณฑ์ใหม่คุมส่งออกสินค้าใช้ได้สองทาง

เกณฑ์ใหม่คุมส่งออกสินค้าใช้ได้สองทาง

หนึ่งในประเด็นร้อนแรงที่คนในแวดวงอุตสาหกรรมและการส่งออกต่างให้ความสนใจ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (ร่างพ.ร.บ. TCWMD) กฎหมายที่ควบคุมการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD) ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอาวุธหรือเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง เพื่อให้เป็นไปตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 1540 (2004) ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องมีมาตรการภายในประเทศเพื่อกำกับดูแลการส่งออก การดำเนินธุรกรรมการเงิน และกิจกรรมอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับ WMD ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวอยู่ในขั้นรอพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคาดว่ากฎหมายจะเริ่มใช้บังคับในวันที่ 1 มกราคม 2562

ร่างพ.ร.บ. TCWMD ผ่านการรับฟังความคิดเห็นไปแล้วเมื่อปลายปี 2560 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี หลังรับฟังความคิดเห็นไปแล้วกรมการค้าต่างประเทศ (DFT) ยังได้ปรับปรุงและเพิ่มเติมเกณฑ์บางประการ เช่น นอกจากจะควบคุมสินค้าที่ใช้ได้สองทางและสินค้าที่เข้าข่ายแล้ว ร่างพ.ร.บ. TCWMD ยังควบคุมอาวุธยุทธภัณฑ์ ซึ่งจะประกาศออกมาเป็นบัญชีที่ 3 หรือ ML List ในส่วนของบัญชี 1 (บัญชี DUI) และ 2 (บัญชีสินค้าเข้าข่าย DUI) ก็จะมีการปรับปรุงบัญชีให้สอดคล้องกับ EU List ฉบับล่าสุดและ HS 2017 พิกัดศุลกากรฉบับล่าสุดที่เพิ่งเริ่มใช้เมื่อปีก่อน

สำหรับใบอนุญาตแบบรายปี ซึ่งในร่างพ.ร.บ. TCWMD ยังไม่ได้กำหนดรายละเอียดมากนัก DFT เตรียมจะออกประกาศหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวหลังจากร่างพ.ร.บ.หลักเรียบร้อยแล้ว เกณฑ์คร่าวๆ คือ DFT จะเปิดให้บริษัทที่มีระบบงานควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยาย WMD ภายในองค์กร (ICP: Internal Compliance Program) อันได้มาตรฐานตามเกณฑ์ที่กรมกำหนด เช่น มีระบบการตรวจสอบการซื้อขายที่ปลอดภัย สามารถวิเคราะห์สินค้าที่ตัวเองส่งออกได้ว่าเป็น DUI หรือไม่ มีการตรวจสอบระบบภายในองค์กร เป็นต้น หากเข้าเกณฑ์บริษัทก็สามารถขอใบอนุญาตแบบรายปีได้  ผู้ถือใบอนุญาตแบบรายปีจะได้สิทธิพิเศษ เช่น ไม่ต้องขอใบอนุญาตเป็นรายใบขน สำหรับสินค้าบางรายการที่ต้องขออนุญาตเป็นรายครั้งก็จะได้รับการพิจารณาก่อน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการปฏิบัติงานได้สะดวกกว่าใบอนุญาตปกติ

แม้ DFT จะพยายามออกเกณฑ์และระบบการควบคุมและออกใบอนุญาตออนไลน์ (e-TCWMD) ที่เข้าใจง่ายและอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการได้ดี แต่ก็ยังมีประเด็นที่ผู้ประกอบการต้องระวัง เช่น การควบคุมที่ครอบคลุมไปถึงสินค้าจับต้องไม่ได้ อย่างเทคโนโลยีและข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะส่งผ่านเอกสาร DVD Cloud หรือการฝึกอบรม ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับสินค้าควบคุมภายใต้ พ.ร.บ.นี้ ก็ต้องถูกควบคุมหมด ปัญหาคือ กรมจะควบคุมสิ่งเหล่านี้อย่างไร ในเรื่องของการจำแนกสินค้า แม้กรมจะมีระบบ e-TCWMD ให้ความช่วยเหลือในการจำแนกแล้ว แต่ระบบก็จำแนกสินค้าจากข้อมูลที่ผู้ประกอบการเป็นคนป้อน ดังนั้น หากป้อนข้อมูลผิดหรือตอบคำถามทางเทคนิคไม่ถูกต้อง ก็อาจส่งผลให้ระบบจำแนกสินค้าออกมาผิดได้ โดยเฉพาะ HS Code ของสินค้าส่งออก ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีภาระภาษี ทำให้ผู้ส่งออกอาจไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก แต่เมื่อพ.ร.บ. TCWMD เริ่มใช้บังคับ HS Code ที่สำแดงจะต้องถูกต้อง ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องให้ความสำคัญกับการกรอกข้อมูลจำแนกสินค้าให้มาก รวมถึงเริ่มเตรียมความพร้อมก่อนกฎหมายจะบังคับใช้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต การควบคุมสินค้าที่จับต้องได้ และจับต้องไม่ได้ตามพ.ร.บ. นี้ที่ไม่ดีพอ รวมถึงการจำแนกสินค้าผิดอาจนำไปสู่โทษอาญาสูงสุดถึง จำคุกไม่เกิน 30 ปี หรือปรับไม่เกิน 30 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งยังอาจต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย และอาจถูกแบนไม่ให้ส่งออกสินค้าอีกด้วย