“ค่าเสียหายเชิงลงโทษ” กับการป้องปรามการละเมิดสิทธิในสังคม

“ค่าเสียหายเชิงลงโทษ” กับการป้องปรามการละเมิดสิทธิในสังคม

ปัจจุบัน การกระทำละเมิดต่อกฎหมายมีความซับซ้อนและไม่คำนึงถึงสิทธิของบุคคลอื่นมากขึ้น ตลอดจนมีลักษณะของการกระทำที่มีความรุนแรง

รวมไปถึงมีการกระทำความผิดซ้ำที่สูงขึ้น จนเรามักจะตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรมอยู่เสมอ จุดนี้จึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวความคิดและการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มโทษทางอาญาให้รุนแรงมากขึ้น หรือนำมาตรการทางอาญามาบังคับใช้อย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม ในบางประเทศได้นำการกำหนดค่าเสียหายทางแพ่งในเชิงป้องปราม ที่เรียกว่า “ค่าเสียหายเชิงลงโทษ” มาสร้างมาตรฐานให้สังคมเกรงกลัวการกระทำละเมิดสิทธิผู้อื่นเพื่อลดการกระทำผิดในทางอาญาที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

ในประเทศอังกฤษ มีคำพิพากษาซึ่งถือเป็นบรรทัดฐานในคดี Wikes v. Wood (.. 1763) ที่ศาลได้นำหลักการดังกล่าวมาใช้กับการแทรกแซงสิทธิในทรัพย์สินและที่ดินอันถือเป็นการกระทำละเมิดเป็นคดีแรก โดยมีวัตถุประสงค์ 2 ประการ ประการแรก เพื่อเยียวยาปัจเจกชนสำหรับความผิดต่อเอกชน และประการที่สอง เพื่อยับยั้งความผิดอันอาจกระทบต่อสาธารณชน ซึ่งวัตถุประสงค์ในส่วนนี้แฝงมาด้วยค่าเสียหายเชิงลงโทษ กล่าวคือ กฎหมายมองว่าแม้การกระทำละเมิดจะมีผลโดยตรงต่อเอกชนจากการกระทำของเอกชนด้วยกันเอง แต่อีกด้านหนึ่งเหยื่อกลับไม่ใช่เพียงแค่ปัจเจกชนที่ได้รับอันตรายเท่านั้น แต่ชุมชนก็ได้รับอันตรายจากการกระทำของจำเลยเช่นกัน สอดรับกับเหตุผลต่อมาที่ว่า ค่าเสียหายเชิงลงโทษนั้นสามารถยับยั้งความผิดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ โดยจะเป็นตัวอย่างทั้งแก่จำเลยและบุคคลอื่นในสังคมไม่ให้กระทำความผิดอย่างเดียวกันนี้อีกในอนาคต ซึ่งศาลในคดีนี้พิพากษาว่า “การกำหนดค่าเสียหายจำนวนเล็กน้อยย่อมไม่สามารถหยุดยั้งการละเมิดสิทธิและยับยั้งการกระทำความผิดในอนาคตได้ จึงต้องสร้างบรรทัดฐานเพื่อความรับผิดที่จะสร้างสังคมแห่งการไม่ละเมิดสิทธิขึ้น”

มุมมองนี้มีความสอดรับกับปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างมาก คือ ความเสี่ยงที่สังคมจะได้รับจากการกลับมา “กระทำความผิดซ้ำ” ของจำเลย ซึ่งไม่ตระหนักถึงความเสียหายที่ตนได้กระทำ จากการเชื่อมโยงระหว่างกฎหมายเอกชนและกฎหมายอาญาดังกล่าว สังคมย่อมจะได้รับประโยชน์จากการกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษเป็นการเยียวยาทางแพ่ง แต่ก็เป็นการลงโทษและยับยั้งในทางอาญาด้วยเช่นกัน ทั้งยังเป็นการแก้ปัญหากรณีผู้เสียหายในความผิดเพียงเล็กน้อยไม่ยอมใช้สิทธิทางศาลด้วย เป็นการกระตุ้นให้เกิดสังคมที่หวงแหนสิทธิอันเป็นพื้นฐานแห่งสังคมที่พัฒนาต่อไป

จึงสรุปได้ว่า ค่าเสียหายเชิงลงโทษมีลักษณะดังนี้

1. กำหนดขึ้นเพื่อป้องปรามมิให้กระทำมิชอบเช่นนั้นอีก และขณะเดียวกันยังมุ่งเพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลอื่นมิให้กระทำตาม

2. ศาลจะพิจารณากำหนดให้เองตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงลักษณะความร้ายแรงแห่งละเมิด ฐานะทางเศรษฐกิจของจำเลย ตลอดจนสภาพ และปริมาณของความเสียหายที่เกิดขึ้น

3. กำหนดค่าเสียหายให้มากขึ้นนอกเหนือจากค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริง และ

4. ให้เฉพาะในกรณีการกระทำละเมิดที่มีพฤติการณ์รุนแรงมีลักษณะของการกระทำเช่นเดียวกับในคดีอาญา

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในระบบกฎหมายไทยสามารถนำหลักการดังกล่าวมาปรับใช้ได้มากน้อยเพียงใด เมื่อศึกษาพบว่าประเทศไทยมีกฎหมายอยู่ 5 ฉบับที่รับรองหลักการ “ค่าเสียหายเชิงลงโทษ” ได้แก่ 1. พระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ. 2545 2. พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 3. พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 4. พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 และ 5. พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2558 ซึ่งกฎหมายเหล่านี้ใช้บังคับกับความผิดที่เป็นลักษณะเฉพาะและมีความร้ายแรงกว่าปกติต่อสาธารณะ และบังคับใช้แยกออกจากกฎหมายลักษณะละเมิดโดยทั่วไป

อย่างไรก็ดี การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ของไทย มีหลักการพื้นฐานมาจากระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษร ซึ่งอยู่บนคนละฐานแนวคิดกับระบบกฎหมายจารีตประเพณีของอังกฤษดังคดีที่กล่าวมา เห็นได้จากมาตรา 438 ที่กำหนดให้ศาลใช้ดุลยพินิจกำหนดค่าสินไหมทดแทนตามกรอบแห่งกฎหมายที่วางหลักไว้ การเยียวยาหรือชดเชยจึงเป็นไปในลักษณะเพื่อ “ความเสียหายที่แท้จริง” เท่านั้น เหตุนี้ทำให้การปรับใช้ค่าเสียหายเชิงลงโทษจึงเป็นไปในลักษณะที่จำกัดตามที่กฎหมายระดับพระราชบัญญัติให้อำนาจไว้ ผลคือไม่สามารถนำมาซึ่งการป้องปรามการกระทำละเมิดให้เกิดขึ้นจริงได้ในสังคม ส่งผลถึงการกระทำความผิดซ้ำที่ตามมา

กรณีที่ผู้เขียนอยากยกมาเป็นตัวอย่าง คือ คดีละเมิดของ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ที่ศาลฎีกาตัดสินเมื่อวันที่ 6 มี.ค.2561 ให้กลุ่มบ้านปูและพวกร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 1,500 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย 7.5% นับจากวันฟ้อง เพื่อเป็นค่าเสียหายจากการที่จำเลยละเมิดนำข้อมูลซึ่งถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาและเป็นความลับทางธุรกิจเกี่ยวกับสัมปทานเหมืองถ่านหิน แต่ส่วนค่าเสียโอกาสที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินกว่า 60,000 ล้านบาทนั้นไม่ต้องชำระ แสดงให้เห็นจุดยืนตามคำพิพากษาที่ไม่ใช้ค่าเสียหายเชิงลงโทษกับความเสียหายในอนาคตที่ทางบริษัทจำเลยได้กระทำขึ้น ทั้ง ๆ ที่การกระทำละเมิดเช่นนี้อาจส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยมูลค่าของบริษัทที่มีในตลาดหลักทรัพย์ ยังผลให้การกระทำละเมิดในลักษณะนี้ ยังอาจเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตเพราะผู้กระทำความผิดนั้น “ได้มากกว่าเสีย”

จะเห็นได้ว่าการหาหลักประกันทางกฎหมายที่จะลดความเสี่ยงในการกระทำความผิดซ้ำจึงถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในสังคมที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นการประกันความมั่นคงทางการลงทุน ในทางเดียวกันก็เป็นการสร้างสังคมอุดมคติที่ปราศจากการละเมิดสิทธิผู้อื่นให้มีความเป็นไปได้มากขึ้น ซึ่งด้วยกรอบแห่งระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร นักกฎหมายไทยคงต้องมีหน้าที่อีกมากที่ต้องผลักดันแนวคิด “ค่าเสียหายเชิงลงโทษ” ให้ครอบคลุมและชัดเจนมากยิ่งขึ้นเพื่อที่จะนำพาสังคมพัฒนาขึ้นไปอีกระดับหนึ่งของความยุติธรรม

โดย... 

ว่องวิช ขวัญพัทลุง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์