มองย้อนหลังการปฏิวัติ 14 กรกฎา 1789 ที่กรุงปารีส

มองย้อนหลังการปฏิวัติ 14 กรกฎา 1789 ที่กรุงปารีส

เลือกตั้งมาหลายครั้งแต่ไม่มีครั้งไหนเลยที่รู้สึกเหมือนลอยคอ...ลอยคออยู่กลางทะเล อย่างในเพลงฝั่งหัวใจ ขับร้องโดยเสียงอมตะของ

บุษยา รังสี ( พ.ศ.2483-2553) โดยเฉพาะตั้งแต่วันเปิดจองชื่อพรรคการเมืองใหม่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา

ไหนต้องคอยประคองจิตไม่ให้ตกเพราะ เบื่อเรื่องการเมืองการปกครอง อีกทั้งก็ต้องไม่เคลิ้มไปกับวจีของว่าที่พรรคการเมืองทั้งหลาย ที่ดูมีราคาเกินจริงเพียงเพราะว่า เราเองกำลังผิดหวังคำหวานของใครต่อใครที่ว่าจะปฏิรูปโดยเฉพาะการคอร์รัปชัน

แต่ที่สุดก็เป็นเพียง...นทีแห่งความโง่เขลา ต้องลมรักลวงเจ็บทรวงนักเรา...ปล่อยให้เราต้อง "ฉันเหมือนลอยคอ ลอยคออยู่กลางทะเล โอ้อ้างว้างว้าเหว่ เพราะเป็นทะเลแห่งความผิดหวัง แหวกว่ายน้ำตากว่าสิ้นพลัง ตะเกียกตะกายหาฝั่งฝั่ง โถช่างว่างเปล่า ฉันหลงเริงใจ เริงใจอยู่ในวจี ป้อนคำรักล้นปรี่ เหมือนลงนทีแห่งความโง่เขลา ต้องลมรักลวงเจ็บทรวงนักเรา กระหน่ำโบยความช้ำเศร้าเศร้า เพราะเราผิดหวัง ดัง...เหมือนคนจะจมน้ำตาย ทุรนทุรายแหวกว่ายเข้าหาฝั่ง...

พรรคอนาคตใหม่ได้เปิดตัวไปอย่างมีสไตล์มีเรื่องเล่า (narrative) ชวนให้...หลงเริงใจเริงใจอยู่ในวจีแห่งเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ อุดมคติแห่งปฏิญญาสากลแห่งสิทธิมนุษยชน ที่เขียนขึ้นเมื่อ 227 ปีที่แล้ว หลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789 และยังคงความขลังส่งแรงบันดาลใจให้คนทั้งโลกถึงวันนี้

เวทีอนาคตใหม่ถูกจัดวางมาอย่างดีไม่มีใครใส่สูทชุดใหญ่เป็นนาย ทุกคนนั่งเสมอภาคกันโดยให้ผู้พิการหญิงอยู่กลางเป็นจุดสนใจสอดรับวจีหวานแห่งอนาคตอันเสมอภาคที่ปล่อยออกมาเป็นระยะๆ

จากนี้ด้วยยุทธศาสตร์หาเสียงเดียวกับที่ทำให้ม้ามืดวัย 39 ปี นายเอมมานูเอล มาครง ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสครั้งล่าสุด อย่างที่เพิ่งจะมาแกะรอยกันออกในภายหลังว่า ได้ผลมากๆ ก็คือเลือกสรรมุม ทั้งภาพ ทั้งวจี จากบนเวทีมากระหน่ำเสนอซ้ำในโซเชียลมีเดีย

จึงไม่ต้องแปลกใจ ที่ผู้นำคนรุ่นใหม่ของเราติดโผโพลเหมาะเป็นนายกรัฐมนตรีกับเขาด้วยทั้งที่เพิ่งเปิดตัว

เมื่อครบ 200 ปีการปฏิวัติฝรั่งเศส นักคิดร่วมสมัยได้ตั้งข้อสังเกตว่า การปฏิวัติฝรั่งเศสโดยเฉพาะการทำลายคุกบาสติญญ์ที่เกิดขึ้นและจบลงใน 1 วัน 14 ..1789 ที่ถือกันว่าเป็น วันปฏิวัติฝรั่งเศส และเป็นวันชาติของฝรั่งเศสมาจนถึงวันนี้ รวมทั้งการเล่าขานเขียนประวัติศาสตร์อลังการ ยกย่องให้วันล้มล้างคุกบาสติญญ์เป็นสัญลักษณ์แห่งการจลาจลของประชาชนและความเสมอภาคให้แก่คนทั่วโลกนั้น ทุกอย่างเป็นเพียง ‘สัญลักษณ์’ ที่ส่งความหมายให้เราได้บริโภคอย่างมีระบบระเบียบเป็นเหตุเป็นผล สร้างความขลังสูงส่งของอุดมการณ์

ในความเป็นจริงเหตุการณ์ 14 ก.ค.1789 เกิดขึ้นในสถานการณ์ชุลมุนที่ดำเนินต่อเนื่องกันไปช็อตต่อช็อต ไร้แผนจัดวางเป็นขั้นตอน หรือว่ามีเจตนารมณ์เรียงไว้เป็นข้อๆ ดังที่เราได้เห็นคำว่า เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ เขียนติดบนกำแพงอาคาร และในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

อีกทั้งมีเหตุปัจจัยหลายด้านทั้งสะสมกันมาและเพิ่งเกิดขึ้นตามสถานการณ์สดๆ ไม่ใช่เพราะเหตุอย่างเดียว

ที่แน่ๆ ก็คือ การชุมนุมของชาวเมืองปารีสที่เริ่มขึ้นไม่กี่วันก่อน 14 ก.ค.ต่อเนื่องกันนั้น หาได้เริ่มขึ้นภายใต้สโลแกนสวยหรู เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ หรือว่ามีการตั้งใจล้มล้างระบอบกษัตริย์ตั้งแต่แรกเริ่มอย่างใด แต่ก่อหวอดขึ้นเพราะอาหารขาดแคลน ขนมปังแพงมาก การเกษตรหายนะ เมล็ดพันธุ์ธัญญาหารหายาก ชาวนาชาวไร่รอบนอกเมืองปารีส จึงได้เข้ามาร่วมด้วย

การชุมนุมอยู่ที่ โอแตล เดอ วิลล์ กลางกรุงปารีส ห่างป้อมบาสติญญ์ 2 กม. เรียกร้องแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องภาษี

ในระหว่างนั้นดินดำที่แบ่งแจกในหมู่ผู้ชุมนุม ซึ่งมีจำนวนพันติดอาวุธปืนผาหน้าไม้ดาบเสียมจอบตามแต่จะหามาได้เกิดหมดลงกอรปกับมีข่าวรัฐบาลและกษัตริย์จะเคลื่อนพล ฝูงชนจึงพากันเฮโลไปที่ป้อมบาสติญญ์เพื่อไปเอาดินดำจากกองกำลังทหารเฝ้ายามที่นั่น

จริงอยู่ ที่ป้อมบาสติญญ์สร้างสมัยยุคกลาง มีข่าวร่ำลือและเขียนถึงว่าเป็นที่ซึ่งกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์จับกุมคุมขังคนที่เป็นภัยต่อระบบได้อย่างตามใจชอบ แต่ในวันนั้น 14 ก.ค.1789 ฝูงชนไม่ได้เคลื่อนตัวไปที่นั่นเพราะ “ความหมาย” นี้

ผลเป็นอย่างที่รู้กัน ป้อมบาสติญญ์แตกภายในเวลาสั้นๆ ด้วยเหตุกองกำลังรักษาคุกมีน้อยมาก ทางการไม่ส่งกำลังเพิ่มและมีแม่ทัพในหมู่กองกำลังรักษาพระนครเปลี่ยนใจมาเข้าข้างประชาชน

ที่สุดจะคาดคิดก็คือ พบว่าในคุกบาสติญญ์มีนักโทษเพียง 7 คนให้ “ปลดปล่อย” มีเข้าข่ายนักโทษทางความคิดเพียงคนเดียว ซึ่งก็เป็นขุนนาง และก็มีขุนนางอีกคนที่ครอบครัวมาขอให้จองจำไว้เป็นคดีทางเพศ นอกนั้นเป็นคดีปลอมแปลงเงินตรา ลักทรัพย์

แต่ฝูงชนบ้าคลั่งกันไปแล้วบุกทำลายไปทั่ว

ความชุลมุนมีมือมีดคนขายเนื้อ จัดการบั่นคอนายเดอ โลเน ผู้บังคับกองกำลัง ณ คุกบาสติญญ์ เอาหัวเสียบประจาน ทั้งที่แต่แรกดำริจะพาตัวเขาเป็นๆ ร่วมขบวนกลับไปโอแตล เดอ วิลล์ ด้วย

นับจากจุดนี้การตัดคอใครต่อใคร ในฝ่ายระบอบเดิม (Ancien Regime) เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เกิดยุคสยองขวัญทางการเมืองบั่นคอทำลายล้างกันอยู่เป็นนาน รวมทั้งการบั่นพระศอพระนางมารี อังตัวแนต ชายาคนโปรดของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ผู้ซึ่งต่อมาก็ถูกกิโยตีน

มีความรุนแรงอื่น ๆ อีกมากกว่าฝรั่งเศสจะสถาปนาระบอบสาธารณรัฐ (Republique) ขึ้นมาได้ 

ประสามนุษย์ขี้เหม็นที่มาคิดตามหลังเหตุการณ์มีคำถามเกิดขึ้นมากมายโดยเฉพาะเกี่ยวกับการนองเลือดและความรุนแรงอื่นนานัปการที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสตอนนั้น