ผลของนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าเหล็ก-อะลูมิเนียมต่อไทยและโลก***

ผลของนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าเหล็ก-อะลูมิเนียมต่อไทยและโลก***

สถานการณ์การค้าโลกตึงเครียดขึ้น หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศว่า สหรัฐอเมริกาจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็ก 25% และ อะลูมิเนียม 10%

ขณะที่ประเทศคู่ค้าและผู้ส่งออกเหล็กรายใหญ่คัดค้านนโยบายดังกล่าวและอาจนำไปสู่การตอบโต้ทางการค้าได้ หากขยายวงมากๆอาจนำไปสู่ สงครามการค้า ทำให้ระบบการค้าเสรีของโลกเกิดอาการกระเพื่อมได้ แคนาดาและเม็กซิโกส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 75% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด และทั้ง 2 ประเทศขู่ว่าจะมีมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ หากไม่ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม สหรัฐฯต่อรองโดยยื่นเงื่อนไขว่า จะยกเว้นภาษีนำเข้าให้หากมีการเจรจาปรับปรุงข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือให้เป็นธรรมทางการค้าต่อสหรัฐฯมากขึ้น ผลประโยชน์ทางการเมืองน่าจะเป็นแรงจูงใจสำคัญในการผลักดันนโยบายตั้งกำแพงภาษีอันไม่สอดคล้องกับความมีเหตุมีผลในการกำหนดนโยบาย (โดยเฉพาะตามแนวคิดของพวกเสรีนิยม) การตั้งกำแพงภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมจึงเป็นการเอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเหล็กและอะลูมิเนียม ภาระและต้นทุนของการดำเนินนโยบายดังกล่าวจะต้องถูกแบกรับโดยผู้บริโภค อุตสาหกรรมอื่นๆที่ต้องใช้เหล็กและอะลูมิเนียมเป็นวัตถุดิบในการผลิ ตโดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์และก่อสร้างในสหรัฐฯ ซึ่งมีความต้องการใช้เหล็ก 26% และ 40% ของปริมาณอุปสงค์เหล็กในสหรัฐฯ ตามลำดับ รวมทั้งผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในประเทศอื่นๆด้วย

ส่วนผลกระทบต่อไทยโดยตรงยังมีไม่มาก เนื่องจากมูลค่าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท หรือ คิดเป็นปริมาณเหล็กประมาณ 380,000 ล้านต้นส่วนใหญ่เป็น ท่อเหล็กรีดเย็นและเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ส่วนผลกระทบทางอ้อมจะเกิดจากการตัดราคาเหล็กเพื่อทุ่มตลาดของผู้ผลิตส่งออกรายใหญ่ เนื่องจากมีการประเมินว่า หากนโยบายขึ้นภาษีมีการบังคับใช้ตามที่ประกาศเอาไว้ อาจทำให้เหล็กล้นตลาดส่งออกไปสหรัฐฯไม่ได้ประมาณ 27 ล้านตัน ประเทศที่อาจตัดราคาขายเหล็กเพื่อทุ่มตลาดส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย ไม่ว่า จะเป็น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เวียดนาม และ อินเดีย และคาดว่า มาตรการขึ้นภาษีนี้จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเหล็กในวงกว้าง หลายประเทศเตรียมมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ รวมทั้งอียู อย่างนายฌอง-โคลด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) กล่าวว่า อีซีกำลังพิจารณามาตรการตอบโต้ที่รวมถึงการขึ้นภาษีสินค้าของสหรัฐฯหลายรายการ เช่น กางเกงเสื้อผ้าลีวาย รถมอเตอร์ไซด์ฮาร์ลีย์ เดวิดสัน วิสกี้เบอร์เบิน เป็นต้น

นโยบายกีดกันการค้าและเศรษฐกิจแบบชาตินิยมของสหรัฐฯ ได้ทำลายบรรยากาศระบบการค้าเสรีของโลก การแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศย่อมเพิ่มสูงขึ้นธรรมดาตามกระแสโลกาภิวัตน์ไร้พรมแดน แต่การแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศไม่เหมือนการแข่งกีฬาการแข่งขันกีฬามีผู้แพ้และผู้ชนะโดยมีผู้ชนะคนเดียว (เรียกว่า เกมที่มีผลรวมเป็นศูนย์ Zero-sum Game) การค้าระหว่างประเทศชนะทั้งคู่ได้ ได้ผลประโยชน์ร่วมกันทุกประเทศได้ เพราะประเทศเป็นทั้งผู้ซื้อ (ผู้บริโภค) และ ผู้ขาย (ผู้ผลิต) โดยขายสินค้าและบริการที่ประเทศมีความถนัดในการผลิตให้ตลาดโลกและนำเข้าสินค้าที่มีราคาถูกมีคุณภาพจากประเทศที่ผลิตได้ดีกว่า มีประสิทธิภาพมากกว่า ทุกฝ่ายได้ผลประโยชน์ร่วมกัน (เรียกว่า เกมที่มีผลรวมเป็นบวก Positive-sum Game)

ข้อพิพาททางการค้านั้นเกิดขึ้นได้เสมอ จะพัฒนาไปสู่สงครามการค้าหรือไม่ ขึ้นอยู่กับประเทศคู่พิพาทยอมถอยคนละก้าวหรือมีวิธีในการยุติข้อพิพาทอย่างไร การใช้กลไกองค์การการค้าโลกในการระงับข้อพิพาทจะทำให้ระบบการค้าเสรีของโลกดำรงอยู่ได้ ผมพยายามมองในแง่ดีว่า ประเด็นการขึ้นภาษีเหล็กนำเข้าน่าจะกลยุทธ์ในการเจรจาต่อรองทางการค้าของรัฐบาลโดนัล ทรัมป์และหวังผลในเรื่องคะแนนนิยมทางการเมืองในพื้นที่เลือกตั้งซ่อมรัฐเพนซิลเวเนียซึ่งเป็นฐานผลิตสำคัญของอุตสาหกรรมเหล็กและอะลูมิเนียมในสหรัฐฯมากกว่าการเดินหน้าลัทธิกีดกันทางการค้าอย่างจริงจัง นอกจากนี้ยังมีเสียงคัดค้านต่อมาตรการดังกล่าวค่อนข้างมากจนที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ นาย Gary Cohn ได้ลาออกจากตำแหน่ง โดยเขาพยายามคัดค้านนโยบายการตั้งกำแพงภาษีเหล็กนำเข้าแต่ไม่เป็นผล เพราะประธานาธิบดียืนกรานจะเดินหน้านโยบายดังกล่าว 

การที่ผู้นำสหรัฐฯพยายามหาทางออกสำหรับประเทศที่มีการขาดดุลมากถึง 800,000 ล้านดอลลาร์ ด้วยนโยบายกีดกันทางการค้าจะไม่เป็นผลดีต่อระบบการค้าโลก เหมือนอย่างที่นายโรแบร์โต อาเซเวโด เลขาธิการองค์การการค้าโลก กล่าวแสดงความวิตกว่า จะเป็นการจุดชนวนสงครามการค้าระดับโลกอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีฝ่ายใดต้องการให้เกิดขึ้นและขอให้ผู้นำสหรัฐฯทบทวนการตัดสินใจในเรื่องดังกล่าว การเปิดเสรีทางการค้าภายใต้องค์การการค้าโลกและข้อตกลงทวิภาคีและพหุภาคีต่างๆ ล้วนอยู่บนฐานแนวคิดที่ต้องการแสวงหาความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและสวัสดิการของสังคมโลกโดยรวม ด้วยการลดอำนาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศลงมา ลดอุปสรรคทางการค้าและลดกำแพงภาษีลงมา ความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันในระบบการค้าโลกนี้ยังลดความขัดแย้งระหว่างประเทศและส่งเสริมสันติภาพ ระบบการค้าโลกจำเป็นต้องมีธรรมาภิบาลที่ทุกประเทศต้องถือปฏิบัติร่วมกัน หากมีประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ปฏิบัติตามพันธสัญญาปกป้องอุตสาหกรรมภายในโดยการตั้งกำแพงภาษีหรือระบบโควต้าย่อมถูกตั้งคำถามจากประเทศสมาชิกในประชาคมการค้าโลกได้ 

หากข้อพิพาทลุกลามสู่ความขัดแย้งทางการค้า ก็ต้องอาศัย องค์การการค้าโลก ในการตัดสินข้อพิพาทเพื่อทำให้เกิดการยอมรับร่วมกัน จึงจะช่วยรักษาระบบการค้าโลกเอาไว้ได้ การเติบโตอย่างมากของข้อตกลงการค้าภูมิภาคควบคู่กับการดำเนินการขององค์การการค้าโลกมีผลทำให้ ธรรมาภิบาลการค้า โดยรวมมีความซับซ้อนมากขึ้น ทั้งสหภาพยุโรปและสหรัฐฯต่างมีข้อตกลงในระดับภูมิภาคของตัวเองและมีการพัฒนาข้อตกลงให้มีระดับความลุ่มลึกมากขึ้น (deepening) ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาเองก็ได้สร้างความสัมพันธ์ทางการค้าแบบได้รับสิทธิพิเศษจากประเทศพัฒนาแล้ว และยังได้ขยายความสัมพันธ์แบบให้สิทธิพิเศษกันและกันอีกด้วย ภาคเอกชนต้องจัดบทบาทให้ดีเพื่อใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่มีความซับซ้อนอย่างเท่าทัน

ตามกฎหมายสหรัฐฯ หลังจากกระทรวงพาณิชย์เปิดไต่สวนทางการค้าภายใต้มาตรา 232 ตามกฎหมายการค้าว่าด้วยการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงต่อชาติ เสนอให้ประธานาธิบดีใช้มาตรการขึ้นภาษีหรือกำหนดโควต้านำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจะใช้เวลาพิจารณา และทราบผลอย่างเป็นทางการประมาณเดือนเม.ย. อย่างไรก็ตาม ความพยายามกีดกันการค้าดังกล่าวได้ส่งผลให้ตลาดการเงินทั่วโลกผันผวนและหวั่นไหว คงต้องติดตามกันต่อไปว่า จากนี้ไปจะมีความเคลื่อนไหวอะไรต่อไปทั้งจากสหรัฐอเมริกาและประเทศคู่ค้าที่ได้รับผลกระทบ

 *** ชื่อเต็ม: ผลของนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมต่อไทยและระบบการค้าโลก