Crowdsourcing กับ หมาเฝ้าบ้าน 4.0

Crowdsourcing กับ หมาเฝ้าบ้าน 4.0

แม้ประเด็นดังระดับข้ามปีอย่างเรื่องนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะถูกกลบด้วยข่าวเสี่ยใหญ่ล่าเสือดำ ข่าวหวย 30 ล้านไปเมื่อเดือนที่แล้ว

แต่ความพิเศษเฉพาะตัวของประเด็นข่าวนี้หาได้เลือนหายไป โดยเฉพาะในแง่การอุบัติขึ้น การแพร่กระจาย การมีส่วนร่วมของพลเมืองออนไลน์ในการร่วมตรวจสอบ และผลกระทบต่อมติมหาชนที่มีต่อเจ้าตัวเอง รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)โดยรวม

น่าสังเกตว่า เรื่องนี้ไม่ได้ถูกสื่อสารในสื่อกระแสหลักและสื่อสังคมออนไลน์เท่านั้น แต่ได้ถูกนำเสนอโดยประชาชน อย่างกรณีภาพกราฟฟิตี้นาฬิกาโดยเจ้าของเพจ Headache Stencil พร้อมใบหน้าบิ๊กป้อม บริเวณสะพานลอยแห่งหนึ่ง ย่านสุขุมวิท และการนำเสนอในเชิงสัญลักษณ์ ในขบวนล้อการเมืองของงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ เมื่อต้นเดือนก่อน แม้ว่าจะถูกผู้มีอำนาจทั้งเตือนและตรวจ ประเด็นดังกล่าวก็ยังถูกหยิบมาเสียดสีอย่างแยบคาย

นับตั้งแต่ปรากฏภาพนาฬิกา ที่เป็นวาระข่าวครั้งแรกเมื่อ 4 ธ.ค.2560 จนกระทั่งถึงวันที่ 20 ก.พ.2561 เฟซบุ๊คเพจ CSI LA ร่วมกับผู้ใช้ออนไลน์จำนวนหนึ่งได้ร่วมกันหาหลักฐานภาพถ่ายที่บ่งชี้ว่า บิ๊กป้อมครอบครองนาฬิกาหรูอย่างน้อยทั้งหมด 25 เรือน ส่งผลให้เกิดเสียงสะท้อนเรื่องความโปร่งใสเนื่องจากนาฬิกาเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามมาด้วยการเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้บิ๊กป้อมลาออกจากตำแหน่ง

ปรากฏการณ์นี้แสดงให้เห็นบทบาทของ crowdsourcing (การกระจายปัญหาไปยังกลุ่มคนในพื้นที่ออนไลน์เพื่อร่วมกันหาคำตอบ) ในการตรวจสอบผู้มีอำนาจในสังคมไทยได้อย่างดี และเป็นบทพิสูจน์ว่า การทำหน้าที่หมาเฝ้าบ้านไม่ใช่ภารกิจจำกัดเฉพาะของสื่อมวลชนอีกต่อไป ในยุค 4.0 ที่ศักยภาพอันก่อเกิดจากสื่อใหม่ กำลังท้าทายความสามารถของสื่อเดิมๆ มากขึ้นทุกที เห็นได้ชัดว่าพลเมืองทั่วไปที่ไม่ใช่นักวิชาชีพสื่อ ได้เข้ามาทำหน้าที่นี้โดยใช้เครื่องมืออย่าง social media ผนวกกับความเชี่ยวชาญความสนใจของแต่ละคนได้อย่างมีประสิทธิภาพจนสามารถเปิดประเด็นให้สื่อกระแสหลักต้องนำไปตามต่อจนเกิดเป็นปรากฏการณ์พิเศษด้านข่าวสารในที่สุด

สถานการณ์ที่ผ่านมา พบว่า นอกจาก เพจเฟซบุ๊ค CSI LA ที่มีผู้ติดตาม 797,771 คน (26 ก.พ.2561) จะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการขุดค้น เก็บข้อมูล แบบ crowdsourcing เพื่อการนำเสนอภาพนาฬิกาแต่ละเรือนแล้ว สื่อกระแสหลักหรือสื่ออาชีพ ทั้งสื่อโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ รวมถึงบุคคลมีชื่อเสียง ผู้มีบทบาทติดตามเรื่องคอร์รัปชัน และผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ ก็เข้ามามีบทบาทร่วม crowdsourcing หรือมีบทบาทเชื่อมโยงกับการสื่อสารกรณีนี้ด้วย

เพจเฟซบุ๊ค CSI LA ได้สร้างชื่อเสียงมาตั้งแต่การติดตามกรณีฆาตกรรมนักท่องเที่ยว ที่เกาะเต่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 และคอยติดตามประเด็นความไม่เป็นธรรมในสังคมในหลายกรณี จนกระทั่งถึงวันที่ 6 ธ.ค. 2560 ที่ทางเพจไม่นิ่งเฉยต่อกระแสสังคมในโลกออนไลน์ หลังมีผู้ตั้งข้อสังเกตต่อนาฬิกาหรูที่ข้อมือ และแหวนของบิ๊กป้อมในวันถ่ายภาพหมู่คณะรัฐมนตรี หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 4 ธ.ค. แม้จะมีการให้สัมภาษณ์จากบิ๊กป้อมเองแล้วในทำนองเป็นเรื่องปกติว่า นาฬิกาและแหวนเป็นของเก่า แหวนหนัก 1 กะรัต และสวมมาตลอด

เพจ CSI LA ได้ตั้งข้อสงสัยที่ช่วยจุดกระแสไม่ให้เรื่องนี้เงียบหายว่า “ในอเมริกาคนที่สามารถซื้อนาฬิกายี่ห้อนี้ใส่ ต้องเป็นดาราหรือนักร้องดัง เพราะราคาอย่างน้อย 10 ล้านบาทต่อเรือน แต่นายพลไทยซื้อได้ มีรายได้ต่อปีเท่าไหร่” ซึ่งถือเป็นการเปิดฉาก crowdsourcing ภาพถ่ายแสดงหลักฐานการสวมใส่นาฬิกาหรูของบิ๊กป้อมไม่ซ้ำกัน 25 เรือน เพราะหลังจากทางเพจโพสต์คำถามจุดกระแส อีกไม่นานวันที่ 13 ธ.ค. เพจ CSI LA เผยแพร่ภาพนาฬิกาเรือนที่ 2 :Richard Mille รุ่น RM 30 มูลค่า 4 ล้านบาท ต่อด้วยเรือนอื่นๆ ต่อมาในช่วง ธ.ค. 60 – ม.ค. 61 รวม 25 เรือน มูลค่ารวมกว่า 39.5 ล้านบาท

ยี่ห้อ รุ่น ตัวเลขราคาทั้งหมดนั้น ทางเพจ CSI LA ไม่ได้เป็นผู้เสาะหาข้อมูล ข้อเท็จจริงเอง แต่อาศัยผู้เชี่ยวชาญที่ติดตามเพจในการร่วมด้วยช่วยกันสังเกต และช่วยให้ข้อมูล ตามรูปแบบวิธีการของการ crowdsourcing ที่เน้นการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องเข้ามาให้ข้อมูลแลกเปลี่ยนกัน

และนอกจากการ crowdsourcing เพื่อช่วยกันยืนยัน ยี่ห้อ รุ่นและราคาของนาฬิกาหรูแล้ว กว่าจะได้ภาพนาฬิกาหรูทั้ง 25 เรือน เพจ CSI LA ได้ใช้ความเชี่ยวชาญของการเป็น Data scientist หรือนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลของแอดมินเพจ ในการสร้าง platform ในลักษณะ application สำหรับการ crowdsourcing ภาพนาฬิกาหรูบนข้อมือบิ๊กป้อมจากผู้ติดตามเพจ เพื่อการช่วยกันหาภาพหลักฐานและส่งภาพเข้ามาให้ทางเพจพิจารณารวบรวม โดยขอให้ทุกคนช่วยกันค้นหาภาพเก่าๆ ใน google image และ youtube เพิ่มดูว่าบิ๊กป้อมใส่นาฬิกาอะไรบ้าง และใช้จุดเวลาเปรียบเทียบระหว่างก่อนและหลังรัฐประหาร หรือในช่วงเข้ามารับตำแหน่งทางการเมือง

ทางเพจได้ออกแบบ application ให้มีความน่าเชื่อถือในใช้เก็บข้อมูลแบบ crowdsourcing มากที่สุด โดยให้ผู้สนใจให้ความร่วมมือส่งภาพ พร้อมระบุ web link ของภาพ ชื่อของแหล่งที่เผยแพร่ภาพ และวันเดือนปีของภาพที่ถ่าย ซึ่งทางเพจ CSI LA ไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ ยังได้พยายามเชื่อมโยงข้อมูลการครอบครองนาฬิกาเปรียบเทียบกับช่วงเวลาของการอนุมัติจัดซื้อเรือดำน้ำ รถหุ้มเกราะของรัฐบาล เพื่อแสดงภาพให้เห็นพร้อมตั้งข้อสังเกตถึงความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการเชื่อมโยงกัน

การติดตาม และเปิดเผยข้อมูลของเพจ CSI LA อาศัย crowdsourcing หลายครั้ง ซึ่งนับว่าเป็นการสืบสวนสอบสวนร่วมกันที่ไม่เพียงประสบผลสำเร็จในด้านการรับรู้ แต่ยังสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนในการร่วมติดตาม ตรวจสอบ กดดันให้เกิดการตรวจสอบดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

แม้จะมีเพจ CSI LA เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการ crowdsourcing ภาพและข้อมูลนาฬิกาแล้ว แต่เรื่องดังกล่าวจะไม่เข้าสู่การเป็นวาระข่าวสารของสังคมเลย หากไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นโดยสื่ออื่นๆ ในช่วง ธ.. 2560 – .. 2561 พบว่า มีสื่อจำนวนมากที่ได้ใช้เพจ CSI LA เป็นแหล่งข่าวสำคัญ เริ่มจากสื่อกระแสรองอย่าง ประชาไท บีบีซีไทย สำนักข่าวอิศรา ก่อน ตามมาด้วยสื่อกระแสหลักอย่างไทยรัฐ ที่เผยแพร่ข้อมูลว่า แหวนของบิ๊กป้อมนั้นเป็นของแม่ และนาฬิกาเป็นของเพื่อนนักธุรกิจให้ยืมมาใส่ และกระจายกว้างขวางไปครอบคลุมสื่อทุกแขนงในเวลาต่อมา ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งหมดนี้ ยังไม่รวมการนำเสนอในลักษณะมีม (meme) บนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ที่ผู้ใช้นำเรื่องนี้ไปล้อเลียนและขยายต่ออย่างสร้างสรรค์และขบขัน

หน้าที่หมาเฝ้าบ้าน เป็นบทบาทหน้าที่ของวิชาชีพสื่อมวลชนมาโดยตลอด แต่ในยุค 4.0 ที่โลกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม การทำหน้าที่หมาเฝ้าบ้านไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จากการเข้ามามีบทบาทของประชาชนผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่ ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการเฝ้าติดตาม ตรวจสอบและรักษาผลประโยชน์สาธารณะร่วมกัน ยิ่งไปกว่านั้น ภายใต้บรรยากาศทางการสื่อสารที่อึมครึม สื่อกระแสหลักที่เป็นมืออาชีพก็ควรจะต้องทบทวนตัวเองว่า หากปรากฏการณ์แบบนี้ยังเกิดขึ้นได้เรื่อยๆ ยังจะมีพื้นที่เหลือให้ตนยืนและอ้างถึงหน้าที่ตามวิชาชีพได้เท่าเดิมหรือไม่อย่างไร