ความเสี่ยงแห่งสงคราม

ความเสี่ยงแห่งสงคราม

สำหรับนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์เศรษฐกิจภาคเอกชนนั้น ความไม่แน่นอนคือความแน่นอนอย่างแท้จริง เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ภาพเศรษฐกิจโลกสดใสหลังจากที่สัญญาณเศรษฐกิจทั่วโลกเติบโตขึ้นอย่างพร้อมเพรียง การค้าโลกฟื้นตัว แต่เงินเฟ้อยังต่ำ ทำให้โอกาสที่ธนาคารกลางจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงยังอยู่อีกไกล ยิ่งไปกว่านั้น นโยบายการลดภาษีของรัฐบาลทรัมป์ ยิ่งทำให้ภาพเศรษฐกิจโลกทั่วโลกสดใสมากขึ้น

แต่สุดยอดความเสี่ยงปีนี้ก็อุบัติขึ้น ซึ่งได้แก่ความเสี่ยงสงครามการค้า หลังจากที่ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเหล็ก 25% และอะลูมิเนียม 10% สำหรับทุกประเทศที่ส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังสหรัฐ ยกเว้นบางประเทศ เช่น แคนาดา เม็กซิโก สหภาพยุโรป อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล และเกาหลีใต้ ที่ยอมอ่อนข้อให้กับสหรัฐ

นอกจากนั้น สหรัฐยังเน้นมาตรการทางการค้ากับจีนอย่างรุนแรง โดย ณ ปัจจุบัน สหรัฐประกาศ 2 มาตรการสำคัญ คือ หนึ่ง ประกาศจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 1,300 รายการ มูลค่ารวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยจัดเก็บในอัตรา 25% โดยสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) จะประกาศรายชื่อของสินค้าในรายละเอียดภายใน 15 วัน ซึ่งมาตรการนี้ทำเพื่อตอบโต้การที่จีนละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทสหรัฐ นอกจากนั้นกระทรวงการคลังสหรัฐจะประกาศรายละเอียดในการห้ามธุรกิจจีนเข้ามาลงทุนในสหรัฐภายใน 60 วันด้วย

และ สอง ได้แก่ การที่สหรัฐสั่งให้จีนลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐลง 1 แสนล้านดอลลาร์ หลังจากในปีที่ผ่านมา จีนเกินดุลการค้าสหรัฐถึง 3.7 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า การลดปริมาณการขาดดุลดังกล่าวเป็นไปได้ยาก เนื่องจากสินค้าที่จีนส่งออกไปสหรัฐส่วนใหญ่เป็นสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เครื่องมือเครื่องจักรและอิเล็กทรอนิกส์ (ซึ่งมีสัดส่วนถึงเกือบ 40% ของสินค้าส่งออกทั้งหมด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการส่งออกจากบริษัทสหรัฐที่ตั้งอยู่ในจีนเอง) ขณะที่สินค้าที่สหรัฐส่งออกไปยังจีนนั้น ส่วนหนึ่งเป็นสินค้าเกษตรและเชื้อเพลิง ซึ่งไม่สามารถจะเพิ่มการบริโภคได้โดยง่าย

ภาพทั้งหมดจึงบ่งชี้ว่า มหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับหนึ่งอย่างสหรัฐ ต้องการที่จะทำสงครามการค้ากับจีนที่เป็นอันดับสองเป็นหลัก ดังนั้น คำถามที่สำคัญที่ต้องตอบให้ได้คือ 1.สงครามการค้าจะเกิดขึ้นหรือไม่ 2.จุดจบของเกมนี้จะเป็นอย่างไร และ3.ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทยจะเป็นอย่างไร

สำหรับคำถามแรกนั้น มุมมอง ณ ขณะนี้ของนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ทั่วโลกแตกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายแรกมองว่าโอกาสที่สงครามการค้าจะขยายวงกว้างไปกว่านี้อาจมีไม่มากนัก โดยมีเหตุผลทั้งจากฝั่งสหรัฐและฝั่งจีนเอง โดยในฝั่งสหรัฐ มีสาเหตุจากการเมืองเป็นหลัก เนื่องจากสหรัฐจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาคองเกรสบางส่วนในปลายปีนี้ ดังนั้น ในระยะต่อไป รัฐบาลทรัมป์อาจเลือกหันกลับมาโฟกัสในประเด็นเศรษฐกิจมากกว่าสงครามการค้า (ที่ทุกคนรู้ว่าถ้าทำจริงก็จะเกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจมากกว่าผลดี)

นอกจากนั้น นักวิเคราะห์กลุ่มนี้มองว่าการใช้คำขู่สงครามการค้า ทั้งกับจีนและกับแคนาดาและเม็กซิโก ก็เพียงเพื่อให้สหรัฐได้แต้มต่อในการเจรจา ทั้งในประเด็นเกาหลีเหนือและประเด็นการเจรจาเขตการค้าเสรี NAFTA

ในฝั่งจีน นักวิเคราะห์มองว่าหากจีนเลือกตอบโต้สหรัฐโดยขึ้นภาษีข้าวฟ่างและถั่วเหลือง (ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของสหรัฐ) ก็จะทำให้ราคาสินค้าเหล่านั้นในจีนแพงขึ้น (เนื่องจากจีนต้องนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐมากถึง 37% ของการบริโภคทั้งหมด) และจะกระทบต่อราคาเนื้อหมู และส่งผลให้เงินเฟ้อในจีนพุ่งทะยานขึ้น ทำให้จีนไม่น่าจะเลือกตอบโต้รุนแรง แต่เลือกที่จะยอมความมากกว่า โดยยอมเปิดเสรีภาคบริการทางการเงินที่สหรัฐต้องการ รวมทั้งเลือกจะไปลงทุนในประเทศที่สามและส่งออกจากประเทศเหล่านั้นแทน

แต่อีกฝ่ายหนึ่งมองว่า ความเสี่ยงสงครามการค้ามีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นในระยะต่อไป เนื่องจาก 4 เหตุผลหลัก คือ 1.มาตรการการค้าจากสหรัฐต่าง ๆ มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นและรุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาษีเครื่องซักผ้า Solar Cell เหล็กและอะลูมิเนียม รวมถึงภาษีตอบโต้การละเมิดลิขสิทธิ์ล่าสุด 2.ทรัมป์ปรับคณะรัฐมนตรี โดยนำผู้ที่เป็น “สายเหยี่ยว” เข้ามาคุมเศรษฐกิจและการเจรจาการค้ามากขึ้น ทั้งรัฐมนตรีพาณิชย์ ผู้แทนการค้า หรือประธานที่ปรึกษาด้านการค้า 3.โดยปกติแล้วมาตรการการค้าจากประเทศหนึ่งๆ มักจะดึงให้ประเทศที่ถูกกระทบทำมาตรการตอบโต้ โดยเฉพาะการใช้ข้ออ้างด้านความมั่นคงนั้น อาจทำให้ประเทศอื่นตอบโต้ด้วยข้ออ้างเดียวกัน และ 4.มาตรการต่างๆ นั้นยังไม่สามารถทำให้สหรัฐสามารถลดการขาดดุลการค้า (ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่ทรัมป์ใช้ตั้งแต่ช่วงหาเสียง) ได้อย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับผู้เขียน เชื่อว่าสงครามการค้านั้นเมื่อเริ่มแล้วไม่น่าจบลงโดยง่าย เนื่องจากจะมีแรงกดดันทางการเมืองในประเทศที่ได้รับผลกระทบให้ทำมาตรการตอบโต้ ยิ่งไปกว่านั้น หากมองภาพใหญ่ สัญญาณของความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกเริ่มเพิ่มมากขึ้น ทั้งในสหรัฐที่ปรับคณะรัฐมนตรีด้านความมั่นคงให้เป็นสายเหยี่ยวมากขึ้น ในจีนที่เพิ่งมีการแก้รัฐธรรมนูญให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง สามารถครองตำแหน่งได้ไม่มีกำหนด ในรัสเซียที่ปูตินได้รับเลือกตั้งเข้ามาอีกครั้ง รวมถึงที่อื่นๆ เช่น ตรุกีและซาอุดีอาราเบีย ที่ผู้นำมีอำนาจมากขึ้น เหล่านี้บ่งชี้ถึงการที่ผู้นำต่างๆ อาจใช้มาตรการการค้าเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างอำนาจในการต่อรอง

เมื่อภาพเป็นเช่นนั้นแล้ว ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทยจะเป็นเช่นไร ในประเด็นอาจคาดเดาได้ยาก เพราะสินค้าที่ถูกกระทบจากสงครามการค้ายังไม่ชัดเจน แต่ที่แน่นอนคือ ในระยะสั้น อาจเห็นการทุ่มตลาดของสินค้าที่ถูกสหรัฐกีดกันทางการค้า เช่น เหล็กและอะลูมิเนียม ไหลเข้ามายังเอเชียรวมถึงไทยแทน ซึ่งแม้จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมที่ใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบ (เพราะต้นทุนถูกลง) แต่ก็ทำให้อุตสาหกรรมเหล็กในไทยประสบปัญหา

ในขณะที่ระยะยาวแล้ว หากสถานการณ์ยืดเยื้อ จะต้องกระทบต่อการส่งออกรวมถึงเศรษฐกิจโดยรวมของโลก เอเชีย และไทยอย่างแน่นอน โดยจากสถิติของ ADB พบว่า กว่า 42% ของการส่งออกของประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่เอเชียทั้งหมด (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) มีจุดหมายปลายทางสุดท้าย (Final Demand) ในกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 3 ประเทศ (สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น) ดังนั้น ผลจากมาตรการกีดกันการค้าของประเทศขนาดใหญ่จะกระทบต่อเศรษฐกิจเอเชียรวมถึงไทยอย่างไม่ต้องสงสัย

ความเสี่ยงสูงสุดของเศรษฐกิจโลกเปิดฉากแล้ว เตรียมพร้อมรับมือแล้วหรือยัง

*** บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่ ***