จากดอกเบี้ยขาขึ้น ต่อด้วยสงครามการค้า

จากดอกเบี้ยขาขึ้น ต่อด้วยสงครามการค้า

จากดอกเบี้ยขาขึ้น ต่อด้วยสงครามการค้า

สำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้น ปีนี้เป็นอีกปีที่น่าจะเล่นยากอยู่พอสมควร เพราะไม่ว่าจะมอง Valuation หุ้นบ้านเราในมุมไหนก็ไม่ได้ถูกเหมือนปีสองปีที่ผ่านมาแล้ว เปิดต้นปีมาได้สองเดือนก็วิ่งขึ้นไปแถว 1850 จุดมาสองรอบซึ่งเป็นระดับที่เหลือ upside ไม่มากนัก เมื่อเทียบกับเป้าหมาย SET Index ปี 2561 ที่หลายสำนักให้ไว้ที่แถว 1850-1900 จุด

ข่าวดีคือเศรษฐกิจโลกยังเติบโตต่อเนื่อง และยังไม่มีสัญญาณการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ การ correction ของตลาดหุ้นล่าสุดจึงไม่รุนแรงเกินไปนัก ส่วนเศรษฐกิจไทยมี story การเติบโตที่ชัดเจนคือ การกระตุ้นจากนโยบายการคลังในประเทศ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน งบกลางปีอัดฉีดลงรากหญ้าเพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ความกังวลด้านเศรษฐกิจจึงไม่รุนแรงนัก

แต่ข่าวร้ายเองก็เข้ามาไม่ได้หยุดหย่อน ตั้งแต่เดือน ก.พ. ตลาดหุ้นทั่วโลกก็ต้องผวากับความกังวลเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ว่าจะส่งผลต่อตลาดหุ้นทั่วโลกมากน้อยแค่ไหน เพราะดอกเบี้ยคือต้นทุนทางการเงินของการลงทุนในทุกสินทรัพย์ ราคาเป้าหมายหุ้นแทบทุกตัวล้วนแต่มีสูตรคำนวณที่มีอัตราดอกเบี้ยเป็นปัจจัยสำคัญ (ดอกเบี้ยขึ้น ราคาหุ้นเหมาะสมตามปัจจัยพื้นฐานจะลดลง) หรือใครที่ชอบจัดพอร์ตโฟลิโอกระจายการลงทุนในหลายตลาด หลายสินทรัพย์ ก็อาจเคยเห็นว่าเวลาดอกเบี้ยขึ้น ราคาทองคำจะลดลง เป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกก็อาจถูกปรับลดลงด้วย

อย่างไรก็ตาม ในโลกของความเป็นจริง ที่เคยเกิดขึ้น อดีตตลาดหุ้นไม่ได้ร่วงลงมากมายนักในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น แต่กลับปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะยาวด้วย เพราะ 1) ดอกเบี้ยจะขึ้นก็ต่อเมื่อธนาคารกลางมองแนวโน้มเศรษฐกิจแข็งแกร่ง และ 2) การขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้เบากว่าครั้งก่อนๆ มาก โดยเฉพาะไทยยังไม่มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยเลย ล่าสุด ตลาดกำลังลุ้นว่าปีนี้ Fed จะขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้งหรือไม่ (จากเดิมคาดว่า 3 ครั้ง) แต่ต่อให้ขึ้นจริงก็คิดเป็นเพียงปีละ 1.00% เทียบกับครั้งก่อนๆ ขึ้นเร็วและแรงถึงปีละ 1.50-2.00% ต่อปี

แต่ความวัวไม่ทันหาย ความสงครามการค้าก็เข้ามาแทรก ตลาดหุ้นทั่วโลกแกว่งแรงในช่วง 1-2 อาทิตย์ที่ผ่านมา ภายใต้กระแสข่าวการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ โดยล่าสุดเน้นไปที่สินค้านำเข้าจากจีน คิดเป็นมูลค่าสินค้าที่เข้าข่ายภาษีรวมถึง 6 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่สงครามการค้าได้เพราะจีนก็ประกาศตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯเช่นกัน แต่คิดเป็นมูลค่าสินค้ารวมเพียง 3 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอบโต้เชิงสัญลักษณ์และส่งสัญญาณขอเจรจามากกว่า

ทำไมนักลงทุนถึงควรกังวลเรื่องสงครามการค้า? ในอดีตวัฏจักรเศรษฐกิจขาขึ้น ที่มาพร้อมอัตราดอกเบี้ยไม่น่ากังวลเพราะสุดท้ายเศรษฐกิจดีจะหนุนตลาดหุ้นให้ปรับตัวสูงขึ้น และจะไปสิ้นสุดเมื่อเกิดเหตุวิกฤติระรอกใหม่ ที่กระทบผลกำไรบริษัท ซึ่งวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในอดีตที่เรียกกันว่า Great Depression ในช่วงราวปี 1930 ก็มีส่วนหนึ่งเกิดจากสงครามการค้า เมื่อสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าเกษตรนำเข้า เพื่อปกป้องเกษตรกร (อาจมีแรงจูงใจทางการเมืองด้วย เพราะเกษตรกรคือฐานเสียงในยุคนั้น) ผลคือ ประเทศคู่ค้าหลักเกือบทั่วโลก ลุกขึ้นมาทำนโยบายกีดกันการค้าสวนกันไปมา จนการค้าทั่วโลกและสหรัฐฯ หดตัวไป 70% และ 50% ตามลำดับในเวลาเพียงสามปี

หากครั้งนี้กลายเป็นสงครามการค้า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นจะรุนแรงกว่าการขึ้นดอกเบี้ยมาก ทั้งนี้ขึ้นกับว่าทั้งสหรัฐฯ และจีนจะยอมขึ้นโต๊ะเจรจากันเร็วแค่ไหน และแต่ละฝ่ายจะออกมาตรการอะไรอีก สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนราวๆ 5 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2560 (เพิ่งขึ้นภาษีไป 6 หมื่นล้าน ยังเหลือสินค้าให้ขึ้นภาษีอีกเกือบ 90%) ส่วนจีนนำเข้าจากสหรัฐฯ ราว 1.3 แสนล้านดอลลาร์ ยังเหลือให้ขึ้นภาษีอีกมาก นอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่นๆ ที่จีนเลือกใช้ได้อีก เช่น จำกัดนักท่องเที่ยวจีนไปสหรัฐฯ ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดท่องเที่ยวของสหรัฐฯ มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นจาก 3% ในปี 2548 เป็น 15% ในปี 2558 (จีนกลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญของธุรกิจท่องเที่ยว) นอกจากนี้ จีนในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ (ปลายปีที่แล้วถือพันธบัตรอยู่ราว 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นเกือบ 1 ใน 5 ของพันธบัตรที่ถือครองโดยต่างชาติ) หากจีนตอบโต้ด้วยการลดการถือครองลง อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ จะพุ่งสูงขึ้น สร้างปัญหาให้รัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งมีหนี้สาธารณะสูงถึง 105% ของ GDP

สำหรับนักลงทุน แม้จะยังไม่ถึงเวลาต้องหนีออกจากตลาดหุ้น เพราะเศรษฐกิจไทยยังเติบโตต่อเนื่อง แต่ก็ควรมีเงินสดเพิ่มขึ้นเพื่อให้สามารถเข้าลงทุนในภาวะที่ตลาดอ่อนตัวลงมา และขายออกไปบ้างเมื่อตลาดเริ่มเข้าใกล้1850-1900 จุด โดยเน้นลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับเรื่องภายในประเทศ หุ้นเด่นประจำไตรมาส 2 ของเรา ซึ่งค่อนข้างล้าหลังตลาด valuation ยังไม่แพง และมี story ที่น่าสนใจ คือกลุ่มธนาคาร (BBL KTB) เติบโตตามการลงทุนในประเทศ กลุ่มค้าปลีก (BJC GLOBAL ROBINS) รับอานิสงส์นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยงบกลางปีของรัฐบาล และกลุ่มโรงพยาบาล (BDMS CHG) จากเทรนด์ผู้สูงอายุและการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน การเติบโตของโรงงานอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก  และการเติบโตของธุรกิจประกันสุขภาพ