#DeleteFacebook ก็แก้อะไรไม่ได้ 

#DeleteFacebook ก็แก้อะไรไม่ได้ 

ดราม่าสิครับ เมื่อ อีลอน มัสก์​ ได้รับคำท้าผ่าน ทวิตเตอร์ และ ได้ #DeleteFacebook ของ เทสลา และ สเปซ์เอกซ์ เป็นที่เรียบร้อยไปแล้ว

เป็นผลพวงมาจาก แคมเปญ #DeleteFacebook ที่รณรงค์ให้ชาวโลก ร่วมกันลบบัญชี เฟสบุ๊ค ของตัวเอง ซึ่งเป็นการประท้วงอันเนื่องมาจาก การส่งต่อของข้อมูลส่วนบุคคลของชาวอเมริกัน 50 ล้านคนจาก เฟสบุ๊ค ไปสู่ แคมบริดจ์ อะนาลิติกา บริษัทวิเคราะห์ทางการเมือง สัญชาติอังกฤษ โดย แคมบริดจ์ อะนาลิติกา ได้นำข้อมูลดังกล่าว ไปวิเคราะห์ เพื่อช่วยเหลือ ประธานาธิบดี ทรัมป์ ในการหาเสียงเลือกตั้ง

เป็นเหตุการณ์อื้อฉาวครั้งที่ใหญ่ที่สุดสำหรับ เฟสบุ๊ค ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้ต้องสูญเสียมูลค่าทางตลาด แต่ยังคงนำไปสู่การถกเถียงครั้งใหญ่ทั้งในรัฐบาลของ สหรัฐ และ อียู เพื่อออกมาตรการณ์ ที่สามารถปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนของชาติตัวเองได้

สำหรับผู้ที่ได้ติดตาม อาจสังเกตได้ว่า #DeleteFacebook กำลังพิสูจน์ข้อเท็จจริงอันน่าสะพรึงกลัวบางประการ เกี่ยวกับ สิ่งที่ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วในยุคดิจิทัล และอาจสะท้อนถึงปัญหาที่จะต้องเกิดขึ้น อย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

  1. โซเชียลมีเดีย ของ เฟสบุ๊ค หรือ เสิร์ชเอนจิน โดยกูเกิล ได้กลายมาเป็น โครงสร้างพื้นฐานในโลกดิจิทัล ที่ไม่สามารถที่จะขาดและทดแทนได้แล้ว (Critical Infrastructure) หรือไม่? หากผู้ใช้งาน อินเทอร์เน็ต หรือ สมาร์ทโฟน เลือกที่จะไม่ใช้งาน เฟสบุ๊ค หรือ กูเกิล เช่นด้วยการ #DeleteFacebook หรือในทางกลับกัน เฟสบุ๊ค กับ กูเกิล เลือกที่จะไม่ให้บริการเขา เขาจะถูกตัดขาดจากอะไรบ้าง และสามารถหาสิ่งอื่นมาทดแทนได้หรือไม่ ?
  2. ประเทศที่กำลังพัฒนา อย่างเช่นประเทศไทย มีอำนาจปกครองเหนือบริการเหล่านี้หรือไม่ หรือกระทั่งมีอำนาจต่อรองขนาดไหนกับบริการเหล่านี้? หากบริการเหล่านี้ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายไทย รัฐบาลไทย จะสามารถนำบริการเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อปกป้องประชาชนของประเทศหรือไม่?
  3. หรือหากประเทศไทยทั้งประเทศ เลือกที่จะ #DeleteFacebook หรือ เฟสบุ๊ค กับ กูเกิล เลือกที่จะไม่ให้บริการประชาชนคนไทยทั้งประเทศ อะไรจะเกิดขึ้น? ผลเสียจะเกิดที่ เฟสบุ๊ค กับ กูเกิล หรือที่ประเทศไทยมากกว่า?
  4. ในอดีตที่ผ่านมา Critical Infrastructure ของประเทศ ได้วิวัฒนาการมาจาก 1. การให้บริการโดยรัฐ สู่ 2. การให้สัมปทานกับเอกชน และ 3. การให้ใบอนุญาต ซึ่งต้องมีการกำกับดูแล โดยมีหน่วยงานรัฐอย่างเช่น กสทช แต่ Critical Infrastructure ในยุคดิจิทัล ที่ประชาชนของชาติใช้มากที่สุดและขาดไม่ได้ กลับอยู่นอกเหนืออำนาจอธิปไตยของประเทศ ปัญหาที่แท้จริง ที่ไม่มีใครพูดถึง คือ อำนาจอธิปไตยทางข้อมูลข่าวสาร (Data Sovereignty) ที่ประเทศกำลังสูญเสียไปในยุคดิจิทัล

แม้ #DeleteFacebook จะเป็นเรื่องราวที่ใหญ่โตในต่างประเทศ แต่ปัจจุบัน ประชาชนคนไทยให้ความสำคัญกับข้อมูลส่วนบุคคลน้อยมาก และกลับให้ความสำคัญกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ในด้านของแฮกเกอร์และการโจรกรรมข้อมูลมากกว่า ในขณะที่การส่งต่อของข้อมูลเช่นในกรณีของเฟสบุ๊ค กลับเป็นเรื่องที่รัฐบาลและประชาชนของประเทศที่พัฒนาแล้ว กลับให้ความสำคัญมากกว่า

อย่างไรก็ดี แม้ อีลอน มัสก์ หรือกระทั่งชาวโลกผู้ใช้อินเทอร์เน็ตคนใดก็ตาม จะมา #DeleteFacebook หรือกระทั่งตัดขาดจากโลกดิจิทัลโดยบริบูรณ์ ก็อาจอยู่รอดปลอดภัยจากการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลได้เพียงชั่วขณะหนึ่ง เพราะในปัจจุบัน มีวิวัฒนาการของเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่สามารถเชื่อมต่อข้อมูล ระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงกับโลกดิจิทัล

ยกตัวอย่างเช่น กล้องวงจรปิด กล้องติดรถยนต์ หรือกระทั่งกล้องบนสมาร์ทโฟน ของผู้อื่น กำลังทวีจำนวนมากขึ้นทุกวัน และยังมี AI ที่สามารถประมวลผลจากภาพเหล่านั้น ว่าคนที่อยู่ในภาพคือใคร อยู่ที่ไหน กำลังทำอะไรอยู่ หรือกระทั่งมีอารมณ์และความรู้สึกอย่างไร โดยมิต้องขออนุญาตผู้ที่ถูกบันทึกภาพด้วย เพราะผู้ที่ถูกบันทึก ก็ยังไม่รู้ตัวเองเลย

ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ แม้ในปัจจุบัน จะยังมิได้เป็นการรวมศูนย์อย่างเช่น เฟสบุ๊ค แต่ก็แสดงให้เห็นว่า ต่อไปในอนาคต จะเป็นไปไม่ได้เลย ที่เราจะปฏิเสธ มิให้ข้อมูลส่วนบุคคลของเราถูกบันทึกอยู่ในโลกดิจิทัล จึงได้หวังแต่เพียงว่า เข้าของเทคโนโลยีเหล่านี้ จะมีความรับผิดชอบต่อสังคม

การ #DeleteFacebook และบริการดิจิทัลอื่นๆ จึงแก้อะไรไม่ได้ ในอนาคตที่จะตามมานี้