แหวน นาฬิกา และตู้กรองน้ำฯ

แหวน นาฬิกา  และตู้กรองน้ำฯ

คำชี้แจงของ “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” ว่าด้วย “แหวนพ่อ นาฬิกาเพื่อน” ไม่ได้ตอบโจทย์สังคมที่ตั้งคำถามกับเรื่องนี้มานานถึง 4 เดือนเต็ม

แม้คำชี้แจงจะเป็นความจริงในมุมของ "พี่ใหญ่" แต่หากพิจารณาในแง่ "ข้อจำกัดทางกฎหมาย" ก็คาดเดาได้ไม่ยากว่า อย่างไรเสีย "พี่ใหญ่" ก็ต้องชี้แจงออกมาแนวนี้

เพราะหากพิจารณาย้อนหลังกลับไปตลอด 10 ปี "พี่ใหญ่" นั่งเก้าอี้รัฐมนตรี 2 ครั้ง แจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.มาแล้ว 4 รอบ เฉลี่ยปีเว้น 2 ปี

ภาพ "นาฬิกาหรู" กว่า 20 เรือนที่สวมใส่ เกือบทั้งหมดก็ปรากฏขณะปฏิบัติภารกิจในฐานะรัฐมนตรี ฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะชี้แจงว่าบางเรือนเป็นของตัวเอง เพราะในบัญชีทรัพย์สินที่แจ้ง 4 ครั้ง ไม่เคยรายงานว่าครอบครองนาฬิกาหรูเลยแม้แต่เรือนเดียว

ขณะที่การตรวจสอบทางกฎหมาย บทบาทของ ป.ป.ช. ก็ทำงานเหมือน "ขอไปที" จนป่านนี้ยังไม่รู้ว่าตัวทรัพย์ คือ นาฬิกานั้นอยู่ที่ไหน ซีเรียลนัมเบอร์อะไร ใครสั่งซื้อและนำเข้ามา จึงหวังยากว่าจะมีข้อเท็จจริงอื่นใดเอาผิด "พี่ใหญ่" ได้

แต่ในทางการเมือง แม้กฎหมายจะเอื้อมไม่ถึง ก็อาจต้องรับผิดชอบในแง่ "สปิริต" ถ้าเจ้าตัวไม่ทำ แรงกดดันก็จะไปตกที่ "หัวหน้ารัฐบาล" ว่าจะเลือก "อุ้ม" คนถูกตั้งคำถาม หรือจะเลือกรักษา "ศรัทธาประชาชน"

กรณีนี้ไม่ต่างอะไรกับ "ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน" ของ ศอ.บต.ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนลุกลามจากชายแดนภาคใต้ขึ้นมาถึงกรุงเทพฯ เพราะแม้จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาแล้ว แต่ดูรายชื่อกรรมการล้วนเป็นคนใน ศอ.บต. แต่ประเด็นสำคัญที่ต้องสอบคือ ความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณ และการจัดซื้อจัดจ้างด้วย "วิธีพิเศษ"

ว่ากันว่างานนี้ ผู้ที่ลงนามอนุมัติให้จัดซื้อจริงๆ เป็น "รัฐมนตรีใหญ่" ในทำเนียบรัฐบาล แล้วคณะกรรมการสอบสวนฯที่มีประธานเป็นแค่ "ผู้ช่วยเลขาฯศอ.บต." จะกล้าสอบลึกเอาผิดรัฐมนตรีหรือ

ปีที่แล้วก็มีการสั่งสอบ 4 โครงการยักษ์ของ ศอ.บต.โดย "รัฐมนตรีใหญ่" ผลสอบออกมาก็พบความผิดปกติ ไม่โปร่งใส แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรในกอไผ่ จบๆ กันไป ไม่มีใครต้องรับผิดชอบ!