รับดีไหม

รับดีไหม

“พี่ครับ หากผมได้งานนี้ ผมขอมาทำงานสัก 11 โมงเช้าได้ไหมครับ พอดีตอนนี้กำลังสร้างเรือนหอครับ เลยนัดผู้รับเหมาก่อสร้างทุกเช้าตอน 9 โมงเช้า…”

“…แต่ผมไม่มีปัญหาเรื่องส่งงานนะครับ จะให้ส่งงานเที่ยงคืน ตีหนึ่ง ผมก็ทำได้ ปกติช่วงบ่าย ๆ ผมอาจมีออกไปจิบกาแฟกับเพื่อน ๆ นิดหน่อยเพื่อหาอินโนเวชั่น เดี๋ยวผมจะกลับมาทำงานต่อได้จนดึก”

จบ 2 ประโยคหลังนี้ ทำเอาดิฉันนั่งนิ่งไปพักใหญ่ เพราะนี่คือการสัมภาษณ์งานตำแหน่งผู้จัดการแผนกขึ้นทะเบียนเอกสาร ดูแลภูมิภาคอินโดจีน กับการสัมภาษณ์งานรอบตัดสิน คุณป้อคือแคนดิเดทตัวเต็งที่ดิฉันแอบลุ้นตั้งแต่รอบแรกและอยากได้มาร่วมงานด้วย เขาคือชายหนุ่มไฟแรงอายุ เพียง 30 ต้น ๆ จบปริญญาโทจากต่างประเทศ และผ่านการทำงานกับบริษัทข้ามชาติใหญ่ ๆ มาแล้ว อุปนิสัยเป็นคนเข้ากับคนง่าย และมีความละเอียดรู้จริงในอุตสาหกรรม 

ยิ่งกว่านั้น ตำแหน่งนี้ถือเป็นตำแหน่งที่หาแคนดิเดทยากแสนยาก ติดอันดับ 1 ใน 5 ของอุตสาหกรรมเลยทีเดียว เมื่อถามเพื่อนร่วมงานที่เคยมีโอกาสทำงานร่วมกับคุณป้อ ต่างก็ชื่นชมในความสามารถของเขา

…รับไหมคะพี่? น้องแผนก HR ถามดิฉันด้วยความหวังจะปิดจ๊อบนี้ได้ หลังจากคุณป้อเดินออกไปจากห้องสัมภาษณ์งาน

เมื่อ 2 ปีที่แล้วดิฉันได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาเพื่อผ่านการรับรองให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเจนเนอเรชั่น จากสถาบัน Bridgework ของสหรัฐ แท้จริงแล้วเรื่องเจนเนอเรชั่น ได้รับความสนใจและศึกษาอย่างลงลึกในสหรัฐมากว่า 18 ปี และเป็นหัวข้อที่ผู้บริหารองค์กรยิ่งต้องทวีความสนใจ เมื่อสถาบันหลากหลายแห่งของโลกออกมาประกาศว่า เจนเนอเรชั่น เป็นหนึ่งในแนวโน้มสำคัญที่มีผลกระทบต่อธุรกิจในโลกอนาคต

จะเป็นเช่นไรเมื่อ

75% ... ของแรงงานโลกในอีก 10 ปีจะเป็นคนเจนเนอเรชั่นใหม่

80% ...ของแรงงานโลกเชื่อว่าการมาทำงานที่ออฟฟิศไม่ใช่เรื่องสำคัญ

83% ... ของเจนเนอเรชั่นใหม่เข้าสู่ตำแหน่งบริหารมาตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว

66% ...ของเจนเนอเรชั่นใหม่คาดว่าตัวเองจะอยู่กับองค์กรไม่เกิน 5 ปี

65% ... ของเจนเนอเรชั่นเบบี้บูมยังคงต้องทำงานหลังอายุ 65 หรือไม่มีแผนเกษียณ

50% ...ของเจนเนอเรชั่นเอ็กซ์ มีแผนหยุดทำงานชั่วคราวก่อนวัยเกษียณ

90% ...ของเจนเนอเรชั่นซี อยากเห็นผู้นำหญิงในองค์กรมากขึ้น

แน่นอนที่สุด พี่ ๆ เบบี้บูมจะยังไม่เกษียณและน้อง ๆ เจนเนอเรชั่นซีกำลังไหลเข้าสู่องค์กร และนี่ถือเป็นประวัติศาสตร์โลกที่องค์กรหนึ่งจะมีคน 5 เจนเนอเรชั่นพร้อมกันอยู่ในองค์กร เช่นเดียวกับองค์กรเอง นี่คือโอกาสสร้างความได้เปรียบและความแตกต่างทางธุรกิจ ผ่านการใช้จุดแข็งของคนทั้ง 5 เจนเนอเรชั่น เพียงยึดหลัก A.B.C. ในการสร้างองค์กรที่มีการประสานความหลากหลายทางเจนเนอเรชั่น (Multi-Generational Workplace)

ยอมรับในความต่าง (Acknowledge differences) วิวัฒนาการด้านสังคม การเมือง วัฒนธรรม เทคโนโลยี ล้วนแล้วแต่มีผลต่อพฤติกรรมที่แตกต่างของคนแต่ละเจนเนอเรชั่น หากท่านเกิดในยุคที่ต้องฟังเพลงโดยใช้ตลับเทปคาสเซ็ท ท่านจะถูกสอนให้อดทนรออะไรนาน ๆ ได้ เพราะเมื่อต้องการฟังเพลงหาดทรายสายลมสองเราของพี่เบิร์ด ธงชัย ท่านต้อง “กรอเทป” และกะเอาเองว่าจะถึงเพลงนี้แล้วหรือยัง หากกรอพลาดก็ต้องลองกรอกลับไปกลับมาสักพัก

ในทางกลับกัน สมัยนี้หากท่านต้องการฟังเพลงคุกกี้เสี่ยงทาย แค่คลิ้กชื่อเพลงก็ได้ฟังสมใจหวัง สิ่งเหล่านี้เกิดจากความเจริญของเทคโนโลยี ที่เรากลับไปเปลี่ยนวิวัฒนาการของโลกไม่ได้ ขอเพียงผู้นำเข้าใจ นำมาปรับทัศนคติของตนเอง เรียนรู้ที่จะปล่อยวางแทนการคิดไปเปลี่ยนพฤติกรรมคนรุ่นอื่น

ต่อยอดจากความเหมือน (Build on similarities) ในทุก ๆ ความต่าง ย่อมมีความเหมือน และความเหมือนนี่เอง ที่ทำให้มนุษย์หรือสัตว์รู้สึกผูกพัน เพราะเราคือพวกเดียวกัน จากการศึกษาพบว่า สิ่งที่ทุกเจนเนอเรชั่นให้ความสำคัญไม่ต่างกัน คือ การทำงานอย่างมีความสุข ยุติธรรม ร่วมมือร่วมใจ ได้ทำงานในที่ ๆ มีโอกาสเติบโต และรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า หากสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ไม่ว่าจะเจนเนอเรชั่นไหนก็ต้องการ ก็ถึงเวลาที่องค์กรจะสร้างองค์กรแห่งอนาคต โดยยึดหลักการให้คุณค่าเหล่านี้แก่คนทุกรุ่นทุกวัย แทนการสร้างนโยบายเพื่อสนับสนุนเจนเนอเรชั่นใดเจนเนอเรชั่นหนึ่งเท่านั้น 

ประสานสัมพันธ์ของคนทุกเจนเนอเรชั่นผ่านระบบเมนเทอร์ (Create cross generational collaboration through Mentoring) ภาษาไทยมักใช้คำว่า “พี่เลี้ยง” แทนเมนเทอร์ ซึ่งถือเป็นการนำผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่ามาช่วยแชร์ประสบการณ์ ช่วยนำพาให้ผู้ที่มีประสบการณ์น้อยกว่าประสบผลสำเร็จในงานที่ได้รับมอบหมายไว้ ดังนั้น เมนเทอร์จึงมักจะเป็นคนที่มีอายุมากกว่าโดยปริยาย 

แต่ในทางกลับกัน การศึกษาด้านเจนเนอเรชั่น ให้ความสำคัญกับคนทุกรุ่นทุกวัยในบทบาทเมนเทอร์ เช่น คนรุ่นใหม่ต้องเป็นเมนเทอร์ให้พี่ ๆ ในเรื่องเทคโนโลยีใหม่ ๆ ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่องค์กรจะมีทั้ง พี่เลี้ยง และ “น้องเลี้ยง” และเร่งสร้างทักษะการเป็นเมนเทอร์ให้คนทุกเจนเนอเรชั่น เพื่อสร้างสัมพันธ์และดึงจุดแข็งของคนทุกเจนเนอเรชั่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร

 …ตกลงจะรับไหมคะพี่?? น้องแผนก HR ถามดิฉันเป็นรอบที่ 2

หากท่านเป็นดิฉัน ท่านจะรับคุณป้อเข้าเป็นพนักงานบริษัทหรือไม่คะ