นวัตกรรมและแนวคิดเปลี่ยนโลกที่น่าจับตามอง (ตอนสุดท้าย)

นวัตกรรมและแนวคิดเปลี่ยนโลกที่น่าจับตามอง (ตอนสุดท้าย)

นวัตกรรมและแนวคิดเปลี่ยนโลกที่น่าจับตามอง (ตอนสุดท้าย)

“เกี่ยวอะไรกับเรา?” ฉบับนี้เป็นตอนสุดท้ายในการแบ่งปันมุมมอง แนวคิดการดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่ๆ ที่อาจส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมอนาคตผ่านการต่อยอดทางธุรกิจในวงกว้าง

1. เพิ่มเวลานอนเพื่อผลผลิตทางเศรษฐกิจ

ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงนวัตกรรม อิเล็กทรอนิกส์ ที่รบกวนการนอนเช่นโทรศัพท์มือถือ ได้ส่งผลกระทบต่อ ประสิทธิภาพแรงงาน และสร้างความเสียหายต่อสุขภาพ อายุคาดเฉลี่ย (Life Expectancy) รวมถึงการเรียนรู้ของเยาวชนยุคปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของบริษัท Rand Corporation ที่พบว่า แรงงานสหรัฐที่นอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมง ทำให้ต้นทุนเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นปีละ 400,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2% ของ GDP โดยเป็นผลมาจากประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลงเมื่อเทียบกับคนนอนเฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง งานวิจัยนี้ยังพบว่าโรงเรียนที่เริ่มการสอนก่อน 8 โมงเช้าสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจในระยะยาว เพราะทำให้ นาฬิกาชีวภาพ (Circadian Rhythm) ของเด็กช่วงเข้าสู่วัยรุ่นเพี้ยนไป

ข้อมูลข้างต้นทำให้หลายองค์กรในสหรัฐเริ่มเห็นความสำคัญของการนอนที่เพียงพอโดยโรงเรียนในหลายเขตของสหรัฐ ขยับเวลาเรียนไปเริ่มหลัง 08:30 เช่นเดียวกับบริษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐไม่ว่าจะเป็น Procter&Gamble Nike และ Google ที่เริ่มให้ความรู้กับพนักงานเรื่องการนอนให้เพียงพอโดยมีการทดสอบและอนุญาตให้พนักงานทำงานตามเวลานาฬิกาชีวภาพของตนและมี Nap Pod หรือ แคปซูลเพื่อการนอนพักในสำนักงาน

2. รายได้ครองชีพขั้นต่ำ (Universal Basic Income)

UBI คือสิทธิที่ประชาชนทุกคนจะได้รับรายได้ก้อนหนึ่งต่อเดือนในการดำเนินชีวิตขั้นพื้นฐาน เช่น ค่าที่อยู่อาศัย อาหาร ค่ารักษาพยาบาล และการศึกษา โดยไม่มีเงื่อนไขใดและทุกคนจะได้รับเงินในจำนวนเท่ากันไม่ว่าจะรวยหรือจน ข้อกังวลของ UBI คืองบประมาณ ความสิ้นเปลือง และการทำให้ประสิทธิภาพของแรงงานลดลง แต่สำหรับผู้สนับสนุนมองว่าจะสามารถแก้ปัญหาความยากจนเพราะทำให้ประชาชนที่ด้อยโอกาสหลุดจาก วงจรยากจนซ้ำซาก และพอที่จะยืนบนลำแข้งของตนได้

ประมาณการขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) พบว่าหากประเทศอังกฤษยกเลิกสวัสดิการประกันสังคมขั้นพื้นฐานและดำเนินมาตรการ UBI ประชาชนทุกคนจะได้รับเงินสวัสดิการเดือนละ 317 ปอนด์ แต่ค่าใช้จ่ายรัฐบาลจะเพิ่มปีละ 40,000 ล้านปอนด์ ปัจจุบันแนวคิดนี้ได้รับศึกษาอย่างจริงจังจาก OECD IMF รวมถึงรัฐบาลฟินแลนด์ แคนาดา เนเธอร์แลนด์ และ รัฐแคลิฟอร์เนีย

3. การเรียนรู้แบบส่วนบุคคล (Personalized Learning)

แนวคิดนี้เชื่อว่าระบบการศึกษาในห้องเรียนแบบเดิมที่นักเรียนถูกแบ่งระดับจากอายุ ถูกสอนในเวลาและวิธีที่เหมือนกัน บนความเร็วในการเรียนรู้เดียวกัน ขาดประสิทธิภาพและไม่ตอบโจทย์อนาคต ซึ่งปัจจุบันหลายโรงเรียนในประเทศพัฒนาแล้วได้ทดลองรูปแบบการเรียนใหม่ ที่ปรับหลักสูตรตาม ความสามารถและเป้าหมายของนักเรียนรายคน โดยเริ่มจากการแจกหลักสูตร On-line ล่วงหน้า และเมื่อถึงชั้นเรียน นักเรียนแต่ละคนจะได้รับโจทย์การเรียนที่ไม่เหมือนกัน โดยอาจใช้คอมพิวเตอร์ พร้อมการจับคู่เรียนกับเพื่อน หรือกับเอกสารที่มีการจัดเตรียมล่วงหน้า หรือกับครูประจำชั้นตามความเหมาะสมของงานที่มอบหมาย ซึ่งจะมีการทดสอบวัดผลหลังจบการเรียนในแต่ละวันเพื่อประเมินเนื้อหาที่ต้องเรียนครั้งต่อไป

การเรียนรู้แบบส่วนบุคคล ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ในอดีตไม่สามารถทำให้ เกิดขึ้นได้เพราะเทคโนโลยียังก้าวตามไม่ทันแต่ปัจจุบันแนวคิดนี้กลับมาสู่กระแสหลัก ซึ่งพิจารณาได้จากเงินลงทุนและบริจาคจำนวนมหาศาลที่ บริษัทยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยี ไม่ว่าจะ เป็น Google Microsoft มุ่งพัฒนา ระบบพื้นฐานการเรียนรู้ลักษณะนี้ แต่อย่างไรก็ตามความกังวลเรื่องการเก็บและใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของนักเรียนที่บริษัทเหล่านี้อาจนำไปใช้อย่างไม่เหมาะสมในอนาคต เป็นสิ่งที่นักวิชาการยังมีความเป็นห่วงหากแนวคิดนี้ถูกนำมาใช้เต็มรูปแบบ

4. สังคมเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy)

ได้รับการกล่าวถึงตั้งแต่ปี 2520 จากนักสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย อิลลินอยส์ ซึ่งปัจจุบันแนวคิดนี้ สะท้อนถึงความสามารถในการสร้างรายได้ที่มาจากการแลกเปลี่ยนการบริโภคสินค้าหรือบริการ ที่มีมูลค่าเชิงเศรษฐกิจจากทรัพยากรที่ไม่ได้ใช้อยู่ ณ ช่วงเวลานั้นระหว่างบุคคลและกลุ่มคนผ่านดิจิทัล โดยตัวอย่างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ คือ Airbnb และ Uber

แนวคิดนี้มีข้อดีในการลดค่าใช้จ่ายแทนการซื้อสินทรัพย์ และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคในการคำนึงถึงความคุ้มค่าบนการจัดสรรทรัพยากรที่ดีขึ้น แต่อาจก่อให้เกิดวัฒนธรรมการบริโภคแบบชั่วคราว และส่งผลกระทบต่อมาตรฐานตลาดแรงงาน โดยเฉพาะงานที่ผู้ให้บริการไม่มีประสบการณ์ เข้ามาดำเนินการเพื่อเป็นอาชีพเสริม ซึ่งอาจลดแรงจูงใจในการพัฒนาทักษะเฉพาะและเกิดปัญหาความไม่สอดคล้องของตลาดแรงงาน (Labor Market Mismatch)

จะเห็นได้ว่าทั้ง 4 แนวคิด นี้หากมองย้อนอดีต อาจสวนทางทฤษฎีหรือกระแสนิยม ณเวลานั้น แต่เมื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและสังคมขาดความพอดี การคืนสมดุลอาจเป็นทางออกที่เหมาะสมครับ