5+1 สิ่งที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Cryptocurrency

5+1 สิ่งที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Cryptocurrency

5+1 สิ่งที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Cryptocurrency

Cryptocurrency (ผมขอเรียกเป็นชื่อเล่นสั้นๆ ว่าคริปโตฯ เพื่อความสะดวกละกันนะครับ) กำลังเป็นเรื่องฮ็อตทั้งในบ้านเราและต่างประเทศ เพราะเป็นเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาและผลกระทบกับคนทั้งโลกอย่างรวดเร็วที่สุดตัวหนึ่งแล้ว หลายคนมีความกังวลว่าเป็นเรื่องยาก รู้สึกไม่เข้าใจมันซะที ผมอยากบอกว่าไม่ต้องกังวลครับ เพราะแม้แต่ผมที่ทำเรื่องฟินเทค (เทคโนโลยีด้านการเงิน) มาหลายโครงการ และทุ่มเทเวลาในการศึกษาคริปโตฯ มานานยังมีความรู้สึกว่าเป็นมือใหม่อยู่ทุกวันเลยครับ แต่เรื่องคริปโตฯ ก็ไม่ได้เป็นเรื่องยากเกินไป ถ้าลองเปิดใจก็จะรู้ว่าเจ้าสกุลเงินดิจิทัลนี้มีสเน่ห์มากมายทั้งในแง่ความสมัยใหม่ (modern) ของนวัตกรรมเทคโนโลยีที่นำมาใช้ แต่ยังคงมีความคลาสสิคบางอย่างที่ทำให้รู้สึกว่าเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องใกล้ตัวเรา

เสน่ห์ของคริปโตฯ อีกอย่างหนึ่งคือความเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว 24 ชม. ถ้าเปรียบเป็นห้างสรรพสินค้า หรือตลาดก็เปิดซื้อ-ขาย มีโปรโมชั่น sales กันตลอดเวลา เพียงแค่เรานอนหลับแล้วตื่นขึ้นมาตอนเช้า อีกซีกโลกหนึ่งที่เขาทำงานระหว่างเรากำลังหลับก็อาจมีความเคลื่อนไหวที่เปลี่ยนแปลงวงการครั้งใหญ่ เรียกว่าถ้าพลาดการติดตามแม้เพียงไม่กี่ชั่วโมง เราทุกคนจากผู้รู้ก็กลายเป็นไม่รู้ไปได้ง่ายๆ เพราะมีเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้นรายวันรายชั่วโมงสำหรับโลกของคริปโตฯ จึงไม่แปลกที่ความเข้าใจผิดต่อคริปโตฯ เกิดขึ้นบ่อยๆ ซึ่งวิธีที่จะอัพเดทความรู้เรื่องคริปโตฯ ก็คือการอ่านจากหลายๆ แหล่ง และช่วยกันแชร์อธิบายสิ่งที่ถูกต้องต่อๆ กันไป และนี่คือ 5+1 สิ่งที่คนมักจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับคริปโตฯ ที่ผมอยากมาแชร์ในวันนี้ครับ

1. คริปโตฯ = บิทคอยน์

คริปโตฯ ไม่ใช่บิทคอยน์ แต่บิทคอยน์เป็นเพียงคริปโตฯ ตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวแรกที่เกิดขึ้นในโลกและได้รับความนิยมสูงสุด โดยวันนี้บิทคอยน์มี Market Cap สูงถึง 5 ล้านล้านบาท

2. คนก่อตั้งบิทคอยน์เป็นคนญี่ปุ่น

หลายคน Search เจอชื่อ Satoshi Nakamoto เป็นผู้คิดค้นบิทคอยน์เลยเข้าใจว่าเป็นคนญี่ปุ่น ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเพียงนามแฝงที่วันนี้ยังไม่มีใครรู้ตัวตนที่แท้จริงว่าคน (หรือกลุ่มคน) ที่คิดค้นบิทคอยน์คือใคร และเป็นคนสัญชาติอะไรกันแน่

3. ไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ จึงไม่ปลอดภัย

คริปโตฯ อยู่บนเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ตัวกลางในการยืนยันธุรกรรมใดๆ (เช่น การโอนเงิน) โดย Blockchain จะให้ทุกคนในระบบช่วยกันยืนยันธุรกรรมแทนที่จะใช้ตัวกลางเพียงไม่กี่ราย หลายคนจึงมองว่า Blockchain นั้นเป็นระบบที่ไม่มีเจ้าของ ทั้งที่จริงๆ แล้ว Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้ทุกคนที่อยู่ในระบบเป็นเจ้าของร่วมกัน ในระบบตัวกลางเดิมหากตัวกลางมีข้อผิดพลาดระบบหรือธุรกรรมนั้นก็จะมีข้อผิดพลาดทันที ในขณะที่ Blockchain หากมีสมาชิกอยู่ในระบบเป็นหมื่นๆ ราย แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่ทั้งหมื่นรายนี้จะเกิดข้อผิดพลาดพร้อมกัน และหากเปรียบเทียบความยากในการ Hack ทั้งสองระบบนี้ การ Hack หมื่นแห่งย่อมยากกว่าเพียงแห่งเดียวแน่นอน

4. โอนเงินแล้วไม่รู้ไปไหน จึงรู้สึกไม่โปร่งใส

เมื่อเราโอนเงินคริปโตฯ เราจะได้เลขที่การทำธุรกรรมที่ทุกคนสามารถจะนำไป Search ใน Blockchain ได้ว่า การโอนเงินนั้นเกิดขึ้นจากบัญชีต้นทางใด ไปยังบัญชีปลายทางใด เป็นจำนวนเท่าไร และเกิดขึ้นเมื่อใด ซึ่งทุกคนสามารถตรวจสอบเส้นทางการโอนเงินได้ทั้งสาย ในขณะที่ระบบตัวกลางเดิม หากตัวกลางนั้นไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล เราก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ ทั้งนี้ในอดีตความไม่โปร่งใสของคริปโตฯ เกิดจากการที่เราไม่รู้ตัวตนของเจ้าของบัญชีต่างๆ ซึ่งวันนี้หลายประเทศได้กำหนดให้ผู้ใช้มีการยืนยันตัวตนที่แท้จริง (KYC) ก่อนที่จะสามารถเปิดบัญชีได้ ซึ่งเมื่อมีการกำหนดให้ต้องทำ KYC แล้ว การใช้คริปโตฯ ในการทำธุรกรรม จะมีความโปร่งใสยิ่งกว่าระบบเดิมๆ เสียอีก เพราะเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา ทุกคนในระบบก็เห็นธุรกรรม ซึ่งสามารถช่วยกันตรวจสอบได้ และภาครัฐก็สามารถขอให้เปิดเผยตัวตนของเจ้าของบัญชี ไม่ต่างจากเวลาเปิดบัญชีธนาคารเราก็ต้องทำ KYC ซึ่งก็คือไปเซ็น-ยื่นเอกสารด้วยตนเองที่ธนาคาร

5. คริปโตฯ​ ไม่มีค่าเพราะถูกนำมาใช้ไม่ได้

ปัจจุบันนี้หลายประเทศประกาศให้คริปโตฯ เป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าแล้ว โดยมูลค่าขึ้นกับการยอมรับระหว่างบุคคล ซึ่งราคาในตารางการเทรดก็ถือเป็นการยอมรับมูลค่าของคริปโตฯ ทางหนึ่ง วันนี้เริ่มมีร้านค้าที่รับชำระค่าซื้อสินค้าและบริการด้วยคริปโตฯ รวมถึงบางบริษัทที่ออกคริปโตฯ ของตัวเอง (ICO) โดยมีการระบุว่าผู้ที่ซื้อคริปโตฯ ไปจะสามารถนำมาใช้ชำระแทนการซื้อสินค้าหรือบริการกับทางบริษัทได้ บางบริษัทก็ระบุว่าจะได้รับส่วนแบ่งจากผลการดำเนินงานของบริษัทหรือได้รับหุ้นของทางบริษัทก็มี ซึ่งแนวโน้มการยอมรับชำระสินค้าและบริการผ่านคริปโตฯ ก็มากขึ้นทั่วโลก

+1. คริปโตฯ ไม่ถือเป็นการลงทุน เพราะไม่มีรากฐาน (ความเห็นส่วนตัวของผม)

โลกเรามีผู้คิดค้นผลิตภัณฑ์ทางการเงินชนิดใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ ในแต่ละยุคสมัย แต่ละผลิตภัณฑ์ก็มีความเหมาะสมในกรณีต่างๆ กันไป บางผลิตภัณฑ์ถูกนำไปใช้อย่างไม่สมดุลก็เคยทำให้เกิดปัญหาจนเป็นวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลกก็มี เช่นวิกฤต Subprime เกิดจากการที่คนเราไปให้คุณค่ากับการลงทุนในหนี้จนเกินขอบเขตนั่นเอง ทั้งที่มีการสร้างรากฐานจากนักการเงินระดับโลกมากมาย และประโยชน์ของมันก็มีอยู่ตรงที่ทำให้หลายคนเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายขึ้น ก็ยังเกิดข้อผิดพลาด

วันแรกที่แต่ละผลิตภัณฑ์ทางการเงินเกิดขึ้นมา ก็เกิดจากการที่คนเราเนี่ยล่ะครับ เริ่มเห็นประโยชน์ของมัน จนเริ่มยอมรับในวงกว้างและเริ่มกำหนดรากฐานให้มัน แม้กระทั่ง “กระดาษ” ที่ยังใช้แทนเงินสดทุกวันนี้ ก็เริ่มจากการยอมรับโดยคนกลุ่มหนึ่งเมื่อ 1,400 ปีที่แล้ว ถือเป็น “เทคโนโลยี” ที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระหว่างกันที่ใช้มาจนถึงทุกวันนี้

วันนี้คริปโตฯ ซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เกิดจากเทคโนโลยีล่าสุด ก็ต้องการความรู้ความเข้าใจและผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาเพื่อมากำหนดรากฐานให้เกิดประโยชน์สูงสุดและป้องกันปัญหาให้กับเราทุกคนนะครับ