ความต้องการของตลาดแรงงาน ไม่ใช่ความต้องการของประเทศ

ความต้องการของตลาดแรงงาน ไม่ใช่ความต้องการของประเทศ

ข่าวบัณฑิตตกงาน จบมาแล้วต้องเตะฝุ่น หรือไม่ก็ไปแย่งงานทำกับคนที่มีวุฒิต่ำกว่า สะท้อนให้เห็นว่าบัณฑิตส่วนหนึ่งไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน

อาจเป็นเพราะสาขาที่เรียนมา หรืออาจเป็นเพราะคุณสมบัติและบุคลิกภาพเฉพาะตัวที่ไม่เข้าตานายจ้าง ภาวะปริญญาล้นตลาดนี่เองทำให้มีการพูดถึงการผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน จนนำไปสู่การปิดบางคณะที่ “ตลาดแรงงาน” ไม่ต้องการ ที่น่าตลกคือ การหลับหูหลับตาผลิตคนตามความต้องการของตลาดแรงงาน อาจจะพาประเทศลงเหวเร็วได้พอๆ กับการผลิตคนไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ดีไม่ดี ตลาดแรงงานนั่นแหละที่จะพาประเทศลงเหวเสียเอง

หากมองย้อนไปในอดีต แต่ละช่วงเวลา ความต้องการแรงงานมีความแตกต่างกัน ยุคหนึ่งที่ต่างชาติมาลงทุนในบ้านเราเพราะผู้หญิงไทยนิ้วเล็ก สามารถหยิบจับชิ้นส่วนต่างๆ ได้ดี แต่พอมีแขนกลความแม่นยำสูงเข้ามาทำงานแทน นิ้วเล็กของหญิงไทยก็ไร้ค่า ความต้องการของตลาดแรงงานถูกทำลายโดยเทคโนโลยี

รถยนต์ที่เราขับกันอยู่ในปัจจุบันมีชิ้นส่วนประมาณ 30,000 ชิ้น แต่รถยนต์ไฟฟ้าในยุคหน้าจะใช้ชิ้นส่วนแค่หลักพันชิ้น เมื่อชิ้นส่วนลดลงและเทคโนโลยีในการผลิตดีขึ้น ถ้าวันนี้เราผลิตคนสายอาชีวะจำนวนมากเพื่อป้อนอุตสาหกรรมรถยนต์ปัจจุบัน พอเทคโนโลยีทำลายความต้องการของตลาดแรงงาน แล้วพวกเขาจะไปทำอะไรต่อ?

เห็นตัวอย่างกันพอหอมปากหอมคอแล้ว คราวนี้เราลองมาแกะหลักคิดการผลิตคนตามความต้องการของตลาดแรงงานดูว่ามีความไม่ราบรื่นอะไรซ่อนอยู่บ้าง

ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ช่วงนั้นความต้องการในปัจจุบันกับความต้องการในอนาคตจึงเป็นเรื่องเดียวกัน ประเด็นก็คือ ตอนนี้เป็นช่วงรอยต่อของการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของโลก ขนาดกูรูระดับโลกยังไม่มีใครกล้าฟันธงว่า สุดท้ายแล้วโลกยุค 4.0 ไทยแลนด์ 4.0 จะหน้าตาเป็นยังไง จะมีอาชีพไหนเกิดขึ้นมาบ้าง ถ้ายังมองหน้าตาของโลกใหม่ไม่ออก แล้วเราจะมองหน้าตาของตลาดแรงงานยุคใหม่ออกได้ยังไง

การอยู่รอดในยุคที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ไม่ได้ขึ้นอยู่การคาดการณ์ที่แม่นยำ แต่ขึ้นอยู่กับความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว (Resilience) ถ้าเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตลาดแรงงาน เราจะกล้าฟันธงได้อย่างไรว่าศาสตร์ไหนสำคัญ ศาสตร์ไหนไม่สำคัญ

แม้จะมีคนเชื่อว่ายุคต่อไปเป็นยุคของเทคโนโลยี ดังนั้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงเป็นสาขาสำคัญ ควรส่งเสริมให้คนเรียนเยอะๆ ส่วนวิชาสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ รัฐศาสตร์ จะลดความสำคัญลง จึงไม่ควรสนับสนุนให้คนเรียน แต่การมองแบบนี้อาจจะไม่ถูกเสียทั้งหมด

เมื่อเทคโนโลยีทำหลายอย่างแทนเราได้ เราจะแสวงหาสิ่งที่ตอบสนองความต้องการเบื้องลึกของจิตใจมากขึ้น นั่นหมายความว่า ศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์จะมีความสำคัญมากไม่แพ้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ความต้องการของตลาดแรงงาน ไม่ใช่ความต้องการของประเทศ

ประวัติศาสตร์ช่วยให้เราค้นหารากเหง้าของตัวเอง ภาษาศาสตร์ทำให้เราได้อ่านนิยายดีที่แปลด้วยภาษาสละสลวย ซึ่งวุ้นแปลภาษาทำไม่ได้ ศิลปกรรมศาสตร์ทำให้เรามีภาพการ์ตูนน่ารักไว้ส่งไลน์ให้เพื่อน รัฐศาสตร์ทำให้เรารู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ช่วยจัดการความขัดแย้งในชุมชน และใช้ประกอบการตัดสินใจตอนเลือกตั้ง (นอกจากจะได้นายกเป็นหุ่นยนต์ ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น นายกหุ่นยนต์ไม่น่าจะมาจากการเลือกตั้ง)

จากการที่เราก้าวเข้ามาในยุค 4.0 บ้างแล้ว เราจะเห็นว่าโลกใบใหม่ใบนี้ ไม่ใช่โลกสุดโต่งที่มีแต่เทคโนโลยี แต่เป็นโลกของการแสวงหาความสมดุลระหว่างเทคโนโลยีและความเป็นมนุษย์ การผลิตคนจึงไม่ใช่ผลิตเพื่อตอบสนองต่อโลกของงานเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการผลิตคนเพื่อให้สามารถแสวงหาความสมดุลระหว่างเทคโนโลยีและความเป็นมนุษย์ เพราะคนที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้จะประสบความสำเร็จในยุค 4.0 เขาจะเป็นแม่ค้าที่เก่ง เป็นครูที่สุดยอด เป็นนักบริหารที่เต็มไปด้วยลูกล่อลูกชน เป็นศิลปินที่ใช้พลังเทคโนโลยีมาสร้างงานเพื่อจรรโลงใจพลเมืองโลก

สำหรับผู้บริหารสถานศึกษาในทุกระดับ สิ่งที่ควรทำตอนนี้ไม่ใช่การชี้นิ้วหาว่าคณะไหนต้องยุบ สาขาไหนต้องปิด วิชาไหนต้องเลิก แต่เป็นการตีโจทย์ 2 ข้อให้แตก

ข้อแรก คือ เมื่อทุกศาสตร์มีความสำคัญ เราจะสร้างองค์ความรู้ของแต่ละศาสตร์ให้ลุ่มลึกและเหมาะสมได้อย่างไร ข้อที่สอง คือ มีวิธีไหนบ้างที่จะดึงเอาจุดเด่นขององค์ความรู้ในแต่ละศาสตร์มาเสริมกัน เพื่อให้สามารถผลิตคนตรงตามความต้องการของยุค 4.0 ได้​

อย่าลืมว่า เหตุผลหลักที่เราต้องผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานก็เพื่อให้ทุกคนกินดีอยู่ดี เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของประเทศไม่ได้ขึ้นอยู่กับมิติทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว มิติทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรม ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ถึงเศรษฐกิจจะมั่นคง แต่ถ้ามิติที่เหลืออ่อนแอ ประเทศก็ไปไม่ถึงไหน หลักคิดเดียวกันนี้จะให้ข้อสรุปว่า ความต้องการของตลาดแรงงานก็ไม่ใช่ความต้องการทั้งหมดของประเทศด้วยเช่นกัน