Reskill และ Retrain ใครรับผิดชอบ?

Reskill และ Retrain ใครรับผิดชอบ?

เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า การทำงานในอนาคตข้างหน้า(อันใกล้)จะไม่เหมือนในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากDisruption ต่างๆ

สิ่งต่างๆ จะเปลี่ยนไปจากในอดีต ในอดีตเมื่อคนเข้าสู่ตลาดแรงงานก็มักจะทำงานอาชีพหนึ่งไปเรื่อยๆ ยาวๆ จนเกษียณ (ทำงานในสาขาอาชีพเดิมไปเรื่อยๆ แต่อาจจะมีการเปลี่ยนบริษัทไปบ้าง) แต่จากการสำรวจในอเมริกานั้น คนรุ่นใหม่จะทำงานอยู่ในอาชีพหนึ่งโดยเฉลี่ยเพียงแค่ 4 ปี จากนั้นก็จะเปลี่ยนสาขาอาชีพที่ทำไปเรื่อย ยิ่งกว่านั้น 35% ของทักษะที่จำเป็นในการทำงานนั้นก็จะเปลี่ยนไปจากปัจจุบันภายในปี 2020

การเปลี่ยนแปลงของลักษณะการทำงานและทักษะที่ต้องใช้ในการทำงาน ทำให้เกิดความจำเป็นที่บุคลากรจะต้องได้รับการฝึกฝนและพัฒนาความรู้และทักษะใหม่ๆ ตลอดเวลา คำว่า Reskilling และ Retraining กลายเป็นอีกคำที่ติดโผ สิ่งที่ผู้บริหารหลายๆ บริษัทให้ความใส่ใจกันมากขึ้น จากการสำรวจของ McKinsey ในต่างประเทศและจากที่ได้พูดคุยกับผู้บริหารในประเทศไทย ผลออกมาเหมือนกันว่า ผู้บริหารองค์กรต่างๆ ล้วนแต่เห็นความสำคัญและจำเป็นในการ Reskilling และ Retraining พนักงานของบริษัทให้สามารถเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ดีก็ยังมีอีกแนวคิดหนึ่งว่าระหว่างการ Reskill & Retrain พนักงานปัจจุบันให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง กับการจ้างพนักงานรุ่นใหม่ที่มีทักษะใหม่ๆ สำหรับการทำงานในอนาคต แบบไหนจะคุ้มกว่ากัน? (ขึ้นอยู่กับนโยบายการดูแลพนักงานเดิมขององค์กรด้วย) นอกจากนี้ถึงแม้ผู้บริหารจะเห็นความสำคัญ แต่ก็ยังมีประเด็นว่าองค์กรได้มีการเตรียมพร้อมเพียงใดสำหรับเรื่องนี้ การฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรที่จัดขึ้นในปัจจุบัน เป็นการปิดช่องว่างทางความรู้และทักษะสำหรับงานปัจจุบัน หรือ เป็นการเตรียมพร้อมพนักงานสำหรับงานที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต?

ซึ่งก็นำไปสู่ปัญหาต่อมาว่าแล้วจริงๆ “งานและทักษะสำหรับอนาคต” นั้น คืออะไรกันแน่? เนื่องจากเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้นย่อมไม่ง่ายที่ผู้บริหารจะมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่าลักษณะของการทำงานในอนาคตจะเป็นรูปแบบใด ทักษะอะไรบ้างที่จำเป็นและสำคัญสำหรับการอนาคต และจะต้องพัฒนาบุคลากรอย่างไรให้พร้อมสำหรับงานในอนาคต? ถึงแม้ผู้บริหารจะทราบว่า เทคโนโลยีจะเข้ามาส่งผลกระทบต่อการทำงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จะเข้ามาส่งผลอย่างไร และจะต้องเตรียมพร้อมพนักงานอย่างไร?

มองในมุมของคนทำงานบ้าง ถ้าท่านผู้อ่านทำงานในองค์กรที่มีการพัฒนาบุคลากรสำหรับการทำงานในอนาคต ก็ต้องถือว่าท่านโชคดี แต่ถ้าท่านทำงานในองค์กรที่ผู้บริหารอาจจะเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ แต่ยังไม่ทำอะไรขึ้นมาเป็นรูปธรรม ก็อาจจะถึงเวลาที่บุคลากรจะต้องช่วยเหลือและดูแลตัวเอง บุคลากรอาจจะไม่สามารถฝากความหวังในการพัฒนาตัวตนเองไว้กับการได้รับการพัฒนาจากองค์กรได้เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

สิ่งที่คนทำงานทุกคนควรจะถามตนเองก่อนก็คือ “ทักษะ ความรู้ที่มีอยู่ ยังเป็นที่ต้องการอีกหรือไม่?” ตามด้วย “ทักษะที่มีอยู่นั้นก่อให้เกิดคุณค่าหรือความแตกต่างใดหรือไม่?” และ “อะไรคือทักษะที่ควรจะต้องพัฒนาเพื่อเพิ่มโอกาสสำหรับตนเองต่อไปในอนาคต?” แต่ข้อที่น่ากังวลคือ บุคลากรอาจจะไม่รู้ว่าด้วยซ้ำไปว่าอะไรคือทักษะหรือความรู้ที่ตนเองมีอยู่ในปัจจุบัน?

ถ้าสามารถตอบคำถามต่างๆ ข้างต้นได้ จะช่วยให้ทราบว่าจะต้องพัฒนาตนเองต่อไปในเรื่องอะไร ซึ่งปัจจุบันมีช่องทางและสื่อในการพัฒนาตนเองได้หลากหลายรูปแบบมาก สำคัญคือจะต้องเห็นความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาตนเอง โดยอย่าหวังพึ่งการได้รับการพัฒนาจากองค์กรที่ทำงานอยู่เสมอไป ในฐานะคนทำงานคนหนึ่ง ทุกคนต้องเตรียมพร้อมต่อลักษณะและทักษะการทำงานที่จะเปลี่ยนไปในอนาคตด้วย