จับตาคดียักยอก ธนาคารมหานคร

จับตาคดียักยอก ธนาคารมหานคร

เจอคลื่นใต้น้ำไปเต็มๆ สำหรับ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ซึ่งออกคำสั่งห้ามผู้คุม-เมียผู้คุม ขายของให้กับนักโทษในเรือนจำ

ดีเดย์ 1 พ.ค. นี้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีผลประโยชน์ทับซ้อนและปิดช่องทางไม่ให้มีการลักลอบนำสิ่งของต้องห้ามเข้าไปในเรือนจำ หลังคำสั่งถูกประกาศออกไป กระทบถึงผู้เกี่ยวข้องมากกว่า 4,000 คน เงินรายได้เดือนละ 100 ล้านบาท จึงเป็นธรรมดาที่ต้องมีแรงกระแทกกลับ

สถานการณ์ตอนนี้จึงได้แต่ให้กำลังใจเดินหน้าในแนวทางที่ถูกต้อง การหารายได้เสริมเป็นสิ่งที่กระทำได้ แต่ต้องไม่ให้เป็นผลประโยชน์ขัดกัน และต้องเหลียวมองดูเพื่อนข้าราชการอื่นๆด้วย อาชีพครูก็ไม่สามารถนำข้อสอบมาขายให้นักเรียนเป็นรายได้เสริม ขณะที่อาชีพแพทย์ก็ไม่เหมาะที่จะปรุงยาออกมาขายให้กับผู้ป่วยเสียเอง เช่นเดียวกัน ผู้คุมก็ไม่ควรทำอาหารมาขายนักโทษ ในหลักการนักโทษต้องกินอาหารที่ทางราชการจัดให้ หากจะอะลุ้มอล่วยให้ซื้อจากแหล่งอื่นก็ต้องจัดเป็นระบบสวัสดิการเรือนจำอย่างเป็นทางการ ไม่ใช่ทำกันเป็นเรื่องส่วนตัว

จับตาคดีฟอกเงินจากการยักยอกทรัพย์ธนาคารมหานคร จากการโอนย้ายเปลี่ยนแปลงสภาพทรัพย์สิน ซึ่งอายุความในคดีอาญายิ่งกระชั้นเข้ามา หลังตรวจพบความผิดตั้งแต่ 14 พ.ย. 2546 พร้อมดำเนินการยึดทรัพย์ทางแพ่งจนกระทั่งศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินไปแล้ว แต่ความผิดทางอาญาจากการฟอกเงินเพิ่งเริ่มขยับ ปปง.ส่งฝ่ายกฎหมายเข้าหารือดีเอสไอและปอศ. เพื่อเปิดฉากร้องทุกข์กล่าวโทษ ซึ่งภาระหนักจะตกอยู่กับการสอบสวนภายในเวลา 8 เดือน หมิ่นเหม่ที่คดีจะขาดอายุความสูง

หลังศาลยุติธรรมไทย เริ่มใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นกำไลข้อเท้า EM มาสวมใส่ ให้กับผู้ต้องหาหรือจำเลยแทนหลักทรัพย์ในการประกันตัวชั้นฝากขังหรือพิจารณาคดี ตั้งแต่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ด้วยงบประมาณ 80ล้านบาท สำหรับกำไล 5,000 ชุด ในศาลนำร่อง 23 แห่ง พร้อมศูนย์ควบคุมการติดตามตัวผ่านระบบสัญญาณดาวเทียมและมือถือที่ตั้งอยู่ใกล้ศาลอาญา รัชดาฯ โดนอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา นายบุญชู ทัศนประพันธ์ ถึงกับต้องลงจากห้องทำงานชั้น 10 มาห้องควบคุมใต้ถุนศาล ร่วมควบคุมการติดกำไล ด้วยตนเอง พร้อมแจงยิบทุกขั้นตอนให้นักข่าวเข้าใจง่ายขึ้น เรียกว่า ศาลคุ้มครองทั้งสิทธิผู้ต้องหา-จำเลยที่ยากจนควรได้ประกัน ตามสโลแกน ศาลเป็นที่พึ่งของประชาชน

โดย... มังคุด