บนเส้นทางสู่การเติบโตที่ยั่งยืน

บนเส้นทางสู่การเติบโตที่ยั่งยืน

บนเส้นทางสู่การเติบโตที่ยั่งยืน

สวัสดีครับ

องค์ประกอบสำคัญในการดำเนินธุรกิจของธุรกิจต่างๆ คือการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholders) ทุกกลุ่มทั้งภายนอก (เช่น ลูกค้า หน่วยงานกำกับดูแล พันธมิตรทางการค้า นักลงทุน เป็นต้น) และภายในองค์กร (เช่น คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน) การมุ่งแสวงหาผลกำไรแต่เพียงอย่างเดียวนั้นจะไม่สามารถนำพาองค์กรให้เติบโตหรือพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Growth and Development) การดำเนินธุรกิจและประกอบการโดยคำนึงความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายจึงสำคัญอย่างยิ่งต่อความยั่งยืนของธุรกิจนั้นๆ

พัฒนาการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากและเป็นไปอย่างรวดเร็ว ตอบรับกระแสโลกที่เรียกร้องให้ธุรกิจต่างๆ ออกมาแสดงความรับผิดชอบกันมากขึ้นจากการที่มีส่วนสร้างผลกระทบที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม  ท่านผู้อ่านจึงอาจได้ยินหรือพบเจอศัพท์แสงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมที่ได้ต่อยอดเป็นศัพท์ใหม่ๆ อีกหลายคำ ซึ่งผมขอนำบางคำมาพูดคุยให้เข้าใจได้ง่ายๆ ครับ

เริ่มต้นด้วยคำที่ทุกท่านคุ้นชินกันดีคือคำว่า CSR ที่ย่อมาจากคำว่า Corporate Social Responsibility แปลตรงตัวก็คือความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ซึ่งเป็นจุดยืนพื้นฐานในการทำความดีขององค์กรนั้นๆ พูดง่ายๆ คือ องค์กรต้องเป็น “คนดี” (Good Corporate Citizen) ด้วยการส่งมอบผลงานที่ดีมีคุณภาพให้กับผู้มีส่วนได้เสีย ด้วยประสิทธิภาพและความซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรมในการดำเนินงาน

CSR มี 2 ประเภท คือ 1) CSR-in-process คือความรับผิดชอบที่องค์กรนั้นๆ จะต้องมีในกระบวนการดำเนินธุรกิจ สร้างคุณค่าให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกองค์กร และไม่สร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อม 2) CSR-after-process คือ กิจกรรมที่อยู่นอกกระบวนการธุรกิจ อาจเป็นบทบาทต่อสังคมในด้านต่างๆ ที่องค์กรนั้นเลือกทำ เช่น ด้านการศึกษาหรือพัฒนาเยาวชน ด้านการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น

ศัพท์คำว่าต่อไปคือ CSV ย่อมาจากคำว่า Creating Shared Value คือการทำโครงการหรือกิจกรรมที่สร้างคุณประโยชน์ต่อองค์กรที่ทำและชุมชนควบคู่ไปพร้อมกัน โดยใช้ความเชี่ยวชาญขององค์กรนั้นๆ ในการทำกิจกรรมที่ส่งผลดีต่อชุมชน สร้างรายได้ หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็เกิดผลลัพธ์ทางธุรกิจด้วย

อีกหนึ่งคำศัพท์ที่ทวีความสำคัญในบริบทการทำธุรกิจในปัจจุบัน นั่นคือคำว่า ESG ซึ่งย่อมาจาก Environmental, Social and Governance สำหรับธนาคารกรุงศรีอยุธยานั้นได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากโดยได้จัดตั้ง “สายงานการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน” ขึ้นเพื่อดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ที่ผมบอกว่า ESG มีความสำคัญในแง่การทำธุรกิจเป็นเพราะประชาคมโลกจะสนับสนุนธุรกิจหรือองค์กรที่คำนึงถึง ESG ในกระบวนการทำงานทั้งสายตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ แม้แต่นักลงทุน (Investors) ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนสถาบันหรือนักลงทุนรายย่อย เน้นที่จะเลือกลงทุนในองค์กรธุรกิจที่มีคุณสมบัติและกระบวนการปฏิบัติงานที่ครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน นั่นก็คือกิจการที่คำนึงถึงการสร้างผลดีต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental) สร้างผลดีต่อสังคม (Social) และบริหารงานด้วยหลักธรรมาภิบาล (Governance) เรียกได้ว่า ESG เป็นปัจจัยนำองค์กรสู่ความยั่งยืนนั่นเอง

ในเดือนต่อๆไป ผมจะอธิบายเพิ่มเติม และยกตัวอย่างกิจกรรมของบริษัทจดทะเบียน สำหรับการดำเนินการภายใต้ 3 มิติ แห่งความยั่งยืน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ครับ