เตรียมตัวให้พร้อมก่อนดิจิทัลแย่งงาน

เตรียมตัวให้พร้อมก่อนดิจิทัลแย่งงาน

ปัญหาบุคลากรจากการแทนที่ของเทคโนโลยีสามารถแก้ไขได้ แต่ต้องอาศัยการปรับตัวจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ตัวบุคลากร องค์กร และรัฐบาล

โลกของการทำธุรกิจในปัจจุบัน ด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพตลาด และการแข่งขันที่มากขึ้นทำให้องค์กรทางธุรกิจต่าง ๆ ต้องมีการปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ตลาด เพื่อให้สามารถรักษาประสิทธิทางการแข่งขันไว้ได้ และปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในกระแสการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในยุคนี้ก็คือการเปลี่ยนไปสู่การเป็นองค์กรในยุคดิจิทัล หรือ Digital Transformation

การเปลี่ยนแปลงเป็นองค์กรในยุคดิจิทัล ที่มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามานั้นทำให้เกิดการพัฒนาอย่างมาก ทั้งในด้านการเพิ่มรายได้ เพิ่มผลกำไร และลดต้นทุนในการจัดการ นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ยังทำให้เกิดโมเดลธุรกิจในรูปแบบใหม่

ในทางทฤษฎีทรัพยากรมนุษย์นั้น ถือได้ว่าเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามากที่สุดขององค์กร เพราะเป็นปัจจัยการผลิตที่สามารถพัฒนาได้ มีความคิดริเริ่มและมีความสามารถในการสร้างสรรค์ แต่ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าในหลายองค์กรกลับมีปัญหากับบุคคลากรภายในองค์กรเอง ที่กลายมาเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่องค์กรในยุคดิจิทัล ด้วยเหตุผลที่สำคัญนั้นก็คือความสามารถและทักษะที่จำเป็น เปลี่ยนไปจากเดิมนั้นเอง 

โดยอดีตการสมัครงานจำเป็นต้องกรอกว่า พิมพ์ดีดไทย-อังกฤษ ได้เร็วแค่ไหน ต่อมาผู้สมัครงานต้องตอบคำถามที่ว่าใช้ MS Word, MS Excel, MS PowerPoint เป็นหรือไม่ ชำนาญแค่ไหน และในปัจจุบันผู้สมัครงานกำลังจะต้องเผชิญกับการตอบคำถามว่า ทำงานวิเคราะห์ข้อมูลจากฐานข้อมูล (Database) ได้หรือไม่ มีความสามารถในการเขียนโปรแกรมหรือไม่ เป็นต้น ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าองค์กรธุรกิจมีความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ ในหลายกรณีจะเห็นได้ว่าองค์กรได้มีการพัฒนาในด้านไอที และดิจิทัล เพื่อให้สามารถแข่งขันได้มากขึ้น แต่ก็ต้องเผชิญกับปัญหาที่จะต้องลดจำนวนบุคลากรลง เนื่องจากมีระบบที่เข้ามาทดแทน ทำให้เกิดแรงงานส่วนเกินที่ก่อต้นทุนให้กับองค์กร โดยที่ในการลดบุคลากรลงนั้น องค์กรเสี่ยงที่จะต้องเสียชื่อเสียง และบุคลากรในองค์กรเองเกิดความเสี่ยงจากความมั่นคงในการทำงานเช่นกัน นอกจากนี้ภาครัฐอาจต้องกลับมาแก้ปัญหาเรื่องผู้ว่างงาน

ปัญหาในเรื่องบุคลากรที่เกิดขึ้นจากการแทนที่ของเทคโนโลยีนั้นไม่ใช่ปัญหาที่ไม่สามารถจะแก้ไขได้ แต่ต้องอาศัยการปรับตัวจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ตัวบุคลากร องค์กร และรัฐบาล ในส่วนของบุคคลนั้นประการต้องเข้าใจและยอมรับว่าการทำงานในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปจากเดิมแล้วการทำงานกับเทคโนโลยีเป็นเรื่องปกติ ที่สามารถเรียนรู้เพื่อใช้งานได้ ต้องพยายามที่จะพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานร่วมกับเทคโนโลยี ทั้งในเวลางานและนอกเวลางาน ไม่ใช่เพียงเพื่อทำให้การทำงานให้กับองค์กรมีประสิทธิภาพขึ้น แต่ยังเป็นหลักประกันในการหางานใหม่หากมีโอกาสที่น่าสนใจ

ในส่วนขององค์กร หากไม่ต้องการเผชิญหน้ากับปัญหาในเรื่องของการปรับลดคน และสรรหาบุคลากรใหม่ อาจจะต้องพิจารณาเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ให้โอกาสคนในองค์กรเดิมในการเรียนรู้พัฒนาทักษะใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงานผ่านการฝึกอบรมซึ่งหากบุคลากรทำงานกับเทคโนโลยีใหม่ได้องค์กรก็ไม่จำเป็นต้องปรับลดบุคลากรและสรรหาบุคลากรใหม่ ในส่วนของภาครัฐ ต้องมีการออกนโยบายที่สนับสนุนให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาด้านดิจิทัล 

รวมถึง การปรับปรุงกระบวนการทำงานของภาครัฐเองที่จะต้องไม่ก่อให้เกิดต้นทุนและอุปสรรคต่อภาคเอกชน ต้องการสนับสนุนให้เกิดการอบรมและเรียนรู้แก่ประชาชนทั่วไปให้มีความรู้พื้นฐานเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการทางเทคโนโลยี ต้องมีการปรุงกฎหมายให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาในระดับต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมกับเทคโนโลยีและสามารถพัฒนาบัณฑิตที่ตรงกับความต้องการขององค์กรเอกชน เพื่อบรรเทาปัญหาการว่างงาน

อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนไปสู่การเป็นองค์กรในยุคดิจิทัล นั้นเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน และเลี่ยงไม่ได้ที่จะก่อให้เกิดปัญหาการเข้ามาทดแทนบุคลากรด้วยเทคโนโลยี แต่ปัญหาดังกล่าวสามารถบรรเทาได้ด้วยการเตรียมพร้อมรับมือ กับการเปลี่ยนแปลงที่ทุกฝ่ายต้องใช้ความพยายามร่วมกัน โดยที่การเตรียมพร้อมต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้