รัฐสวัสดิการกับประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ

รัฐสวัสดิการกับประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ

ภายใต้ระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่ให้อภิสิทธิ์ชนจำนวนหนึ่งในการสร้างรายได้จากการครอบครองปัจจัยการผลิตหรือทรัพย์สิน ในขณะเดียวกันกลับทิ้ง

ให้คนอีกกลุ่มหนึ่งต้องเลี้ยงชีพด้วยการขาย “กำลังแรงงาน” สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนทั้ง 2 กลุ่ม เพราะในกลุ่มหลังนี้ขาดทั้งอำนาจการในต่อรอง รวมถึงเวลาในการพักผ่อนและโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ซึ่งในประเทศไทยเอง สิทธิประโยชน์ที่คนจนส่วนใหญ่ในสังคมได้รับมีสัดส่วนที่น้อย เมื่อเทียบกับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งข้อเท็จจริงนี้จึงสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไม่ได้รับการตอบสนองจากหน่วยงานภาครัฐเพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไขอย่างที่ควรจะเป็น

ในประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการ เช่น ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย รัฐจะมีกระบวนการจัดการความไม่เท่าเทียมของต้นทุนในการดำรงชีวิตระหว่างคนกลุ่มต่างๆ อันเกิดจากความไม่เท่าเทียมในการครอบครองทรัพย์สินและปัจจัยการผลิตของแต่ละคน ผ่านระบบสวัสดิการสังคม (social welfare system) เพื่อใช้เป็นมาตรการชดเชยผลกระทบให้กับผู้ใช้แรงงานที่ดำรงชีวิตผ่านการขาย “กำลังแรงงาน” ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ระบบทุนนิยมทำให้กำลังแรงงานของมนุษย์มีสภาพไม่ต่างจาก “สินค้า”

รัฐสวัสดิการ คือ สถาบันเศรษฐกิจและสังคม ที่ปรากฏตัวครั้งแรกในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยนัยยะของมัน คือ การช่วยลดทอนผลกระทบจากการที่แรงงานถูกทำให้กลายเป็นสินค้า ผ่านการให้รัฐเข้าแทรกแซงเศรษฐกิจเพื่อสร้างระบบสวัสดิการ (welfare system) ในรูปแบบต่างๆ เช่น ระบบการศึกษา ระบบประกันสุขภาพ ระบบประกันการว่างงาน เงินช่วยเหลือทางสังคม เป็นต้น เพื่อลดทอนและบรรเทาผลกระทบจากการทำให้แรงงานกลายเป็นสินค้าที่เกิดขึ้นการพื้นที่การผลิต

รัฐสวัสดิการ จึงเป็นการสร้างข้อตกลงระหว่างทุนและแรงงาน (collective agreement) เพื่อสร้างสมดุลในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้การสะสมทุนและกระจายทุนดำเนินไปอย่างเหมาะสม โดยเป็นเงื่อนไขที่ทั้ง 2 ฝ่ายร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งระบบ ภายใต้แนวคิดความสมานฉันท์ทางเศรษฐกิจ(solidarity economy) หรือหลักภราดรภาพ ดังนั้นภายใต้รัฐสวัสดิการชนชั้นแรงงานจึงถูกดึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รัฐสวัสดิการจึงทำให้คุณภาพชีวิตของแรงงานถูกพัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้นและเป็นการชดเชยผลกระทบจากระบบทุนนิยมเพื่อลดความไม่พอใจทางสังคมและเพื่อทำให้ระบบทุนนิยมเดินหน้าต่อไปได้

คำว่ารัฐสวัสดิการ เป็นคำที่มีความหมายค่อนข้างกว้าง หากตีความในมุมมองแบบสังคมประชาธิปไตย รัฐสวัสดิการหมายถึงการให้รัฐเข้ามาจัดสรรสวัสดิการขั้นพื้นฐานในด้านต่างๆเพื่อดูแลพลเมืองตลอดวัฏจักรชีวิต (lifetime benefit) รัฐสวัสดิการจึงมีต้นทุนที่สูงเนื่องจากต้นทุนดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวกับการผลิตซ้ำกำลังแรงงานในแต่ละวัน (daily reproduction) เพียงอย่างเดียวแต่ยังเกี่ยวกับการผลิตซ้ำกำลังแรงงานจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง (generational reproduction) อีกด้วย การจัดสรรปันส่วนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจภายใต้รัฐสวัสดิการที่ใช้ต้นทุนจำนวนมากนั้น จึงทำให้รัฐต้องอาศัยนโยบายทางภาษีเข้ามาขับเคลื่อนเพื่อกระจายทรัพยากรไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ มาตรการทางภาษีจึงเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาระบบรัฐสวัสดิการ โดยเกิดจากข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐและประชาชน โดยหลักแล้วคนที่ร่ำรวยและมีรายได้สูงจะต้องจ่ายภาษีในสัดส่วนที่มากกว่าคนที่มีรายได้น้อย ดังนั้น รายได้หลังถูกหักภาษีของคนรวยอาจจะลดลงมากเทียบเท่ากับคนงานทั่วไปหรือสูงกว่าคนทำงานในอาชีพอื่นๆ เพียงเล็กน้อย 

ในขณะเดียวกันเพื่อความเป็นธรรมรัฐจะเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดกและภาษีที่ดินเพื่อป้องกันปัญหาการเก็งกำไรของนายทุนผู้ประกอบการ อัตราภาษีที่จัดเก็บในสัดส่วนที่สูงบังคับให้เจ้าของที่ดินต้องขายที่ดินเพื่อลดภาระภาษีที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่ามาตรการภาษีสะท้อนถึงการใช้กฎหมายเข้ามากำกับและควบคุมกลไกตลาด ที่ส่งผลให้การสะสมทุนที่เกิดจากการสร้างมูลค่าส่วนเกินหรืออัตรากำไรของนายทุนลดลง ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ค่อยเห็นมหาเศรษฐีในระบบรัฐสวัสดิการ รัฐสวัสดิการแบบสังคมประชาธิปไตยกลายเป็นรูปแบบที่แพร่หลายในประเทศเดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ และเนเธอร์แลนด์ ที่กลายเป็นต้นแบบของประเทศที่จัดสรรสวัสดิการแบบครอบคลุมถ้วนหน้า (universal welfare system)

อย่างไรก็ตาม การถือกำเนิดของรัฐสวัสดิการจำเป็นต้องมีเงื่อนไขที่สำคัญเช่น การมี “ส่วนเกิน” ทางเศรษฐกิจที่อุตสาหกรรมสร้างขึ้นอย่างเพียงพอเพื่อนำกำไรกระจายไปให้กับผู้ใช้แรงงาน รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรม ดังนั้นการพัฒนาเศรษฐกิจจึงเป็นเงื่อนไขลำดับต้นๆ ของการพัฒนาประเทศไปสู่รัฐสวัสดิการ ขณะที่การจ้างงานเต็มที่ (full employment) เพื่อให้รัฐจัดเก็บภาษีจากประชาชนและนำภาษีมากระจายซ้ำ (redistribution) กลับไปสู่ประชาชนผ่านระบบสวัสดิการก็มีความสำคัญเช่นกัน ซึ่งในเบื้องต้นของการขับเคลื่อนรัฐสวัสดิการ รัฐจะผลักดันให้ประชาชนทุกคนมีงานทำเพื่อให้สวัสดิการจากการทำงานเป็นหลักประกันขั้นแรก หลังจากนั้น ในกรณีที่เกิดภาวะไม่พึงประสงค์ เช่น กรณีประสบอุบัติเหตุ กรณีเจ็บป่วย กรณีมีบุตร กรณีว่างงาน และกรณีชราภาพ รัฐจึงจะเข้ามาดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายและจัดสรรสวัสดิการ ส่วนที่เหลือเพื่อชดเชยผลกระทบที่เกิดจากการทำให้ปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตและกำลังแรงงานกลายเป็นสินค้า 

นอกจากนี้ ปัจจัยของวัฒนธรรมทางการเมือง สถาบันทางเศรษฐกิจและสังคม ความเข้มแข็งของสหภาพแรงงาน การจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากชนชั้นแรงงานเพื่อเข้าไปจัดสรรผลประโยชน์และทรัพยากรทางเศรษฐกิจในระบบการเมือง การเป็นประชาธิปไตย ฯลฯ ก็มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่รัฐสวัสดิการไม่แพ้กัน

รัฐสวัสดิการแสดงให้เห็นถึงการสร้างกระบวนทัศน์แห่งเสรีภาพขึ้นจากระบบทุนนิยม ผ่านความร่วมมือระหว่างนายทุนกับแรงงานเพื่อลดทอนความขัดแย้งทางชนชั้น โดยเกิดขึ้นจากแนวคิดที่รัฐมองว่า ชนชั้นแรงงาน คือ พลเมืองของสังคมที่ควรได้รับสิทธิ (citizenship rights) สวัสดิการรวมถึงบริการสาธารณะในด้านต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน รัฐสวัสดิการจึงเป็นทางเลือกหนึ่งของการสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ (democratic economy) ในสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เราจะเห็นได้ว่า ปัจจุบันประเทศในแถบสแกนดิเนเวียยังคงมุ่งมั่นที่จะปกป้องรักษาระบบรัฐสวัสดิการ เนื่องจากนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา รัฐสวัสดิการช่วยส่งเสริมการพัฒนาพลังการผลิตและช่วยลดต้นทุนการผลิตซ้ำแรงงานของประเทศในแถบสแกนดิเนเวียได้มากกว่ารูปแบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ซึ่งประเทศเหล่านี้เคยผ่านบทเรียนในช่วงวิกฤติการว่างงานครั้งรุนแรง (Great depression)ในทศวรรษ 1930 ทำให้การเข้าแทรกแซงเป็นทางเลือกของรัฐเพื่อบรรเทาปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมนับตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองมาจนถึงปัจจุบัน

โดย... นุชประภา โมกข์ศาสตร์ 

มหาบัณฑิต สาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย