Thailand 4.0 แต่ไม่ใช่ Made in Thailand

Thailand 4.0 แต่ไม่ใช่ Made in Thailand

ลงนามเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับ Trans-Pacific Partnership หรือ TPP ที่ก่อนหน้านี้เป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง 12 ประเทศ

ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจนับรวมเป็น 50% ของ GDP โลกและ 36% ของการค้าโลก

ถึงแม้สหรัฐจะได้ถอนตัวไปแต่ 11 ประเทศที่เหลือยังคงร่วมผลักดัน TPP จนประสบความสำเร็จ

หนึ่งในนัยที่สำคัญในยุคแรกของ TPP คือภูมิศาสตร์การเมืองระหว่างสหรัฐและประเทศจีนซึ่ง TPP คือความพยายามที่จะทำให้ 11 ประเทศมีความใกล้ชิดกับสหรัฐมากกว่าประเทศจีน

แต่อีกหนึ่งนัยที่สำคัญที่มักมิได้มีการพูดถึง คือ เงื่อนไขที่ห้ามประเทศสมาชิกบังคับการทำ Technology Transfer เพื่อแลกกับการเข้าสู่ตลาด

ยกตัวอย่างเช่น หาก Google ซึ่งเป็นบริษัทของสหรัฐมีความประสงค์ที่จะเข้าสู่ตลาด AI ของมาเลเซีย แต่มาเลเซียกลับแจ้ง Google ว่า จะให้บริการ AI ได้แต่ต้องแลกเปลี่ยนกับการทำ Technology Transfer อาทิเช่น สอนคนมาเลเซียความลับทางเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ AI

ข้อบังคับของTPPจะห้ามมาเลเซียกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวกับ Google 

Technology Transfer เป็นหนึ่งในวิธีการสำคัญที่จะทำให้ประเทศที่ด้อยพัฒนากว่าทางเทคโนโลยีสามารถมีการพัฒนาเพื่อไล่ทันประเทศที่พัฒนาแล้ว การที่ TPP กำหนดการห้ามบังคับTechnology Transfer นั้นเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของประเทศมหาอำนาจอย่างชัดเจนว่าไม่มีความประสงค์ที่จะช่วยเหลือประเทศอื่นให้ร่วมพัฒนาทางเทคโนโลยีไปด้วยกัน

ในปัจจุบันจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการบังคับทำ Technology Transfer มากที่สุดเพื่อแลกกับการที่ประเทศที่มีเทคโนโลยีสูงกว่าจะสามารถเข้าไปทำตลาดในประเทศจีนและได้ดำเนินการอย่างประสบความสำเร็จมาเป็นเวลากว่าทศวรรษแล้ว จนกระทั่งรัฐบาลของสหรัฐภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์ เกิดข้อวิตกว่า Technology ของสหรัฐที่ถูกTransferไปประเทศจีนนั้นมีมากเกินไป จนอีกไม่นานจีนจะไล่ทันและมีความเหนือชั้นทางเทคโนโลยีมากกว่าสหรัฐ

หนึ่งในนโยบายปัจจุบันของประธานาธิบดีทรัมป์ คือ การป้องการไม่ให้เทคโนโลยีของสหรัฐถูก Transfer ไปให้ประเทศจีนมากกว่านี้

ทั้งนี้ วิธีการของจีน สอดคลองกับนโยบาย Made in China 2025 ของรัฐบาลจีนที่กำหนดให้จีนต้องเป็นผู้ผลิตและเจ้าของเทคโนโลยีหลักที่ใช้ในระบบอุตสาหกรรมและเพื่อการพัฒนาประเทศโดยจะไม่ใช้การนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศและให้ชาวจีนเป็นเพียงแต่ผู้ใช้งานเทคโนโลยีอีกต่อไปแล้ว

เป็นการต่อยอดจากแนวคิด Industry 4.0 ของนานาอารยประเทศจากเมื่อหลายปีก่อนที่เป็นการนำเทคโนโลยีออโตเมชั่นและสมองกลมาใช้กับระบบอุตสาหกรรมแต่สำหรับ Made in China 2025 ชาวจีนต้องเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเหล่านั้นด้วย

อย่างไรก็ดี การทำ Technology Transfer ให้ได้อย่างจีนไม่เพียงแต่จะต้องอาศัยนโยบายและกฎหมายที่แข็งแกร่งแต่บุคลากรของประเทศต้องมีความพร้อมอีกด้วยเพื่อที่จะสามารถรับTechnologyที่ถูกTransferมาและนำไปต่อยอดได้อย่างสำเร็จ

การเตรียมความพร้อมของบุคลากรไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ชั่ววันชั่วคืนแต่ต้องอาศัยการปฏิรูปและการวางแผนอย่างหนักแน่นและถูกต้องเป็นเวลากว่าทศวรรษ

สำหรับประเทศไทยเองไม่ว่าจะเป็น Digital Thailand หรือ Thailand 4.0 ก็ล้วนมาถูกทางแล้วแต่ตอนนี้ประเทศจีนได้ไปอีกขั้นหนึ่งนั่นก็คือการเป็นผู้ผลิตและเจ้าของเทคโนโลยีหลักเพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศ

ซึ่งในปัจจุบันแม้ว่าเราจะทำสำเร็จในการพัฒนาให้ประชากรเกือบทั้งประเทศได้เข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลแต่เทคโนโลยีที่เป็นของคนไทยเองกลับมีอยู่น้อยมากซึ่งจะทำให้เรายังคงมีความเสียเปรียบยืมจมูกคนอื่นหายใจและไม่มีความเป็นอิสระภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองดังเช่นที่กฎหมายไทย ไม่สามารถควบคุมสื่อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เช่น โซเชียลมีเดีย ได้อย่างทุกวันนี้