ทำไมรัฐควรให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กถึง 6 ขวบทุกคนอย่างถ้วนหน้า

ทำไมรัฐควรให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กถึง 6 ขวบทุกคนอย่างถ้วนหน้า

การให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กแก่พ่อแม่เป็นรายเดือน และการส่งเสริมพัฒนาเด็กเล็กในด้านต่างๆ เป็นการลงทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่คุ้มค่ามาก เพราะ

เด็กเล็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ถึงวัย 7 ขวบ เป็นช่วงที่มีพัฒนาการทางสมองและอื่นๆ มากที่สุด เป็นการสร้างรากฐานพลเมืองที่มีคุณภาพ และจะมีผลช่วยป้องกัน/ลดปัญหาทางสังคมอื่นๆ ของวัยรุ่นและผู้ใหญ่ในภายหลังได้มาก

หลังจากการผลักดันของภาคประชาสังคม รัฐบาลเพิ่งเริ่มทดลองจ่ายเงินอุดหนุนให้กับเด็กยากจนอายุแรกเกิดถึง 1 ปี คนละ 400 บาท/เดือน ในปี 2558 ปัจจุบันได้ขยายวงเงินเป็น 600 บาท/เดือน สำหรับเด็กเล็กแรกเกิดถึง 3 ปี แต่ยังจำกัดเฉพาะครอบครัวยากจนที่คนในครอบครัวมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวไม่เกิน 3,000 บาท ต้องมีหลักฐาน มีผู้รับรอง และผ่านการอนุมัติการขอลงทะเบียน ทำให้มีการตกหล่น คนที่จนและค่อนข้างจนที่ควรได้แต่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนนี้มีจำนวนมาก

การวิจัยเบื้องต้นของทีดีอาร์ไอร่วมกับยูนิเซฟพบว่า ในหมู่ครอบครัวที่ได้รับเงินส่วนนี้ มีการดูแลเด็กและการดูแลเรื่องสุขภาพทั้งแม่และเด็กดีขึ้น ทั้งๆ ที่เป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่สำหรับคนจน เช่น แม่วัยรุ่นที่ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ทางอื่น การมีรายได้ประจำแค่เดือนละ 600 บาทนี้ช่วยพวกเธอได้มากพอสมควร

ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ การจำกัดเฉพาะคนจนที่มีเงื่อนไขในการลงทะเบียนมาก ทำให้มีแม่และเด็กเล็กที่ตกหล่นไม่ได้รับเงินส่วนนี้ด้วยเป็นสัดส่วนที่สูง การประเมินเบื้องต้นอยู่ราว 20% แต่จากการที่ผมไปฟังสัมมนาเรื่องนี้กับภาคประชาสังคมหลายเครือข่ายที่จัดโดยวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับยูนิเซฟ เชื่อว่ามีการตกหล่นหรือไม่ครอบคลุมคนรายได้น้อยที่ควรจะได้รับสิทธินี้เป็นสัดส่วนสูงกว่า 20% มาก เช่น คนงานในระบบประกันสังคมที่มีรายได้ไม่มากนัก แต่ก็สูงกว่าเกณฑ์ที่รัฐตั้งไว้ 

ทำให้สังคมไทยเสียโอกาสในการช่วยพัฒนาเด็กเล็กไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งๆ ที่ใช้เงินแจกเด็กทุกคนก็จะเป็นยอดเงินไม่มากนัก ปัจจุบันอัตราการเกิดของเด็กก็ลดลง อยู่ราวปีละ 6-7 แสนคนเท่านั้น

ปัญหามาจากการที่รัฐบาลชอบมีวิธีคิดว่าควรจะให้เงิดอุดหนุนเฉพาะคนจน เพราะถ้าให้ทุกคนงบประมาณจะไม่พอ และไม่มีเหตุผลที่จะให้คนรวย ซึ่งเขามีรายได้มากพอที่จะดูแลลูกตนเองได้อยู่แล้ว แต่การกำหนดว่าใครจนของรัฐบาลใช้เกณฑ์ที่ต่ำมาก และเคร่งครัดในเรื่องรายได้เฉลี่ย การหาหลักฐานยืนยันเรื่องรายได้ การรับรอง การลงทะเบียนมาก ทำให้กีดกันคนที่คนข้างจนที่ควรได้รับสิทธิส่วนนี้ออกไปจำนวนมาก

ผมเห็นด้วยกับมติของที่ประชุมสัมมนาเครือข่ายประชาสังคมที่พยายามรณรงค์เสนอให้รัฐบาลให้เงินอุดหนุนแก่เด็กเล็กทุกคนจนถึงวัย 6 ปี แบบถ้วนหน้า คือให้ทุกคนโดยไม่ต้องจำกัดเงื่อนไขเรื่องรายได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องยุ่งยากซับซ้อน ไม่ต้องมีการตกหล่น การให้คนรวยหรือคนชั้นกลางด้วย (ซึ่งเป็นคนส่วนน้อย) ถือว่าเป็นคืนภาษีให้ประชาชน เป็นเรื่องสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับ ไม่ใช่จำเป็นต้องถือว่าเป็นการสังคมสงเคราะห์ และเพื่อช่วยให้ประชาชนทุกคนไม่ว่าจะฐานะอย่างไร ตระหนักว่ารัฐถือการพัฒนาเด็กเล็กเป็นเรื่องสำคัญ

การให้เงินส่วนนี้รวมทั้งคนชั้นกลาง คนรวยด้วย ไม่ได้ใช้เงินเพิ่มขึ้นมากมายอะไร นักเศรษฐศาสตร์จากทีดีอาร์ไอ ลองคำนวนตัวเลขเผื่อไปถึง 20 ปีข้างหน้า พบว่า ถ้าจะให้เด็กทุกคนอายุ 0-6 ขวบ คนละ 600 บาท/เดือน จะใช้งบประมาณตอนแรกราว .20% (จุดสองเปอร์เซ็นต์) ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของประเทศเท่านั้น และสัดส่วนนี้จะค่อยลดลงในปีหลังด้วย เพราะอัตราการเกิดมีแนวโน้มลดลง เทียบกับการที่จะจ่ายเงินเบี้ยยังชีพคนสูงอายุแล้ว ใช้งบต่ำเท่าตัว ที่รัฐบาลชอบคิดและอ้างว่ากลัวจะเป็นภาระงบประมาณเพิ่มขึ้นในปีต่อๆ ไปก็ไม่จริง เพราะเด็กมีแนวโน้มจะเกิดลดลง

เรื่องนี้รัฐบาลชอบอ้างว่ากลัวไม่มีงบประมาณพอนั้น ต้องปฏิรูประบบภาษีและการจัดสรรงบประมาณใหม่ ปัจจุบันไทยเก็บภาษีและมีงบประมาณภาครัฐราว 17% ของ GDP เท่านั้น ขณะที่ประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมเก็บภาษีได้ 40-50% ของ GDP ประเทศอย่างสวีเดนจึงให้บริการ การคุ้มครองทางสังคมแบบมีคุณภาพและครอบคลุมมาก 

ถ้าไทยเพิ่มการเก็บภาษีทรัพย์สิน เช่น ที่ดิน อาคารพาณิชย์ และรายได้จากทรัพย์สิน พวกค่าเช่า ดอกเบี้ย กำไร/เงินปันผลจากหุ้น การขายทรัพย์สิน การได้มรดก ได้ทรัพย์สินมาโดยเสน่ห์หา หรือได้จากลาภลอย เช่น ถูกลอตเตอร์รี่รางวัลใหญ่ ฯลฯ ในอัตราที่ก้าวหน้า คือยิ่งมีรายได้สูง ยิ่งเสียภาษีสูง รัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกมาก 

เพราะขณะนี้ไทยเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สินต่ำมาก เป็นสัดส่วนเพียง 1.25% แต่พึ่งภาษีจากการบริโภค 57% ภาษีจากรายได้ 43% ภาษีจาการบริโภค เช่น ภาษีมุลค่าเพิ่มนั้น เป็นภาษีถดถอย คนจนต้องเสียภาษีคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ของพวกเขาสูงกว่าคนรวย

ถ้าปฏิรูประบบภาษีและการจัดสรรงบประมาณ รัฐบาลจะมีรายได้มากพอที่จะเพิ่มเงินให้เด็กเล็ก คนสูงอายุ และจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ/ความยากจน และปัญหาอื่นๆ เช่น การผูกขาด การเก็งกำไรที่ดิน ทรัพย์สินต่างๆ ได้ดีขึ้น การจ่ายคืนภาษีให้ประชาชนทั้งเด็กเล็ก คนสูงอายุ คนพิการ ฯลฯ โดยตรง จะช่วยให้ประชาชนแก้ไขปัญหาของพวกเขาเองได้ดีขึ้น 

การให้เงินอุดหนุน หรือคืนภาษีให้ประชาชน ควรจะทำมากกว่านี้ด้วย วิธีการโอนเงินเข้าบัญชีประชาชนโดยตรง เป็นวิธีการแก้ปัญหาความเหลือมล้ำ/ความยากจนที่ดีกว่าโครงการต่างๆ ที่จ่ายผ่านหน่วยงานภาครัฐที่เป็นระบบที่สิ้นเปลืองงบมากกว่า รั่วไหลง่ายกว่า และมีประสิทธิภาพต่ำกว่า