มหาวิทยาลัยกับสังคม?

มหาวิทยาลัยกับสังคม?

มหาวิทยาลัยคิดอะไรอยู่ในวันนี้ มหาวิทยาลัยใหญ่ คิดเพียงอย่างเดียวคือการไต่ลำดับชั้นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก

 (ซึ่งก็คิดในเรื่องการพิมพ์ผลงานในระดับนานาชาติเพียงด้านเดียว ไม่ยอมคิดด้านอื่นๆ เช่น ด้านสัดส่วนอาจารย์กับนักศึกษา เพราะกลัวว่าจะต้องจ้างอาจารย์เพิ่ม จึงหันมาขูดรีดแรงงานของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย)

ส่วนมหาวิทยาลัยเล็กๆ ก็คิดกันหนักมากกับการขวนขวายดึงเอาเด็กนักเรียนมาเรียนเพื่อที่จะได้มีเงินมาบริหารมหาวิทยาลัย เพราะในช่วงหลังนี้ มหาวิทยาลัยชั้นนำในกรุงเทพก็ได้เข้ามาสร้างเวทีการแย่งชิงเด็กนักเรียนในภูมิภาครุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมา

คำถามว่า มหาวิทยาลัยควรมีบทบาทต่อสังคมอย่างไร จึงหายไปกับสายลม

ช่วงเวลาก่อนการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาในทศวรรษ 2500 คำกล่าวทำนองว่า “ มหาวิทยาลัยควรมีบทบาทอย่างไรต่อสังคม” เป็นเรื่องที่ฮิตกันมาก นักคิด นักเขียน ปัญญาชนอาวุโสที่มีบทบาทสำคัญๆ ในวันนี้ ล้วนแล้วแต่มีส่วนในการสร้างคำถามนี้ต่อสังคมในวันนั้นเกือบทุกคน

ในวันนี้ มีความเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างลึกซึ้ง ซึ่งมหาวิทยาลัยควรจะได้สร้างความรู้เพื่อให้สังคมไทยได้ปรับตัวอย่างมีประสิทธิภาพ แต่เพราะมัวแต่คิด 2 เรื่องข้างต้นจึงมองไม่เห็น

ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญประการแรก คือ การไหลเวียนเปลี่ยน ชนชั้น ของนักศึกษา การเคลื่อนย้ายทางสังคมเศรษฐกิจในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้ลูกหลานของคนรวย 10% ของประชากร ไม่สนใจจะเรียนในมหาวิทยาลัยใหญ่ของรัฐ หรือที่สำคัญ พวกเขาไม่ได้สนใจเรียนในเมืองไทยอีกแล้ว พวกเขาไปเรียนต่างประเทศ ส่งผลทำให้ลูกหลานชนชั้นกลางเก่าที่เดิมอาจจะเรียนมหาวิทยาลัยที่ลดลั่นลงมาได้เข้าไปแทนที่ในมหาวิทยาลัยชั้นนำ ส่วนลูกหลานพี่น้องคนชั้นกลางใหม่ ที่เดิมอาจจะไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัย ก็เข้ามาแทนที่ตามมหาวิทยาลัยเล็กๆ ตามภูมิภาค

หากคิดเฉพาะเด็กที่เรียนในเมืองไทยก็จะพบว่า ความปรารถนาในชีวิตของคน 2 กลุ่มนี้ไม่เหมือนกัน และเส้นทางชีวิตของพวกเขาก็แตกต่างกัน แต่มหาวิทยาลัยกลับไม่รู้และไม่สามารถตอบสนองความแตกต่างนี้ได้

ความเปลี่ยนแปลงประการที่ 2 คือ ความเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจและสังคม ระบบเศรษฐกิจในสังคมไทยซ้อนกันอยู่อย่างน้อย 2 ระบบ ได้แก่ ระบบเศรษฐกิจการผลิตจริงที่เป็นทางการ เช่น บริษัท ห้างร้านต่างๆ กับ ระบบเศรษฐกิจไม่เป็นทางการที่ไหลเลื่อน ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า GIG Economy

ลูกหลานชนชั้นกลางเก่าที่มีทุนมากพอสมควรแล้วปรารถนาที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบ GIG ซึ่งต้องการการเรียนการสอนที่ให้เสรีภาพอิสระในการคิดนอกกรอบ ในขณะที่ลูกหลานชั้นกลางใหม่ที่เข้ามหาวิทยาลัยยังคงต้องการทำงานในระบบที่เป็นทางการ เช่น ข้าราชการ พนักงานบริษัท

มหาวิทยาลัยจะสร้าง บัณฑิต ที่มีศักยภาพทั้ง 2 ด้านได้อย่างไร หากไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญนี้

มหาวิทยาลัยยังคงคิดแบบเดิมและผลิตคนมาแบบเดิม หรือ อย่างมากก็บอกเพียงแค่ว่าต้องผลิตบัณฑิตให้ตอบสนองต่อ ตลาด โดยที่ไม่รู้ว่า “ตลาด” เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากมายแล้ว รวมทั้งในหลายครั้ง ชี้ให้เห็นว่าไม่มีความเข้าใจว่า “ตลาด” คืออะไร ( ฮา )

กล่าวได้ว่า มหาวิทยาลัย งุ่มง่าม กว่าเดิมในการทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคม และความ “งุ่มง่าม” เช่นนี้ก็ยิ่งทำให้มหาวิทยาลัยมีสภาพเป็น ไส้ติ่ง ของสังคม ที่จะตัดทิ้งหรือปล่อยให้ห้อยดุ๊กดิ้กในท้องของเราต่อไปก็ได้

การที่มหาวิทยาลัยไม่สามารถตอบอะไรให้แก่สังคมมากเพราะรู้ไม่เท่าทันความเปลี่ยนแปลง ก็เพราะการออกนอกระบบราชการที่เกิดขึ้นไม่ได้การสร้างความเป็นอิสระจากระบบราชการ มหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบราชการทอดตัวลงอยู่ภายใต้อำนาจของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งได้สร้างกฎเกณฑ์ต่างๆ มาควบคุมมหาวิทยาลัยอย่างเข้มงวดกว่าเดิมเสียอีก

ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็พร้อมใจอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ สกอ. ก็เพราะไม่กล้าที่จะสร้างสรรค์อะไรที่เป็นอิสระจริงๆ โดยเดินตาม สกอ. เพื่อที่จะรักษาตัวรอดให้ปลอดภัยอย่างน้อยในสมัย/วาระที่ได้รับการสรรหามาดำรงตำแหน่ง ทั้งๆ ที่ก็รู้สึกอยู่ว่า สกอ. ทำอะไรเหลวไหลไร้สาระมากมาย และที่สำคัญ หากมีความกล้าหาญมากขึ้นอีกสักหน่อย ก็จะเห็นได้ว่าอำนาจของผู้บริหารมีมากพอจะกำหนดความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยตนเองได้

ความกร่างของ สกอ.จึงเกิดขึ้นได้เพราะเกิดในความ “แหย” ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั้งหลาย

ที่น่าตกใจ คือ การบริหารงานแบบตั้งคณะกรรมการในแต่ละเรื่องเป็นชุดๆ ไปนั้น ทำให้ภาพรวมของความเป็นมหาวิทยาลัยแตกเป็นเสี้ยวๆ ( อาจารย์ซึ่งอยู่ในคณะกรรมการชุดหนึ่งกล่าวว่า หากนับอายุกรรมการในคณะหนึ่งๆ รวมกันแล้วน่าจะถึงพันปี แหม สมกับที่อยู่ในยุคสังคมคนแก่จริงๆ ) และการทำงานลักษณะนี้มีผลอย่างสำคัญที่ทำให้ผู้บริหาร สกอ.รู้สึกปลอดภัยในการทำงานภายใต้มติคณะกรรมการผู้ทรงความรู้(และสูงวัย) เพราะสามารถโบ้ยความผิดหรือความรับผิดชอบไปที่มติของคณะกรรมการฯได้อย่างสบายๆ (การบริหารแบบลอยตัวเช่นนี้เกิดมากขึ้นในระบบราชการไทยปัจจุบันครับ)

การทำงานเช่นนี้ จึงทำให้ สกอ. ไม่รู้ตัวเองว่ากำลังทำลายศักยภาพของมหาวิทยาลัยให้กลายเป็น “ ไส้ติ่ง” ของสังคมไปในที่สุด

รองนายกรัฐมนตรีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เคยพูดในที่ประชุมแห่งหนึ่งทำนองรับรู้อยู่ว่า สกอ.เป็นตัวปัญหาในการปรับเปลี่ยนบทบาทของมหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่เห็นว่าจะกล้าทำอะไรมากไปกว่าคำพูด

ภายใต้เงื่อนไขทั้งหมาย มหาวิทยาลัยไทยจึงมีความหมายต่อสังคมน้อยลงทุกทีครับ ผมเองก็ไม่รู้จะทำอย่างไรได้ ก็คงต้องรอไส้ติ่งแตกกระมังครับ ( ฮา )