องค์กรท่านมีวัฒนธรรมแบบไหน

องค์กรท่านมีวัฒนธรรมแบบไหน

มีผู้บริหารหลายท่านเคยปรารภกับดิฉันว่าทำไมการเปลี่ยนค่านิยมและพฤติกรรมของบุคลากรจึงเป็นเรื่องที่ยากและใช้เวลานานมาก  

และในหลายโอกาสก็ประสบความล้มเหลวที่จะเปลี่ยนแปลงพนักงานและองค์กร ดิฉันจึงเรียนให้ผู้บริหารทราบว่าหนึ่งในสาเหตุสำคัญนั้นก็คือวัฒนธรรมองค์กรนั่นเอง เป็นไปได้สูงที่องค์กรมีวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกในความเชื่อและพฤติกรรมของพนักงานตลอดจนสิ่งแวดล้อมขององค์กรมากเสียจนยากหรือแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะรื้อถอนวัฒนธรรมนั้นออกไปเสีย ดิฉันใช้คำว่าแทบเป็นไปไม่ได้เพราะในความเป็นจริงเรายังสามารถเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรและพฤติกรรมของพนักงานได้อยู่หากมีวิธีบริหารจัดการที่เหมาะสมอย่างครบวงจร

เมื่อเอ่ยถึงคำว่าวัฒนธรรมองค์กรเราไม่ได้หมายความถึงสิ่งของหรือปัจจัยสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่วัฒนธรรมหมายความถึงหลายสิ่งหลายอย่างที่ประกอบรวมตัวกันขึ้นและมีอิทธิพลต่อวิถีความเชื่อและแนวทางประพฤติปฏิบัติของคนเราได้แก่ ศาสนา ประเพณี องค์ความรู้และระบบการศึกษาที่สืบทอดกันมา ประสบการณ์ในอดีต สายการบังคับบัญชา ความสัมพันธ์ของคนในสังคม ภาวะผู้นำของสังคมนั้นๆ สภาพทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ฯลฯ

ปัจจัยทั้งหมดนี้เมื่อรวมกันเข้าจะก่อให้เกิดแบบแผนของค่านิยมและสิ่งแวดล้อมที่หล่อหลอมคนเราให้มีความเชื่อและการปฏิบัติในแนวทางนั้นๆ การจะเปลี่ยนวัฒนธรรมจึงต้องเปลี่ยนปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมานี้ให้เป็นไปในทิศทางที่เราต้องการทั้งหมดจึงจะสอดคล้องสนับสนุนซึ่งกันและกัน หากจะเปลี่ยนเพียงภาวะผู้นำและระเบียบการปฏิบัติบางอย่างก็จะไม่ครบวงจร ทำให้การเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นไม่สามารถดำรงอยู่ได้นานยั่งยืนเพราะวัฒนธรรมเก่าๆยังแฝงตัวอยู่ในปัจจัยอื่นๆนั่นเอง

โลกยุคปัจจุบันนี้มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก องค์กรจึงจำเป็นต้องปรับพนักงาน ปรับวิธีการทำงานให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงได้ทันท่วงที บางองค์กรก็มีวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนให้สามารถเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว บางองค์กรมีวัฒนธรรมที่ไม่ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทำให้องค์กรไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ เกิดความล้าหลังในการทำงานและอาจล้มหายตายจากในที่สุด เรามาวิเคราะห์กันดีไหมคะว่าองค์กรของเราๆท่านๆมีวัฒนธรรมองค์กรแบบใด เป็นวัฒนธรรมที่ส่งเสริมองค์กรให้ก้าวไปในทิศทางที่ต้องการหรือไม่ ทั้งนี้นักวิชาการที่มีชื่อเสียงที่ศึกษาเรื่องวัฒนธรรมองค์กรเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกก็คือ คิม คาเมรอนและโรเบิร์ตควินน์ ทั้งสองได้จัดแบ่งวัฒนธรรมองค์กรออกเป็น 4 ประเภทคือแบบครอบครัว (Clan) แบบเฉพาะกิจ (Adhocracy) แบบตลาด (Market) และแบบมีชั้นบังคับบัญชา (Hierarchy) เรามาทำความรู้จักกับวัฒนธรรม 4 แบบนี้ให้ลึกขึ้นกันเลยนะคะ

วัฒนธรรมแบบครอบครัว ชื่อก็บ่งบอกแล้วถึงความเป็นมิตรอบอุ่นเหมือนคนอยู่ในครอบครัวเดียวกัน องค์กรที่มีวัฒนธรรมแบบนี้เหมือนเป็นครอบครัวใหญ่ที่มีผู้นำทำตัวเหมือนเป็นพ่อแม่หรือพี่ใหญ่ให้คำปรึกษาสนับสนุนพนักงานที่เปรียบเสมือนสมาชิกในครอบครัว องค์กรจะมีแบบแผนค่านิยมของครอบครัวที่ทุกคนเคารพเชื่อฟัง มีการสื่อสารที่ดีและมีความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกที่แน่นแฟ้นเป็นกันเอง ทุกคนมีส่วนร่วมรู้เห็น ร่วมกันตัดสินใจและช่วยกันทำงานเพื่อดูแลลูกค้าอย่างเอื้ออาทร มีการทำงานแบบเป็นทีมสูง การมีส่วนร่วมของทุกคนคือจุดแข็งของวัฒนธรรมแบบนี้

วัฒนธรรมแบบเฉพาะกิจ คำว่า adhocracy นอกจากจะหมายความว่าเป็นระบบเฉพาะกิจแล้ว ยังสื่อถึงการไม่มีโครงสร้างที่แน่นอนตายตัว เป็นไปตามแต่ละกรณีไป มีความยืดหยุ่นสูง ผู้นำองค์กรมีวิสัยทัศน์กว้างไกล เป็นนวัตกร มีจิตวิญญาณแบบเถ้าแก่กล้าเสี่ยงที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ พนักงานก็กล้าเสี่ยงตาม คนในองค์กรชอบคิดนอบกรอบ ชอบทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ชอบงานท้าทายซึ่งคุณลักษณะแบบนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดจูงใจให้พนักงานชอบทำงานกับเพื่อนร่วมงานที่มีแรงจูงใจเดียวกันองค์กรแบบนี้ให้อิสระสูงกับบุคลากรในการทำงานและตัดสินใจ

วัฒนธรรมแบบตลาด คือแบบที่มุ่งผลลัพธ์ ทำงานให้เสร็จตามเป้าหมาย เน้นการแข่งขันเพื่อสร้างผลผลิตหรือบริการที่ดีที่สุด ผู้นำขององค์กรแบบนี้เป็นคนมุ่งงาน จะมุ่งมั่นจูงใจและผลักดันพนักงานให้ชอบแข่งขันและสร้างผลงานที่ดีที่สุด อาจจะออกแนวเข้มโหดทำงานหนักและคาดหวังสูงเพื่อที่จะเป็นเจ้าครองตลาดเอาชนะใจลูกค้าด้วยสินค้าและบริการให้เหนือกว่าคู่แข่งขันให้ได้ พนักงานจึงต้องเป็นคนสนุกกับการทำงานโจทย์ยากๆท้าทาย ชอบเป็นผู้ชนะ ชอบสร้างเม็ดเงินมากๆและใช้ชีวิตสุขสบายแฮปปี้กับรางวัลและความสำเร็จที่ได้มาด้วยการทำงานหนัก

วัฒนธรรมแบบมีชั้นการบังคับบัญชา องค์กรที่มีวัฒนธรรมแบบนี้มีโครงสร้างองค์กรการจัดแบ่งงานที่เป็นระบบอย่างเป็นทางการ มีระเบียบวิธีการทำงานที่ชัดเจน ผู้นำเน้นประสิทธิภาพของการมีระบบงานที่ดีแบบไม่มีสะดุด เน้นเสถียรภาพขององค์กรและการทำงานที่เป็นไปตามแผนงานอย่างราบรื่นไม่มีข้อผิดพลาดและต้นทุนต้องต่ำ ผู้นำมีจุดเด่นตรงที่เป็นนักวางระบบที่ดี ควบคุมการปฏิบัติการ (operations)เก่ง ตรงเวลา รักษามาตรฐานและคุณภาพเป็นยอดพนักงานก็ต้องเป็นรักระเบียบวินัย ทำงานเป็นระบบ มีความรับผิดชอบสูง

จะสังเกตได้ว่าวัฒนธรรมแต่ละแบบล้วนมีจุดเด่นและจุดด้อยแตกต่างกันไป จึงเป็นภารกิจของฝ่ายบริหารที่ต้องตีโจทย์ให้แตกว่าลักษณะของธุรกิจ ลักษณะภาวะผู้นำของตนเองและสภาพแวดล้อมธุรกิจในขณะนั้นเหมาะกับการมีวัฒนธรรมแบบใด หลายคนคงอยากเก็บจุดเด่นของทุกวัฒนธรรมให้มีไว้ในองค์กรเดียวกันให้หมด เป็นไปได้ค่ะที่อาจจะพยายามรวมวัฒนธรรมสักสองแบบหรือสามแบบไว้ในองค์กรเดียวกัน แต่ถ้าจะรวมทั้งหมดคงเป็นไปได้ยากมากถึงยากที่สุด เพราะแต่ละวัฒนธรรมก็จะมีภาวะผู้นำและค่านิยมที่ขัดแย้งกันเอง ลองพิจารณาดูนะคะว่าองค์กรของท่านมีภาวะผู้นำ แนวทางบริหารจัดการงาน การจัดระบบ การจูงใจและบริหารบุคลากรที่ตอบสนองโจทย์ธุรกิจของท่านหรือไม่