ราชนีติ : วิถีพระราชามรรคาผู้นำ (7)

ราชนีติ : วิถีพระราชามรรคาผู้นำ (7)

เมื่อตอนที่แล้ว ได้ศึกษาคาถาบทที่ 32-35 ซึ่งสรุปความได้ว่า เป็นธรรมแห่งการเอาชนะแผ่นดินทั้งปวง เป็นการชนะด้วยปัญญา ด้วยสร้างประโยชน์แก่มหาชน

ไม่ใช่การเอาชนะด้วยกำลังแต่อย่างใด ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงชนะด้วย “ศาสตร์พระราชา” ซึ่งได้รับการยอมรับและนำไปใช้จากประเทศต่างๆ ในโลก

คราวนี้ เราจะได้ศึกษาคาถาบทต่อๆ ไปพร้อมกัน ดังนี้

คาถาบทที่ 36 พระเจ้าอยู่หัวทรงวิทยาคุณ มีพระปรีชาชาญฉลาด ทรงเฉียบแหลม ปราศจากความริษยา ทรงคบหาสมาคมกับครู พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น ย่อมทรงบรรลุถึงยศอันไพบูลย์

คาถาบทที่ 37 พระเจ้าอยู่หัวทรงสมบูรณ์ด้วยคุณ 7 ประการ และทรงรอบรู้ในนิติศาสตร์ มีพระวิจารณ์รอบคอบ ย่อมสามารถเอาชนะได้ทั่วพื้นปฐพี

คาถาบทที่ 38 คุณสมบัติ 8 ประการย่อมปรากฏในพระเจ้าอยู่หัว คือ พระอินทร์ 1 พระอาทิตย์ 1 พระพาย 1 พระยม 1 พระสมุทร 1 พระจันทร์ 1 ภูมิเทพ 1 ฝน 1

คาถาบทที่ 39 พระเจ้าอยู่หัว ย่อมเสมอองค์พระอินทร์ เพราะปกครองพสกนิกรด้วยวิธีข่มและวิธียกย่อง ดังองค์ท้าวสักกะฉะนั้น

คาถาบทที่ 40 พระอาทิตย์ย่อมแผดเผาน้ำให้เหือดแห้งได้แต่ผิวน้ำเท่านั้น ประมาณปีละ 8 เดือนฉันใด พระเจ้าอยู่หัวผู้ซึ่งท่านทรงเปรียบดวงอาทิตย์ พึงจัดเก็บภาษีอากรในแคว้นโดยชอบธรรม

คาถาบทที่ 41 ลมย่อมพัดซอกแซกไปในสรรพสัตว์ฉันใด พระเจ้าอยู่หัวก็ควรทรงส่งคนไปสืบราชการลับฉะนั้น นี้ท่านเรียกว่า มาลุดพรตแบบลม

คาถาบทที่ 42 พยายามย่อมซักถามสัตว์ทั้งที่เป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก ที่มาถึงสำนักพระองค์ท่านอย่างสม่ำเสมอกันฉันใด พระเจ้าอยู่หัวก็ควรทรงลงพระราชอาญาตามโทษานุโทษฉะนั้น นี้ท่านเรียกว่า ยมพรตแบบพระยม

คาถาบทที่ 43 แม่น้ำเปี่ยมน้ำ มหาสมุทรก็ไม่หวังให้น้ำไหลมารวมกันในทะเลฉันใด พระเจ้าอยู่หัวก็มิควรทรงหวังพระทัย จะให้เงินของชาวบ้านไหลเข้าคลังเรื่อยฉันนั้น นี่ท่านเรียกว่า สมุทรพรตแบบทะเลหลวง

คาถาบทที่ 44 พวกมนุษย์เห็นพระจันทร์เต็มดวง ย่อมร่าเริงฉันใด คนทั้งหลายได้เห็นพระพักตร์พระเจ้าอยู่หัวของตน ย่อมยินดีเหมือนฉะนั้น เพราะเหตุนั้น พระเจ้าอยู่หัวผู้ทัดเทียมพระจันทร์ ก็ควรแสดงพระองค์ให้ปรากฏฉะนั้น นี้ท่านเรียกว่า จันทรพรตแบบพระจันทร์

คาถาบทที่ 45 พื้นพิภพย่อมรองรับสรรพสิ่งและสรรพสัตว์ทั่วหน้าเสมอกันฉันใด แม้พระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงธรรม ก็ย่อมปกป้องพสกนิกรของพระองค์ทั้งในกรุงและนอกกรุงสม่ำเสมอกันฉันนั้น นี่ท่านเรียก ภูมิพรตแบบแผ่นดิน

คาถาบทที่ 46 เมฆหลั่งฝนตลอดสี่เดือนฉันใด พระเจ้าอยู่หัวควรทรงเอาพระทัยใส่นักรบด้วยบำเหน็จรางวัลฉันนั้น นี้ท่านเรียก ปชุนพรตแบบฝน

(ไขคำ : คาถาบทที่ 41-46 มีคำตอท้ายว่า “พรต” อยู่ด้วย ในฉบับของพระยาอนุมานราชธน วงเล็บไว้ว่า “เอาอย่าง” เช่น บทที่ 41 “มาลุดพรตแบบลม” คือเอาอย่างแบบลม บทที่ 42 “ยมพรตแบบพระยม” คือ เอาอย่างพระยม บทที่ 43 “สมุทรพรตแบบทะเล” คือ เอาอย่างมหาสมุทร เป็นต้น)

พิจารณาคาถาบทที่ 36 ว่า “พระเจ้าอยู่หัวทรงวิทยาคุณ มีพระปรีชาชาญฉลาด ทรงเฉียบแหลม ปราศจากความริษยา ทรงคบหาสมาคมกับครู พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น ย่อมทรงบรรลุถึงยศอันไพบูลย์” นั้น เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นดั่งที่คาถากล่าวไว้ นั่นคือ ทรงวิทยาคุณ มีพระปรีชาชาญฉลาด ทรงเฉียบแหลม ปราศจากความริษยา ทรงคบหาสมาคมกับครู

ข้อที่ว่า ทรงคบหาสมาคมกับครู เป็นข้อที่ควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง

ผู้ที่คบหาสมาคมกับครู คือ ผู้ที่รักการเรียนรู้ ในโลกนี้มีวิชาความรู้ที่เป็นประโยชน์มากมาย ผู้ที่แสวงหาความรู้ย่อมต้องแสวงหาครูผู้รู้ในวิชานั้นๆ หรือไม่ก็แสวงหาจากหนังสือ ตำรา เอกสาร บันทึกที่มีอยู่ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้มาซึ่งความรู้นั้น จากพระราชประวัติเมื่อทรงพระเยาว์ ครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้น พระองค์ทรงสนใจเครื่องรับวิทยุ จึงทรงศึกษาจากครูและจากหนังสือแล้วซื้ออุปกรณ์มาต่อเครื่องรับวิทยุจนสำเร็จ ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ก็ทรง “คบหาสมาคมกับครู” อยู่เสมอ ความรู้ของพระองค์จึงกว้างขวางครอบคลุมศาสตร์ทุกแขนงและลึกซึ้งด้วย ทั้งทางโลกและทางธรรม ในทางธรรมนั้น พระองค์เสด็จไปทรงสนทนาธรรมกับพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่เนืองๆ พระองค์จึงทรงเป็นแบบอย่างของผู้แสวงหาความรู้อย่างแท้จริง

การที่ทรงเป็นผู้แสวงหาความรู้ คบหาสมาคมกับครู จึงทรงมีคุณสมบัติครบถ้วนตามคาถาทุกบทที่กล่าวมาข้างต้นอย่างมิต้องสงสัย พระองค์จึงทรง “เอาชนะได้ทั่วพื้นปฐพี” ด้วยวิชาความรู้ที่ทรงมอบไว้แก่โลก โดยเฉพาะ “ศาสตร์พระราชา” จึงทรงบรรลุถึง “ยศอันไพบูลย์” ซึ่งชนทั้งหลายในโลกนี้ได้ยกย่องสรรเสริญในคุณความดีที่ทรงทำไว้แก่มนุษย์นั่นเอง