กระบวนการนวัตกรรม

กระบวนการนวัตกรรม

การสร้างนวัตกรรมในระดับบริษัท ถือได้ว่าเป็นกระบวนการที่ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันของบริษัท

ไม่ว่าจะเป็นบริบทของอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน องค์ความรู้ที่จำเป็นหรือองค์ความรู้เฉพาะด้านสำหรับบริษัท ประเภทของนวัตกรรมที่ต้องการสร้าง และพื้นฐานและประสบการณ์ที่สะสมขึ้นในบริษัท

นอกจากนี้ กระบวนการสร้างนวัตกรรม ยังขึ้นอยู่กับ ขนาดของบริษัท วิสัยทัศน์ พันธกิจ กลยุทธ์ และเป้าหมายทางธุรกิจของบริษัทอีกด้วย

จึงเห็นได้ว่า กระบวนนวัตกรรม เป็นกระบวนการที่อาจจะไม่มีสูตรสำเร็จ หรือสูตรตายตัว ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรมของบริษัทได้

แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการนวัตกรรม อาจแบ่งออกได้เป็นกระบวนการย่อยๆ 3 กระบวนการ ที่มีการซ้อนทับกันอยู่ในส่วนที่เป็นรอยต่อระหว่างกระบวนการย่อยเหล่านี้

กระบวนการย่อยทั้ง 3 นี้ ได้แก่

1.กระบวนการที่ใช้ในการสร้างองค์ความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม หรือ เทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมที่ต้องการสร้างขึ้น

โดยข้อสำคัญที่สุดในกระบวนการนี้ ได้แก่ การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างองค์ความรู้ที่ได้ กับกลยุทธ์ และทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัท

เครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้ในกระบวนการนี้ โดยทั่วไปได้แก่ การมีทรัพยากรด้านการวิจัยและพัฒนาที่เป็นของบริษัทเอง การมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งเพียงพอสำหรับการจ้างที่ปรึกษามืออาชีพจากภายนอกเข้ามาช่วยพัฒนา หรือใช้บริการจากสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย ที่มีนักวิจัยประจำอยู่ และ ความสามารถในการเรียนรู้ ดูดซับความรู้ และกระจายความรู้พื้นฐานนั้นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในบริษัท

2.กระบวนการแปรองค์ความรู้ไปสู่ชิ้นส่วนประกอบ หรือ ตัวผลิตภัณฑ์หรือบริการ ที่จับต้องได้ และนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม

กระบวนการย่อยนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะเป็นประตูด่านแรกสู่ความสำเร็จของการพัฒนานวัตกรรม และเป็นที่มาของวลีที่ว่า “งานวิจัยขึ้นหิ้ง” เปรียบเทียบการพัฒนาองค์ความรู้พื้นฐาน ที่ไม่สามารถต่อยอดมาสู่การนำไปใช้งานได้อย่างเป็นรูปธรรม

ความสำเร็จของกระบวนการย่อยที่ 2 นี้ จะอยู่ที่การพัฒนางานวิจัยหรือการสร้างองค์ความรู้พื้นฐานใหม่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่ขาดหายไป หรือยังไม่ได้รับการพัฒนาเพื่อมาพิสูจน์ยืนยันว่า ความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นจากองค์ความรู้นั้น จะสามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างเป็นรูปธรรม

3.กระบวนการและกลยุทธ์ทางการตลาดซึ่งรวมถึง กลยุทธ์การสร้างความต้องการใหม่ของตลาด และการสนองความต้องการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองของตลาด ด้วยนวัตกรรมที่ต้องการสร้างขึ้นมานั้น

หัวใจสำคัญของกระบวนการนี้ ก็คือ การที่ชิ้นส่วนการทำงาน หรือ ต้นแบบของผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่สร้างขึ้นนั้น ต้องตอบโจทย์ความต้องการ หรือแก้ปัญหาที่ลูกค้าเป้าหมายประสบอยู่ และต้องการแก้ไขปัญหานั้นๆ ให้ลุล่วงไปได้อย่างราบรื่น

ข้อเท็จจริงที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การสร้างนวัตกรรม ก็ยังเป็นเรื่องที่มีความไม่แน่นอนแฝงอยู่ในตัวของมันเองเสมอ และประสบการณ์พื้นฐานของผู้ประกอบการนวัตกรรม หรือผู้ก่อตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่มีอยู่ โดยเฉพาะความรอบรู้ทั้งในด้านพื้นฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ประดิษฐกรรม การผลิต และ การตลาด อยู่ในตัวคนคนเดียวกัน

ซึ่งก็เป็นความท้าทายที่สำคัญอย่างยิ่ง !!!