อะไรคือ ICO ที่ถูกต้องและแท้ทรู

อะไรคือ ICO ที่ถูกต้องและแท้ทรู

อะไรคือ ICO ที่ถูกต้องและแท้ทรู

ช่วงนี้บริษัทน้อยใหญ่ทั่วโลกกำลังเร่งหารเงินลงทุนเพื่อประกอบธุรกิจรูปแบบใหม่ และกลุ่มหนึ่งก็เริ่มที่จะตระเวนหาเงินทุนด้วยการสร้างเหรียญ Cryptocurrency ออกมาขาย ที่ในวงการการเงินจะรู้จักกันในชื่อของการ Initial Coin Offering (เรียกสั้นๆว่า ICO) ซึ่งผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย

ด้วยความคาดหวังที่สูงมากของ Distributed Ledger Technology และความสามารถในการเก็งกำไรของเหล่า Cryptoasset ที่มีอยู่อย่างมหาศาล จึงไม่แปลกที่นักลงทุนทั้งรายย่อยและรายใหญ่จำนวนมากจะให้ความสนใจกับกระแส ICO นี้มาก จนผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกต้องออกมาเคลื่อนไหว และตั้งคำถามเกี่ยวกับการระดมทุนในรูปแบบนี้มากขึ้น

ในประเทศไทย ทั้ง ก.ล.ต. ปปง. และ ธปท. ออกมาปรามนักลงทุนส่วนใหญ่และขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ไม่ให้สนับสนุนการทำธุรกรรม Cryptocurrency

แต่นักลงทุนบางท่านหรือผู้ออกเหรียญบางกลุ่ม กลับออกมาให้ความเห็นว่า การเคลื่อนไหวนี้ย้ำชัดว่าผู้กำหนดนโยบายไทยเป็นแค่ไดโนเสาร์ของโลกการเงิน และไม่ทันกับเทคโนโลยีโลก  

แต่ผมอยากให้นักลงทุนมองไปลึกกว่าแค่ว่าคำถามพื้นๆว่า “เทคโนโลยีนี้เป็นอนาคตจริงหรือไม่” หรือ “กิจกรรมนี้ถูกหรือผิดกฏหมายไทย” แต่ทั้งหมดมันอยู่ที่ นักลงทุนต้องมีข้อมูลเพียงพอให้เข้าใจว่ากำลังทำอะไรอยู่และไม่โดนหลอกด้วยเพียงชื่อของเทคโนโลยีหรือความฝันถึงผลของการเก็งกำไรที่สวยหรู

ยิ่งในประเทศที่ไม่ได้มีเทคโนโลยีก้าวหน้ามาก ยิ่งต้องระวังอย่างที่สุด

ตัวอย่างล่าสุดที่บางบริษัทในไทย พยายาม ICO และประกาศว่าเหรียญมีอนาคตมากมาย แต่พอเข้าไปดูใน White Paper ที่ควรจะเป็นการอธิบายโครงสร้างและความสามารถของเหรียญ กลับกลายเป็นการเอารายงานประจำปีของบริษัทเข้ามาใส่ และอ้างว่าเหรียญจะทำหน้าที่เสมือนการแชร์กำไรจากการดำเนินงาน ชัดว่าเรากำลังถูกชื่อ ICO เป็นตัวล่อ และเป้าหมายที่แท้จริงของเหรียญก็ไม่ใช่การพัฒนาเทคโนโลยี แต่เป็นแค่การระดมทุนนอกตลาดที่ไร้การกำกับและไร้ความโปร่งใส

แล้วในประเทศพัฒนาแล้วมีการกำหนดกันอย่าง “ชัดเจน” ในเรื่องระเบียบของ ICO แล้วหรือไม่

ตอบได้ทันทีว่า “มีแล้ว” ครับ ที่น่าสนใจที่สุดคือหลักเกณฑ์ ICO ของสำนักงานกำกับตลาดการเงินในสวิตเซอร์แลนด์หรือ Financial Market Supervisory Authority (FINMA) ที่เรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางของภาคการธนาคารโลกในปัจจุบัน และมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางของโลกสำหรับธุรกรรม Cryptoasset ในอนาคต

FINMA ตั้งข้อกำหนดและระเบียบของ ICO ซึ่งมีใจความสำคัญสามประการคือ (1) การออก ICO ต้องมีความชัดเจนว่าไม่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินและไม่ผิดกฎหมายหลักทรัพย์ (2) เหรียญที่ออกต้องมีความชัดเจนว่าจัดอยู่ในกลุ่มใดโดยแบ่งเป็นสามกลุ่มคือการใช้จ่าย (Payment token) สินทรัพย์ (Asset token) หรือสาธารณูปโภค (Utility token) และ (3) ต้องระบุให้ชัดเจนว่านักลงทุนจะต้องรับความเสี่ยงประเภทใดบ้างในการลงทุนหรือเก็งกำไรเหรียญนั้นๆ

การจะเป็น Payment token ก็ต้องบอกได้ว่ามีความได้เปรียบการเงินปรกติอย่างไร ขั้นตอนการเปลี่ยนมือเป็นอย่างไร และสามารถป้องกันการฟอกเงินได้อย่างไร

พอเป็น Asset token ก็ต้องสามารถบอกได้ว่ารายได้ที่นักลงทุนจะได้มีความเหมือนหรือต่างอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบได้กับสินทรัพย์ปรกติเช่นหุ้น บอนด์ หรืออนุพันธ์ และปันผล ดอกเบี้ย หรือสิทธ์จะได้มาอย่างไร ตรวจสอบอย่างไร และเป็นไปตามกรอบของกฎหมายหรือไม่

ขณะที่เมื่อเป็น Utility token ก็ต้องสามารถบอกได้ว่าเหรียญนี้แลกเปลี่ยนได้กับการบริการอะไร รูปแบบการใช้ประโยชน์เป็นแบบไหน ใช้ได้เมื่อไหร่

และทุกเหรียญต้องมีความชัดเจนว่าอยู่กลุ่มไหนไม่ใช่เหรียญสารพัดประโยชน์ที่ทำให้นักลงทุนสับสน

สำหรับนักลงทุนไทยอย่างเรา ผมคิดว่าทางที่ดีที่สุดคือ “รอ” และ “จับตา” แนวโน้มการเคลื่อนไหวของเทคโนโลยีการเงินโลกอยู่ห่างๆ และ “ยอมรับ” ว่าประเทศเราไม่ได้มีศักยภาพในการเป็นตัวนำในเทคโนโลยีนี้

ตอนนี้ธนาคารกลางหลักทั้งในทวีปยุโรปและอเมริกาใกล้ที่จะประสบความสำเร็จในการร่วมมือกันสร้างเหรียญของตัวเองขึ้นมาแล้ว และมีความเป็นไปได้สูงมากที่เทคโนโลยีดังกล่าว จะเป็นจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของการพัฒนาภาคการเงินในยุคใหม่

แต่สำหรับนักลงทุนหรือผู้ประกอบการณ์ที่สนใจใน ICO ผมเชื่อว่าแนวทางในแบบสวิตเซอร์แลนด์ที่พึ่งนำเสนอไปเป็นตัวอย่างที่ดี นักลงทุนและภาคธุรกิจที่กำลังคิดจะพัฒนาเหรียญ ควรเตรียมพร้อมที่จะ “ตั้ง” และ “ตอบ”  คำถามของ FINMA ให้ได้หมดเสียก่อน

นอกจากนี้ทุกคนควรต้องมีความระมัดระวังกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ขนาดที่สามารถเป็นรากฐานใหม่ของโลกได้ด้วย เพราะความถูกผิดในการตัดสินใจจะมีผลตามมาอย่างใหญ่หลวง

ผมยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดคือในภาคขนส่ง เราเปลี่ยนจากรถม้า ขุดคลองแล่นเรือ สร้างถนน ปั่นจักรยาน สร้างราง นั่งรถจักรไอน้ำ จนมาถึงรถยนต์ใช้น้ำมัน อนาคตอาจเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้า ระหว่างเปลี่ยนถ่ายมีเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นและดับไปมากมาย เชื่อว่าถ้าเลือกได้ทุกคนคงอยากลงทุนไปกับเทคโนโลยีที่จะเป็นรากฐานใหม่สำหรับอนาคตเท่านั้น

ICO ก็เช่นกัน ถ้ามีเทคโนโลยีดีที่สุดในโลก ทำไมไม่ไปต่อยอดที่เหล่าประเทศศูนย์กลางที่มีฐานลูกค้ามหาศาล ถ้ามีธุรกิจที่ดีมากทำไมไม่กล้าที่จะเปิดเผยในรูปแบบปรกติ หรือ ถ้าเพียงต้องการให้มีการเก็งกำไร ทำไมไม่เลือกไปประเทศที่มีรายได้สูงและมีนักลงทุนที่ร่ำรวยหรือฉลาดมากกว่านี้

ทั้งหมดเป็นคำถามที่ผู้ออก ICO ต้องตอบให้ได้และกล้าเรียก ICO ของตนเองว่าเป็น “ของแท้” ให้ได้ ก่อนที่จะกลับมาตั้งคำถามว่าผู้กำหนดนโยบายไทยตามเทคโนโลยีนี้ทันหรือไม่