Resilience...แพ้ศึกไม่ย่อท้อมุ่งมั่นชนะสงคราม

Resilience...แพ้ศึกไม่ย่อท้อมุ่งมั่นชนะสงคราม

ทุกคนสามารถสร้างให้ตัวเองมี Resilience ได้หากยึดถือปฏิบัติในหลักการ 3Cs

เมื่อไม่นานมานี้ผมได้รับเชิญจากบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เพื่อไปบรรยายให้คณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฟังเรื่อง Civil Liability and Class Action ภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์ โดยมีสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ซึ่งผมเคยไปช่วยเป็นวิทยากรให้มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเป็นผู้ประสานงาน

กรรมการของบริษัทท่านหนึ่งที่เข้าร่วมฟังการบรรยายในวันนั้นได้ส่งยิ้มทักทายให้ผมมาตั้งแต่ผมเดินเข้าห้องประชุมบอร์ดซึ่งใช้เป็นสถานที่บรรยายในวันนั้น และได้เดินออกมาส่งผมเมื่อจบการบรรยายพร้อมกับคุณเทวินทร์ วงศ์วานิช (ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) ซึ่งเข้าร่วมฟังการบรรยายด้วย) กรรมการท่านนั้น คือ ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย (ศจ. วุฒิสาร) เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งเป็นเพื่อนนักเรียนของผมตั้งแต่สมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

ศจ. วุฒิสาร เป็นเพื่อนนักเรียนคนแรกๆ ที่ผมรู้จักเมื่อเข้าเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เพราะเราทั้งสองคนต่างถูกจัดให้อยู่ห้อง 1 ของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 (เรียกกันว่าห้องคิงโดยคัดนักเรียนเข้ามาอยู่ห้องนี้ตามคะแนนสอบเข้าในปีนั้น) และเรามีที่นั่งในห้องเรียนอยู่ใกล้ๆ กัน ผมจำได้ว่าผมตื่นเต้นกับเพื่อนใหม่มากโดยเฉพาะเพื่อนที่มาจากโรงเรียนต่างจังหวัด เพราะผมเป็นเด็กนักเรียนกรุงเทพฯ ขนานแท้มาจากโรงเรียนที่เพื่อนทุกคนล้วนเป็นเด็กกรุงเทพฯ (โรงเรียนปานะพันธ์วิทยาตั้งอยู่ช่วงต้นถนนลาดพร้าวซึ่งปัจจุบันเลิกกิจการไปแล้ว) และเพื่อนที่มาจากโรงเรียนต่างจังหวัดซึ่งมีจำนวนมากพอสมควรรวมทั้ง ศจ. วุฒิสาร ด้วยนั้น ล้วนแต่เป็นนักเรียนที่สอบไล่ได้ที่ 1 หรือที่ต้นๆ ของจังหวัดในชั้นประถมศึกษาตอนปลายกันมาทั้งสิ้น

ในฐานะที่เป็นเพื่อนกัน ผมทราบดีถึงความผูกพันและทุ่มเทที่ ศจ. วุฒิสาร มีกับเรื่องพัฒนาการของการกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย โดย ศจ. วุฒิสาร ได้ทำเรื่องนี้ต่อเนื่องมายาวนาน ตั้งแต่ช่วงของการริเริ่มโอนถ่ายอำนาจการปกครองซึ่งเดิมเป็นแบบรวบอำนาจอยู่ที่ส่วนกลางไปยังส่วนท้องถิ่น ซึ่งเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย ครั้งแรกตามแนวคิดการกระจายอำนาจที่บัญญัติขึ้นไว้ในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ซึ่งในยุคนั้นถือเป็นเรื่องใหม่ ใหญ่ และยาก ดังนั้น นอกจากงานสร้างหลักเกณฑ์ในรายละเอียดเพื่อให้แนวคิดนี้เกิดขึ้นได้จริงแล้ว ในยุคนั้น ศจ. วุฒิสารและคณะทำงานยังต้องทำการเจรจาต่อรองและเดินสายให้ความรู้แก่บุคคลและคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องในหลายประเด็นด้วย จากการทำงานได้สำเร็จเป็นที่น่าพอใจ เมื่อรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 ได้วางแนวคิดเรื่องการให้ท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการจัดบริการสาธารณะด้วยนั้น ศจ. วุฒิสาร จึงได้เข้ามารับบทบาทสำคัญเช่นเดิมอีก

ในเรื่องงานเกี่ยวกับการกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทำมานั้น ศจ. วุฒิสาร เล่าว่ามีเรื่องสำคัญที่ทำสำเร็จไปก็มาก และที่ยังค้างคาอยู่ก็มีอีกไม่น้อย แต่เปรียบได้กับการแพ้ศึกไปบ้างบางครั้งแต่ชนะสงคราม ตามสำนวนฝรั่งที่ว่า lost the battle but won the war เพราะประสบความสำเร็จในเรื่องที่สำคัญที่สุดคือทำให้การกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหลักการที่ฝังลึกอย่างมั่นคงในระบบการปกครองของประเทศไทย ส่วนสิ่งที่ยังทำให้เกิดขึ้นไม่ได้หรือทำให้เกิดขึ้นได้แล้วแต่ยังไม่ดีพอก็ต้องมุมานะทำกันต่อไป ตราบใดที่คนทำงานยังยืนหยัด เชื่อมั่น และศรัทธา ความสำเร็จก็น่าจะเกิดขึ้นได้

คนที่ทำงานแบบ 'แพ้ศึกไม่ย่อท้อ ... มุ่งมั่นชนะสงคราม' เช่นเดียวกับ ศจ. วุฒิสาร นี้ถือว่ามีคุณสมบัติที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Resilience คือการไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคและมุ่งมั่นที่จะสู้ต่อไปจนกว่าจะได้สิ่งที่ต้องการหรือทำงานสำเร็จ ซึ่งคนที่ขาด Resilience จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานหรือแม้กระทั่งในการใช้ชีวิตได้ยากไม่ว่าจะมีความเฉลียวฉลาดเพียงใด ซึ่งนี่คือคำตอบว่าเหตุใดนักเรียนคะแนนสูงมีประวัติการเรียนดีเด่นหลายคนจึงไม่ประสบความสำเร็จตามที่ควรจะเป็น

ทุกคนสามารถสร้างให้ตัวเองมี Resilience ได้หากยึดถือปฏิบัติในหลักการ 3Cs ต่อไปนี้อย่างแน่วแน่ คือ Commitment (ต้องมีความทุ่มเทให้กับเรื่องที่จะทำอย่างแท้จริง) Control (ต้องไม่หวั่นไหวกับสิ่งที่เกิดขึ้นหรือกำลังเผชิญอยู่) Challenge (ต้องมองปัญหาเป็นความท้าทายไม่ใช่อุปสรรค) (จากหนังสือ Resilience at Work เขียนโดย Salvatore R. Maddi และ Deborah M. Khosha

Resilience ทำให้ผมนึกถึงคำกล่าวของ Ralph Waldo Emerson ที่ว่า 'Our greatest glory is not in never failing, but in rising up every time we fail.'

www.facebook/Weerawong: Wonderful Ways