Cambodia: A Monetary Approach to the Balance of Payments

Cambodia: A Monetary Approach to the Balance of Payments

ทฤษฎี monetary approach to the balance of payments เริ่มต้นจาก Harry G. Johnson ในกลางทศวรรษที่ 1970 ซึ่งอาจสรุปได้สั้น ๆ ว่า

“ปรากฎการณ์เกินหรือขาดดุลชำระเงิน เป็นผลสืบเนื่องจากอุปสงค์มากกว่าอุปทานการถือเงิน หรือ อุปทานมากกว่าอุปสงค์ของการถือเงินของหน่วยเศรษฐกิจในระบบเศรษฐกิจหนึ่ง ๆ” สำหรับผู้ที่ไม่ได้เรียนเศรษฐศาสตร์ นี่ฟังดูเป็นเรื่องของทฤษฎีชัดๆ ที่ดูเหมือนไม่ได้เกี่ยวข้องกับโลกแห่งความเป็นจริงแม้แต่น้อย แต่บ่อยครั้ง การอธิบายของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ต่อเหตุการณ์จริงอาจไม่ได้ไปทางเดียวกันเสมอไปในลักษณะของเหตุและผลตามทฤษฎี แต่อาจจะเป็นไปในทางตรงกันข้ามก็ได้ 

นอกจากนี้ รายละเอียดของบริบทอาจมีเพิ่มมากขึ้นหรือแตกต่างกันเพื่อให้ทฤษฎีมีศักยภาพในการอธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจ อันอาจทำให้นักเศรษฐศาสตร์หรือผู้คนทั่วไป สามารถอธิบายและเข้าใจภาวะเศรษฐกิจได้ดีขึ้น และทำให้คาดคะเนภาวะเศรษฐกิจได้ถูกต้องมากขึ้น

เมื่อปลายปี 2017 ผู้เขียนมีโอกาสไปสำรวจภาวะตลาดในกัมพูชาเป็นครั้งแรก หลังจากที่ได้ไปประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ มาบ้างแล้ว ภาพแรกๆ ที่เห็นในระหว่างทางจากสนามบินถึงตัวเมืองก็คือ โชว์รูมรถยนต์ใหม่ที่ไม่ใช่เต๊นท์ขายรถมือสองแบบในพม่า ตามถนนหนทางก็มีรถยนต์ชั้นดีรุ่นใหม่วิ่งกันจำนวนมาก สิ่งเหล่านี้สะท้อนกำลังซื้อที่แม้แต่พม่าหรือเวียดนามก็เทียบไม่ได้ลำดับถัดไปคือ สภาพถนนที่ดีกว่า ประเทศข้างต้นมาก ยิ่งเมื่อมีโอกาสได้เห็นทางหลวงแผ่นดินที่เชื่อมต่อกับจังหวัดสำคัญในภายหลัง พม่ามองไม่เห็นฝุ่นเลย การคมนาคมถือเป็นปัจจัยสำคัญระดับสูงสุดของการพัฒนาเศรษฐกิจ ประเทศไทยเองก็เริ่มต้นพัฒนาจากทางหลวงไม่ใช่หรือ? ที่เป็นช่องทางในการนำสินค้าเกษตรออกสู่ต่างประเทศ ลองนึกภาพว่าเมื่อพม่าพัฒนาท่าเรือ Thirawa แล้ว จะขนส่งสินค้าจากท่าเรือไปยังส่วนอื่น ๆ ของประเทศ หรือแม้แต่ย่างกุ้งได้อย่างไร ในลักษณะเช่นนี้ท่าเรือ Thirawa ก็ไม่ได้แตกต่างจากนิคมอุตสาหกรรม Binh Duong เท่าไรนัก ที่ประสิทธิภาพการขนส่งต่ำมาก แม้ว่าถนนหลายสายในกัมพูชาเป็นไปได้ด้วยความช่วยเหลือจากต่างประเทศ แต่ก็คงต้องยอมรับว่า นี่เป็นแนวคิดที่มองการณ์ไกล

เมื่อเข้าสู่ตัวเมืองพนมเปญ ก็ได้เห็นอาคารสูงสร้างเต็มเมืองไปหมด ในแง่นี้กัมพูชาอาจจะไม่ได้เหนือกว่าย่างกุ้งมากมายนัก เพราะว่าอาคารสูงในย่างกุ้งอาจจะมีจำนวนมากกว่าด้วยซ้ำไป แต่ด้วยขนาดของเมือง/ประเทศที่เล็กกว่า การก่อสร้างอาคารสูงในระดับนี้ก็ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้มาก ประเด็นสำคัญที่จะต้องกล่าวถึงเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ การลงทุนก่อสร้างอาคารสูงจำนวนมากมายมหาศาลเหล่านี้มาจากเงินทุนของคนจีนที่ซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า การประเมินด้วยสายตาบอกได้ไม่ยากว่าสิ่งเหล่านี้เกินกว่ากำลังทางเศรษฐกิจภายในประเทศของกัมพูชาที่จะซึมซับได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่คล้ายๆ กับในเมืองจีน กิจกรรมเหล่านี้เป็นการฟอกเงินหรือไม่อยู่นอกเหนือขอบเขตของบทความนี้

แต่สิ่งที่อยากจะให้สังเกตุเกี่ยวกับเงินทุนไหลเข้ามากมายมหาศาลนี้ ก็คือ เงินทุนไหลเข้านี้ทำให้ดุลชำระเงินโดยรวมเป็นบวก ทั้งๆ ที่กัมพูชามีดุลการค้าติดลบมาตลอดจนถึงปี 2017 การเกินดุลชำระเงินนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ปริมาณเงินหมุนเวียน (supply of money) ในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นโดยตรง ซึ่งจะมากเกินกว่าปริมาณเงินที่หน่วยเศรษฐกิจต้องการ ณ รายได้ระดับเดิม นี่เป็นการประยุกต์ทฤษฏี monetary approach ในทางตรงกันข้ามกับทฤษฎีเริ่มแรก ถ้าหากเราจะอธิบายปรากฏการณ์นี้แบบชาวบ้านก็จะได้ว่า เงินทุนที่เข้ามาซื้อที่ดินนี้ทำให้ชาวกัมพูชามีเงินมากขึ้นและใช้จ่ายมากขึ้นตามสัญชาติญาณทั่วไป ดังจะเห็นได้จากประจักษ์พยานที่ว่า ชาวกัมพูชาใช้รถยนต์ใหม่ยี่ห้อดี ๆ ชาวกัมพูชาอาศัยในหมู่บ้านชั้นดีแบบในกรุงเทพฯ ระดับราคาชนชั้นกลางที่เริ่มต้นหลังละ 5 ล้านบาทไปจนถึง 20 ล้านบาท ซึ่งก็หาดูได้ทั่วไป และหาคนกรุงเทพฯที่ซื้อบ้านระดับนั้นได้ไม่ง่ายเลย โรงเรียนนานาชาติ ศูนย์การค้า ภัตตาคาร และ ร้านกาแฟชั้นดีมีทั่วไป พฤติกรรมอย่างนี้ในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า หน่วยเศรษฐกิจปรับปริมาณเงินในมือให้เข้าสู่ความสมดุล เมื่อประชาชนมีรายได้สูงขึ้นและใช้จ่ายมากเกินไปเมื่อเทียบกับเงินทุนไหลเข้า สิ่งที่เกิดขึ้นคือปริมาณเงินดอลลาร์ในตลาดลดลง แทนที่จะเป็นการปรับตัวของอัตราแลกเปลี่ยน

พม่าอาจจะมีอาคารสูงกำลังก่อสร้างจำนวนมากในย่างกุ้ง แต่สภาพที่อยู่อาศัยโดยรวมยังมีอายุเก่าหลายสิบปีและรถยนต์ก็ใช้มือสอง ส่วนชาวบ้านในเวียดนามจำนวนมากยังอยู่ในห้องแถวที่สร้างกันเองแบบง่าย ๆ หยาบ ๆ และโกโรโกโส

เงินทุนไหลเข้าที่มาลงทุนในอาคารสูงทำให้ประชาชนระดับกลางถึงบนมีการบริโภคมากและมีสัดส่วนไม่น้อยที่นำไปสู่สินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะรถยนต์และวัสดุก่อสร้างทั้งหมดที่นำเข้าจากต่างประเทศ ที่นำไปสู่การขาดดุลการค้ามาตลอด แต่ข้อสังเกตุคือรายได้ที่สูงขึ้นนำไปสู่การใช้จ่าย ไม่ใช่ตรงกันขัาม นี่เป็นเรื่องที่ดี ในขณะเดียวกัน ประชาชนระดับล่างโดยเฉพาะแรงงานที่อยู่ในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าก็มีรายได้ที่ดีขึ้นและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็นำไปสู่การบริโภคสินค้านำเข้าและการขาดดุลการค้าเช่นเดียวกัน ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่เงินทุนไหลเข้าจะต้องมีปริมาณมากเกินพอที่จะหักล้างกับการขาดดุลการค้าไปตลอด เมื่อมองจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในกัมพูชาก็คงจะมองออกได้ไม่ยากว่ารัฐบาลกัมพูชาเองก็คงจับประเด็นสำคัญอันนี้ได้และพยายามส่งเสริมให้เป็นเช่นนั้น ปัญหาถัดไปจึงอยู่ที่ว่า รัฐบาลกัมพูชาปัจจุบันโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีฮุนเซนจะคงอยู่ได้นานเพียงพอที่นโยบายเช่นนี้จะคงอยู่ต่อไปได้อีกนานเท่าไร

เมื่อกล่าวถึงตรงนี้ ก็คงจะต้องมองถึงสถานการณ์ทางการเมืองในกัมพูชา เราอาจจะไม่กล่าวถึงเหตุการณ์เบื้องหลังที่ทำให้ฮุนเซนสามารถรวบรวมศูนย์อำนาจมาได้ แต่เราคงจะทราบว่าคู่แข่งทางการเมืองก็หมดไปทีละคนสองคน การคุมกำลังทั่วประเทศก็ได้ทหารที่เป็นฝ่ายเขมรแดงเดิมมาอยู่ด้วยกัน ความมั่นคงทางการเมืองจึงน่าจะเป็นไปได้ในระดับสูงอย่างน้อยก็ในระยะปานกลาง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กัมพูชาแตกต่างจากพม่าและเวียดนามก็คือ การใช้เงินเหรียญสหรัฐหรือดอลลาร์เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนเป็นหลัก สิ่งนี้เป็นหลักประกันอย่างหนึ่งว่าการใช้จ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีแหล่งที่มาของรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศได้เช่นเดียวกัน แม้กระนั้นก็ตามความเสี่ยงของนักลงทุนต่างประเทศที่ยังคงหลงเหลืออยู่คือ ปริมาณเงินดอลลาร์ในขณะใดขณะหนึ่งที่จะเพียงพอต่อการนำเงินทุนออกจากกัมพูชาหรือไม่ โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤตทางการเงิน

ประเทศที่อยู่ในระหว่างการพัฒนาอย่างกัมพูชา พม่า เวียดนาม จึงคล้ายกันตรงที่มักมีการขาดดุลการค้าและพึ่งพาเงินทุนไหลเข้าเป็นแหล่งเงินทุน สำหรับหักล้างกับดุลการค้า แต่จะแตกต่างกันที่ความสามารถในการบริหารจัดการให้บัญชีเดินสะพัดหักล้างกับบัญชีเงินทุนได้อย่างมีเสถียรภาพ ในบรรดาประเทศทั้ง 3 นี้ แม้ว่าเวียดนามจะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าแต่ความผันผวนของดุลชำระเงินโดยรวมมีมากและนำไปสู่การลดค่าเงินบ่อยครั้ง แม้ว่ากัมพูชามีขนาดเศรษฐกิจเล็กกว่าแต่มีความสม่ำเสมอมากกว่า