แก้ “ปัญหาสังคม” เรื่องที่ (ยัง) ต้องพึ่งรัฐ

แก้ “ปัญหาสังคม” เรื่องที่ (ยัง) ต้องพึ่งรัฐ

สวัสดีค่ะ ฉบับนี้ดิฉันมีรายงานฉบับหนึ่งที่น่าสนใจและขอสรุปความมาให้ทุกท่านค่ะ นั่นคือรายงานเรื่อง “มุมมอง : กิจการเพื่อสังคมไม่ใช่การเปลี่ยน

โดย มาร์แชลล์ แกนซ์, ทามารา เคย์ และเจสัน สไปเซอร์ ที่เผยแพร่ใน Stanford Special Innovation Review ของมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดเมื่อไม่นานนี้ค่ะ

รายงานดังกล่าว ระบุว่า การแก้ไขปัญหาสังคมในเชิงลึกหรือโครงสร้างนั้นยังเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยคน อาศัยการเมือง และอำนาจรัฐ ไม่ใช่พึ่งพาหรือเพิ่มจำนวน กิจการเพื่อสังคม” (Social EnterpriseหรือSE) ให้มากขึ้นค่ะ

แม้กิจการเพื่อสังคม หรือ SE จะเป็นโมเดลธุรกิจที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาให้สังคม อย่างไรก็ตามกิจการเพื่อสังคมไม่ได้มีบทบาทในการแก้ปัญหาใน “เชิงระบบ” ของปัญหาสังคมที่กิจการนั้นๆ มุ่งเน้นแก้ไขมากนัก และบางปัญหาสังคมกลับยิ่งดูรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยซ้ำ ยิ่งไปกว่านั้นในหลายประเทศ กิจการเพื่อสังคมยังอาจทำให้หน่วยงานราชการ ภาคประชาชน ภาคการเมือง และภาครัฐบาลนั้นบรรลุเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ลำบากขึ้น

ทำไมน่ะหรือคะ ก็เพราะว่ากิจการเพื่อสังคมเหล่านี้เป็นเหมือนอีกทางเลือกหนึ่งของสังคมที่ริเริ่มโดยภาคเอกชน และเป็นแนวคิดเสรีนิยมแบบใหม่ (Neoliberal) ที่มีความเชื่อว่าภาคเอกชนนั้นสร้างผลลัพธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจได้ดีที่สุด ไม่ใช่ภาครัฐ โดยSEนั้น มองว่าปัญหาสังคมนั้นเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับ “องค์ความรู้” และสามารถแก้ไขได้ด้วยนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่ต้องมีการแข่งขันกันระหว่างภาคธุรกิจหรือกิจการเพื่อสังคมด้วยกันเอง ด้วยการดำเนินการทั้งในรูแปแบบแสวงกำไรและไม่แสวงกำไร หรือทั้งสองอย่าง

ในทางกลับกัน ภาครัฐหรือภาคการเมืองนั้นมองว่าที่จริงแล้วปัญหาทางสังคมนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ “อำนาจ” โดยการจะแก้ปัญหาสังคมนั้นต้องอาศัยอำนาจทางการเมืองการปกครองและกระทำโดยหน่วยงานทางการเมืองที่มีอำนาจในการบริหารบ้านเมือง เพื่อสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในระดับโครงสร้าง

ตัวอย่างของวิธีดังกล่าวที่สำเร็จ ได้แก่การแก้ปัญหาโดยภาครัฐบาลในด้านต่างๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา การปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร การกำหนดสิทธิแรงงาน สิทธิพลเมือง สิทธิสตรี และการป้องกันสิ่งแวดล้อม ในหลายๆ ประเทศ เป็นต้น

ซึ่งจะว่าไปวิธีการทั้งสอง (กิจการเพื่อสังคม และนโยบายรัฐ) นั้นไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ เนื่องจากลักษณะสำคัญของวิธีการที่กิจการเพื่อสังคมใช้นั้น มักจะมุ่งเน้นไปที่ความเป็น “ฮี่โร่” ของตัวบุคคลหรือตัวกิจการเองว่าเป็นกุญแจสำคัญสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และทำตัวเป็นChange agentที่สำคัญของสังคม เช่นมองหาโอกาสที่คนอื่นอาจมองข้ามเพื่อเอามาปรับปรุงสังคมให้ดีขึ้น นอกจากนี้เหล่าSEเองมักมองว่าการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมที่ดีที่สุดนั้นต้องอาศัยรูปแบบของบริษัทหรือกิจการ เนื่องจากมีความยืดหยุ่น มีประสิทธิภาพในการให้บริการ และเป็นตัวเลือกใหม่ๆ ให้แก่ผู้บริโภค โดยกิจการเพื่อสังคมนั้นไม่ได้แข่งขันเพื่อ “ลูกค้า” แต่แข่งขันให้มี “ผู้บริจาค” ที่เป็นนักลงทุนหรือผู้สนับสนุนจากภาคธุรกิจ ที่มีพันธะสัญญาว่ากิจการดังกล่าวจะสร้างคุณประโยชน์ให้แก่End usersหรือผู้ได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ รายงานฉบับดังกล่าวไม่ได้หมายความว่ากิจการเพื่อสังคมจะสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไม่ได้เลย แต่หมายความว่ากำลังความสามารถของกิจการเพื่อสังคมในการรับมือกับปัญหาใหญ่ๆ ในสังคมนั้นอาจไม่เพียงพอโดยที่ผ่านมาโมเดลของSEได้เปลี่ยนรูปแบบของภาครัฐให้มาเป็นรูปแบบของภาคเอกชนมากขึ้น ทั้งแบบแสวงและไม่แสวงกำไร โดยแยกออกจากระบบการปกครองที่กำกับโดยการอาศัลกลไกตลาด ซึ่งทำให้เมื่อต้องแก้ปัญหาสังคมปัญหาใหญ่ๆ อย่างปัญหาเศรษฐกิจ เชื้อชาติ เพศ ความไม่เท่าเทียม การแพทย์ การศึกษา หรือกระบวนการยุติธรรม การใช้โมเดลของกิจการเพื่อสังคมจึงไม่ค่อยได้ผล

ในระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย การสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคมนั้นจำเป็นต้องมีการร่วมมือกันอย่างยั่งยืนระหว่างภาครัฐ และภาคประชาสังคม โดยกิจการเพื่อสังคมอาจเป็นรูปแบบหนึ่งของประชาสังคมที่สามารถใช้คู่ขนานกันไป แต่ทั้งนี้ต้องพึงระวังว่าการให้ผู้ด้อยโอกาสในสังคมนั้นเป็นเสมือนลูกค้าแทนที่จะเป็นพลเมืองคนหนึ่ง อาจทำให้พวกเขาไม่เข้ามามีส่วนร่วมหรือตัดสินใจทางการเมือง ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงและความเท่าเทียมที่ทุกคนในสังคมควรได้รับ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคนในสังคมนั้นใช้สิทธิใช้เสียงที่ตนเองมี และไม่ออกไปจากระบบการเมืองการปกครองของภาครัฐ

การแก้ปัญหาสังคมได้อย่างแท้จริงนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีภาครัฐเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยมีกิจการเพื่อสังคมจากภาคเอกชนเป็นฟันเฟืองในการสร้าง เครือข่ายหรือนำ องค์ความรู้มาร่วมสนับสนุนนั่นเองค่ะ