ICO = Crypto Asset ไม่ใช่ Currency 

ICO = Crypto Asset ไม่ใช่ Currency 

หนึ่งในข้อสงสัยเกี่ยวกับวงการเงินดิจิทัลในช่วงที่ผ่านมา นอกเหนือจากความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Bitcoin และ Blockchain ว่าเป็นเรื่องเดียวกัน

แล้วยังมีอีกประเด็นที่ผู้เขียนอยากจะอธิบายให้กระจ่างชัด เพราะดูจะมีผู้ตีความไปอย่างเข้าใจผิดและเหมารวมว่าเป็นเรื่องเดียวกันพอสมควร 

นั่นคือความเข้าใจว่า Token ที่เกิดจากการทำ ICO คือ Crypto Currency ที่สามารถนำไปใช้แลกเปลี่ยนสินค้าแทนเงินได้ แท้จริงแล้วหากไปดูวัตถุประสงค์ของการทำ ICO จนทำให้เกิดเหรียญดิจิทัลจำนวนเป็นพันๆเหรียญทั่วโลก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพื่อใช้เป็น Utility หรือสื่อกลางเพื่อใช้สินค้าและบริการ อย่างเช่น ใช้เป็นสื่อกลางในการทำ Smart Contact , ใช้เป็นสื่อกลางในการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ , ใช้ซื้อขายพลังงาน  ฯลฯปัจจุบันเริ่มมีหนังสือหรือสื่อที่นิยามคำว่า Crypto Asset หรือสินทรัพย์ดิจิทัลเกิดขึ้นมาแล้ว

ส่วนคุณสมบัติของเหรียญดิจิทัลที่นำมาใช้เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนเงินตรากับสินค้า เอาจริงแล้วยังไม่มีเหรียญใดๆที่มีคุณสมบัติตรงๆ อย่างเช่นRipple (XRP) จริงแล้วใช้เป็นเพียงแค่ “สื่อกลาง” ในการโอนเงินระหว่างFiat Currency ด้วยกันให้สะดวกและรวดเร็วเท่านั้นไม่ได้ทำหน้าที่แทนเงินโดยตรง

แม้แต่ Bitcoin ที่หลายประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่นรับรองให้สามารถใช้แทนเงินและชำระหนี้ได้ มุมมองส่วนตัวของผู้เขียนคิดว่า Bitcoin ไม่น่าจะนำมาใช้เป็น Currency หรือสกุลเงินแม้จะนำมาใช้เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยน แต่น่าจะเป็น “ทองคำ” ในยุคดิจิทัลมากกว่า เพราะคุณลักษณะของมันที่คล้ายกับทองคำ เช่น ถูกขุดขึ้นมาเหมือนกัน (แม้จะเหมืองคนละแบบ) มีความเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทั่วโลกยอมรับในราคาเดียวกันและได้รับการยอมรับให้เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนสินค้าได้เช่นเดียวกับการใช้ทองคำในอดีต 

ผู้เขียนมองว่าอาจจะมีเพียงแค่ Bitcoin เพียงสกุลเดียวที่จะได้รับการยอมรับให้เป็นสื่อกลางแทนที่ Fiat Currency หรืออย่างมากก็จะมีอีกเพียงแค่หนึ่งสกุลเท่านั้น เพราะ ETH ซึ่งเป็น Crypto ที่ได้รับความนิยมอันดับสองก็ชัดเจนแล้วว่ามีคุณสมบัติในการนำมาใช้งาน Smart Contact ไม่ได้จะนำมาใช้แทนเงิน

หากในอนาคต แต่ละประเทศหันมาออกสกุลเงินดิจิทัลของตัวเอง เมื่อนั้นอาจจะนิยามได้ว่ามันคือ Crypto Currency อย่างแท้จริง ซึ่งตอนนี้เริ่มมีหลายประเทศแล้วที่ทำขึ้นอย่างเวเนซูเอล่าและหลายประเทศกำลังศึกษา

กลับมาที่ ICO ในเมื่อชี้ชัดได้ว่าไม่ได้มีคุณสมบัติของการเป็นสื่อกลางแทนเงินจึงควรนิยามมันว่าสินทรัพย์การลงทุนมากกว่าและการที่สำนักงานกลต.เข้ามากำกับดูแลจึงเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว อย่างไรก็ตามการเข้ามากำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลควรจะดำเนินในรูปแบบของบูรณาการ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยและปปง. ร่วมกันกำกับน่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว จากเดิมที่นโยบายของแต่ละหน่วยงานดูจะไปกันคนละทิศคนละทาง

ผู้เขียนยังมองว่าการทำ ICO อย่างไรก็มีประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจจริงนอกเหนือจากผลตอบแทนที่ดึงดูด การกำกับดูแลที่ไม่ตึงและหย่อนเกินไปน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดครับ