บทบาทคนรุ่นใหม่ในเวที EU-ASEAN

บทบาทคนรุ่นใหม่ในเวที EU-ASEAN

เมื่อผู้ใหญ่อย่างเรามีโอกาสได้เข้าร่วมการประชุม EU-ASEAN Young Leaders Forum ซึ่งสหภาพยุโรป (EU) และอาเซียน (ASEAN) เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น

ณ กรุงบรัสเซลส์ และรู้สึกประทับใจความสามารถ บทบาท และวิสัยทัศน์ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ไทย ได้แก่ พชร อังศุสุกนฤมล (ตั้งการ์ดจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ อนัญญา เหมวิจิตรพันธ์ (เอมจากบริษัท HATS Consulting รวมทั้ง เพื่อนๆ เยาวชนจากกลุ่มประเทศ EU และ ASEAN รวม 38 คน ที่ได้รับการคัดเลือกให้มาร่วมกันหาแนวทางเพื่อพัฒนาอนาคตความสัมพันธ์ EU-ASEAN โดยข้อเสนอแนะของเยาวชนกลุ่มนี้จะได้รับการนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอียูและอาเซียนครั้งต่อไป ณ กรุงบรัสเซลส์ ในช่วงปลายปี 2561

หลังจากที่ EU และ ASEAN ได้ฉลองความสัมพันธ์ในฐานะ Dialogue partners ครบรอบ 40 ปีไปเมื่อปี 2560 ฝ่าย EU ได้มีความเห็นว่าทั้งสองภูมิภาคควรส่งเสริมบทบาทของเยาวชนผ่านการจัดการประชุมผู้แทนเยาวชนระหว่างภูมิภาค และได้รับการสนับสนุนจากฝ่าย ASEAN จึงเกิดเป็นการประชุมผู้นำเยาวชน EU-ASEAN ณ กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยียม ระหว่างวันที่ 26-27 ก.พ.ที่ผ่านมา นับว่าเป็นครั้งแรก ที่เยาวชนจาก ที่ EU และ ASEAN ได้มานั่งร่วมโต๊ะและถกประเด็นปัญหาที่สำคัญเพื่อสะท้อนและเสนอแนวทางต่อกลุ่มผู้ใหญ่ ได้แก่กลุ่มนักคิดระดับสูง (Strategic Thinkers) ที่มารวมตัวเพื่อเป้าหมายเดียวกัน และต่อรัฐมนตรีต่างประเทศของ 2 ภูมิภาคต่อไป

กลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ไฟแรงที่เข้าร่วมต่างนำเสนอและถกประเด็นปัญหาอย่างเปิดกว้างและตรงไปตรงมา พร้อมทั้งเสนอแนวทางแก้ไขเชิงนโยบายเพื่อเดินหน้าความสัมพันธ์ EU และ ASEAN สรุปได้เป็นสามหัวข้อ ได้แก่ 1. การเมืองและความมั่นคง 2.เศรษฐกิจ การค้าระหว่างประเทศ และ 3. การเชื่อมต่อระหว่างประชาชน (people to people contacts)

เรื่องการเมืองและความมั่นคง ที่ประชุมเยาวชนเริ่มต้นจากการจับเอาประเด็นหนักมาคุยกันก่อน ซึ่งก็หนีไม่พ้นประเด็นผู้ลี้ภัยซึ่งนับเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั้ง 2 ภูมิภาคต่างประสบปัญหาในการจัดการผู้ลี้ภัยอันแตกต่างกันไปตามบริบทของตนเอง โดยที่ประชุมเยาวชนเสนอให้ทั้ง 2 ภูมิภาคให้ความสำคัญมากขึ้นในด้านความมั่นคง โดยเฉพาะความมั่นคงของมนุษย์ นอกจากนี้รัฐควรเปิดช่องทางให้ผู้ลี้ภัยเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้อย่างแท้จริง ประเด็นที่ 2 ในเรื่องการเมืองและความมั่นคงที่ได้รับความสนใจไม่แพ้กันคือเรื่องความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ หรือ cyber security ที่ประชุมเสนอว่าทั้ง 2 ภูมิภาคควรร่วมมือกันสร้างกลยุทธ์พัฒนาความปลอดภัยเกี่ยวกับข้อมูลของผู้ใช้งานบนโลกออนไลน์ ประเด็นที่ 3 คือประเด็นภัยธรรมชาติและภาวะโลกร้อน ที่ประชุมมีข้อเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และผู้ชำนาญการระหว่างภูมิภาค เพื่อการวางแผนการป้องการอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป และ ประเด็นสุดท้ายในหัวข้อที่หนึ่งนี้ เยาวชนเสนอให้มีการสร้างภูมิคุ้มกันผ่านการศึกษาของเด็กและเยาวชน เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรงของเยาวชนซึ่งที่ประชุมมองว่าเป็นกลุ่มที่เปราะบางและมีความเสี่ยง

เรื่องเศรษฐกิจและการค้า เยาวชนได้นำเสนอให้มีการวางแผนการสื่อสารด้านธุรกิจและการค้าที่ครอบคลุมมากขึ้นเน้นสร้างความเข้าใจแก่ภาคประชาชนเกี่ยวกับประเด็นธุรกิจต่าง ๆ เช่น เขตการค้าเสรี และผลประโยชน์อื่นๆทางธุรกิจที่ประชาชนพึงรู้ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีข้อเสนอเกี่ยวกับการส่งเสริมการจ้างงานและการเป็นผู้ประกอบการ โดยเสนอให้ใช้ความร่วมมือประชารัฐ (public-private partnership) เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกลุ่มธุรกิจต่างๆ เข้าด้วยกันมากขึ้น และประเด็นสุดท้ายในเรื่องเศรษฐกิจและการค้าที่กลุ่มเยาวชนนำเสนอได้อย่างน่าสนใจคือการให้กลุ่มธุรกิจปรับตัวชี้วัดความสำเร็จทางธุรกิจ โดยให้รวมการประเมินผลทางสิ่งแวดล้อมและปรับตัวชี้วัดทางธุรกิจให้สอดคล้องกับกลไกการรายงานผลของการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยความสมัครใจ หรือ Voluntary National Reviews ที่หลาย ๆ ประเทศรวมถึงประเทศไทยได้รายงานผลต่อสหประชาชาติไปแล้วอีกด้วย

บทบาทคนรุ่นใหม่ในเวที EU-ASEAN

ในเรื่องการเชื่อมต่อระหว่างประชาชน กลุ่มเยาวชนสองภูมิภาคได้นำเสนอนโยบายอย่างสร้างสรรค์ โดยข้อเสนอแรกคือการจัดให้มีกีฬาระหว่างภูมิภาคโดยไม่มุ่งเน้นนักกีฬาระดับชาติและให้รวม E-sport เข้าเป็นหนึ่งในชนิดกีฬาที่จัดการแข่งขัน เพื่อส่งเสริมและขยายโอกาสการเชื่อมต่อให้ถึงประชาชนในวงกว้างมากขึ้น ประเด็นที่สอง เยาวชนเสนอให้มีการสร้างเวทีและโครงการเแลกเปลี่ยนศิลปินระหว่างสองภูมิภาค เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและส่งเสริมความเข้าใจด้านความต่างทางวัฒนธรรมของกันและกันอีกด้วย และข้อเสนอสุดท้ายในเรื่องการเชื่อมต่อระหว่างประชาชนนี้ ที่ประชุมเสนอให้ภาครัฐสนับสนุนการเคลื่อนย้ายของคนระหว่างภูมิภาค อีกทั้งข้อเสนอแนะจากเยาวชนยังรวมไปถึงการจัดโครงการแลกเปลี่ยนในภาคประชาชน ที่มากไปกว่าการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ หรือนักเรียนแลกเปลี่ยน โดยเยาวชนเสนอให้ภาครัฐสนับสนุนการเคลื่อนย้ายของคนระหว่างภูมิภาคผ่านโครงการทำงานระยะสั้น (work and travel) และการแลกเปลี่ยนอาสาสมัคร

นอกจากการนำเสนอนโยบายและแนวทางแก้ไขปัญหาในสามประเด็นหลักที่กลุ่มเยาวชนจากทั้งสองภูมิภาคได้นำเสนอนั้น เยาวชนในที่ประชุมยังได้กล่าวถึงความสนใจในภาพรวมของความสัมพันธ์ EU และ ASEAN โดยผู้แทนเยาวชนจากเนเธอร์แลนด์กล่าวว่า “ตอนที่ผมบอกทุกคนว่าจะมาประชุมกับเยาวชนจาก ‘ASEAN’ ทุกคนคิดว่าผมออกเสียงคำว่า ‘Asian’ ไม่ได้ ทั้งๆที่คำสองคำนี้มีความหมายแตกต่างกัน” เยาวชนจากประเทศเนเธอแลนด์กล่าวเพิ่มเติมว่า “ผมถามเพื่อนๆ พ่อ แม่ น้อง ว่ารู้จักภูมิภาค ASEAN ไหม แต่ก็ไม่มีใครรู้จักเลย”

นอกจากนี้ เยาวชนจากสิงค์โปร์ยังได้เสนอข้อคิดเห็นที่สอดคล้องกันว่า ความรู้ความเข้าใจระหว่างภูมิภาค ควรมีการปลูกฝังตั้งแต่เนิ่นๆ และควรถูกรวมให้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษาของเยาวชนทั้งสองภูมิภาค ที่ประชุมเยาวชนจึงมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า ความเข้าใจระหว่างภูมิภาคซึ่งกันและกันยังคงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งพัฒนาต่อไป โดยเฉพาะความเข้าใจต่อภูมิภาคอาเซียนในยุโรปนั้นยังไม่ได้รับความสนใจมากนัก อีกทั้งเยาวชนยังมีความเห็นสนับสนุนให้มีการดำเนินกิจกรรมนี้ต่อไปในอนาคต เพื่อเป็นเวทีสะท้อนปัญหาและแนวทางแก้ไขต่อผู้วางนโยบายของทั้งสองภูมิภาคต่อไป

เยาวชนทั้ง 38 คน ได้มีโอกาสเข้าพบ นาง Federica Mogherini ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรป ด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง ซึ่งให้โอกาสกลุ่มเยาวชนได้ร่วมหารือเป็นการส่วนตัวอีกด้วย ในระหว่างการหารือ นางFederica ได้แสดงความเป็นห่วงและซักถามประเด็นความมั่นคงของมาราวี ประเทศฟิลิปินส์ กับผู้แทนเยาวชน จากนั้นผู้แทนเยาวชนได้ซักถามถึงความกังวลต่อสถานการณ์ความไม่สงบในยูเครน รวมถึงซักถามถึงนโยบายและแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

การประชุมเยาวชนในครั้งนี้นับเป็นความสำเร็จของความร่วมมือระหว่าง EU และ ASEAN อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเยาวชนซึ่งนับเป็นกลุ่มประชากรที่มีขนาดใหญ่ในทั้งสองภูมิภาค และพวกเขาคือกุญแจสำคัญที่จะผลักดันและกำหนดทิศทางอนาคตความสัมพันธ์ EU และ ASEAN ต่อไป

โดย... พชร อังศุสุกนฤมล