อภินิหารของ... บทเฉพาะกาล

อภินิหารของ... บทเฉพาะกาล

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่ ที่สรุปง่ายๆ ว่ากรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันที่ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ เพราะเขียนยกเว้นไว้ใน "บทเฉพาะกาล" ทำให้น่าคิดเหมือนกันว่า "บทเฉพาะกาลในกฎหมายฉบับต่างๆ นี่สามารถเขียนอะไรก็ได้หรือ

เพราะมองแบบไม่ซับซ้อนก็คือ "กฎหมายลูก" หรือในทางทฤษฎีนิติศาสตร์เรียก "กฎหมายลูกบท" มันไม่ควรมีข้อความใดขัดหรือแย้งกับ "กฎหมายแม่บท"อย่างรัฐธรรมนูญ

บทเฉพาะกาลในความเข้าใจของคนที่เรียนกฎหมายทั่วไป น่าจะหมายถึงแค่การเขียนป้องกันไม่ให้เกิด "สุญญากาศ" ในการปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น ไม่ใช่เขียนเป็น "ข้อยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หรือแม้แต่ไม่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญก็ได้

เพราะถ้าทำอย่างนั้นได้ ทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายก็ปราศจากความศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจาก "บทเฉพาะกาลมีศักดิ์ทางกฎหมายสูงกว่าเสียอีก

ยิ่งไปกว่านั้น หากกล่าวเฉพาะกรณี "กฎหมายลูก" หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งของกรรมการในองค์กรอิสระต่างๆ คำถามที่เกิดขึ้นมาตลอดก็คือ "มาตรฐาน" ของ สนช.อยู่ตรงไหน เพราะกฎหมาย กกต. ให้ "เซ็ตซีโร่" กรรมการทั้งหมด โดยอ้างไม่อยากให้มี "ปลาสองน้ำ" แต่กฎหมาย ป.ป.ช.กลับเขียนให้กรรมการชุดเดิมอยู่ต่อ ทั้งๆ ที่น่าเชื่อว่าขาดคุณสมบัติมากถึง 7 คนจาก 9 คน นี่ยังไม่รวมกฎหมายกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอีก

และถ้ามองแบบไม่ซับซ้อนอีกที ถ้าเผื่อ "บทเฉพาะกาล" มีอภินิหารขนาดนี้ แล้ว สนช.เตรียมจะยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายลูกว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.อีกทำไม เพราะยื่นตีความไป ก็น่าจะไม่ขัดรัฐธรรมนูญ (เพราะจะว่าไปตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนก็ได้ประโยชน์จากการยกเว้นคุณสมบัติเช่นกัน)

หรืองานนี้ยื่นตีความด้วยเหตุผลอื่น เช่น ตีฝุ่นให้ตลบเข้าไว้ เผื่อเป็น "ข้ออ้างสำรอง" ให้การเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไปอีก

ยุคนี้สมัยนี้ต้องบอกว่า ผู้มีอำนาจจะเขียนอะไรในกฎหมายก็ได้ เพราะถึงขั้นยืดเวลาบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งออกไปอีก 90 วันก็ยังทำมาแล้ว แสดงว่าเป็นยุคที่"หลักนิติรัฐ-นิติธรรม" ต้องหลบไป เพราะการแสวงประโยชน์ทุกทางจากกฎหมาย...สำคัญที่สุด!