ICOการระดมทุน ข้อกังวลและแนวทางกำกับดูแล ตอนที่ 1***

ICOการระดมทุน ข้อกังวลและแนวทางกำกับดูแล ตอนที่ 1***

หลายวันที่ผ่านมา หลายๆคน คงเห็นข่าวใหญ่ข่าวหนึ่ง ที่มีบริษัททำการระดมทุนในลักษณะที่เรียกว่า ICO โดยระดมทุนไปได้เป็นเงินจำนวนไม่น้อย

 ประชาชนคนทั่วไปอาจจะเกิดคำถามว่า เราควร “ลงทุน” ในโครงการดังกล่าวหรือเปล่า หรืออาจจะยังไม่มีความเข้าใจว่าจริงๆ แล้ว การระดมทุนในลักษณะดังกล่าว คืออะไร?

ICOหรือInitial Coin Offeringคืออะไร?

Initial Coin Offering (ICO) คือการระดมทุนในรูปแบบของการขาย digital token หรืออาจเรียกได้ว่าเหรียญดิจิทัลเพื่อนำเงินที่ได้จากการขาย tokens นั้นไปใช้ในโครงการใดโครงการหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง โดยผู้ที่เข้าซื้อ tokens ดังกล่าวจะได้รับสิทธิตามที่ตกลงกับทางผู้ระดมทุนอันมีความแตกต่างกันไป ในการระดมทุนแต่ละโครงการ หากเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายมากขึ้น ICO มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับ IPO หรือ Initial Public Offering ซึ่งก็คือการเสนอขายหุ้นใหม่ให้กับประชาชนเพื่อระดมทุนไปใช้ในกิจการของบริษัท ซึ่งโดยหลักการแล้วการระดมทุนในลักษณะ IPO จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดย ก.ล.ต. เช่น การเปิดเผยข้อมูลก่อนการขาย หลังการขาย[i] ในขณะที่การเสนอขายหุ้น IPO บริษัทที่ทำการเสนอขายหุ้นในลักษณะดังกล่าวบริษัทที่ต้องการเสนอขายหุ้นนั้นมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามหลายข้อ มองกลับมาที่กรณีของ ICO ลักษณะของการระดมทุนโดยการขาย tokens เราจะต้องพิจารณาว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

เราก็จะต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นว่าการขายหุ้น IPO นั้นเป็นการขายหุ้น แต่การระดมทุนในลักษณะของ ICO เป็นการขาย tokens ซึ่งอาจจะเข้าหรือไม่เข้าลักษณะของการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อการลงทุน

แล้วเราจะได้อะไรบ้างจากการซื้อเหรียญดังกล่าว?

โดยปกติแล้ว การระดมทุนในลักษณะดังกล่าว จะอธิบายรายละเอียดที่แตกต่างกันไปในแต่ละโครงการว่าเราในฐานะของผู้ที่ซื้อ tokens นั้นจะมีสิทธิหรือได้อะไรตอบแทนกลับไปบ้าง ยกตัวอย่างเช่น ในฐานะผู้ถือ tokens บางครั้งเราก็อาจที่จะสามารถใช้ tokens ดังกล่าวในการนำไปแลกกับสินค้า หรือบริการของเจ้าของบริษัทผู้ระดมทุนได้ เป็นต้น

คำถามต่อไป: ICO ผิดกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันของประเทศไทยหรือเปล่า?

เราต้องย้อนกลับไปพิจารณาว่า เหรียญดิจิทัลในลักษณะของ tokenดังกล่าวนั้น เข้านิยามของหลักทรัพย์ ภายใต้กรอบกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องที่บังคับใช้อยู่ในประเทศไทยหรือไม่ เพราะหาก tokens ถือเป็นหลักทรัพย์ตามกฎหมายไทยแล้ว กรณีบริษัทที่ต้องการระดมทุนในลักษณะของ ICO ก็อาจจะต้องปฏิบัติตามกรอบกฎเกณฑ์ว่าด้วยหลักทรัพย์ของประเทศไทย

ก็ต้องดูในส่วนของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งก็คือ พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทย ในมาตรา 4 ว่านิยามของคำว่า “หลักทรัพย์” ตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าวมีความหมายกว้างแคบอย่างไร มาตรา 4 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวได้รายการ สิ่งที่เป็น “หลักทรัพย์” ไว้หลายประเภท

“มาตรา4บัญญัติว่า”...“หลักทรัพย์”หมายความว่า 

(1)ตั๋วเงินคลัง(2)พันธบัตร(3)ตั๋วเงิน(4)หุ้น(5)หุ้นกู้(6)หน่วยลงทุนอันได้แก่ ตราสารหรือหลักฐานแสดงสิทธิในทรัพย์สินของกองทุนรวม

(7)ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น(8)ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้ (9)ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุน(10)ตราสารอื่นใดที่คณะกรรมการก.ล.ต.กำหนด..."

ในส่วนนี้จะเห็นได้ว่า ตามนิยามของหลักทรัพย์ดังกล่าวนั้นอาจจะยังไม่ครอบคลุมถึง token ที่ถูกใช้ในการระดมทุนในลักษณะของ ICO ในส่วนนี้เองเพื่อให้มีกรอบกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลที่เหมาะสมมากขึ้น คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จึงได้เผยแพร่ เอกสารรับฟังความคิดเห็นเลขที่ อทง. 34/2560 เรื่อง แนวทางการกำกับดูแล Initial Coin Offering (ICO) เมื่อ 27 ตุลาคม 2560 เพื่อให้กรอบการกำกับดูแลมีความชัดเจนมากขึ้น

จากเอกสารรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว ก.ล.ต. ได้เสนอกำหนดหลักทรัพย์ประเภทใหม่ ซึ่งก็คือ “ส่วนแบ่งการลงทุน” ซึ่งหมายถึง สิทธิซึ่งมีข้อตกลงและเงื่อนไขที่เป็นมาตรฐานเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ในการได้รับส่วนแบ่งในผลประโยชน์ซึ่งเกิดจากการร่วมลงทุน ในการดำเนินการใดหรือทรัพย์สินใดโดยไม่ มีส่วนในการบริหารจัดการการดำเนินการ (day-to-day operation)"

ในอนาคตหากมีการระดมทุนในลักษณะของ ICO บริษัทที่ทำการ ICO จะต้องตกภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. หรือไม่ จะต้องทำตามกรอบกฎเกณฑ์ในการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ การอนุญาตให้เสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ เหล่านี้หรือเปล่า ก็คงต้องดูว่า token ดังกล่าวจะเข้าลักษณะของการแบ่งผลประโยชน์ในลักษณะของการร่วมลงทุนตามนิยามข้างต้นหรือไม่[ii]

อย่างไรก็ดี หลังปิดรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อเดือนก่อน แนวทางในการกำกับดูแล อีกทั้งการพิจารณาว่า token ของ ICO ในแต่ละโครงการจะถือว่าเป็น หลักทรัพย์หรือไม่ คงจะต้องรอให้มีความแน่นอน ชัดเจน มากขึ้น คาดว่าจะมีการเสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ในช่วงต้นปี 2561 นี้

ในตอนต่อไปจะมาพิจารณากันว่า ต่างประเทศมีแนวทางในการกำกับดูแลการระดมทุนในลักษณะดังกล่าวในลักษณะเหมือนกับแนวทางของ การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ที่ระบุไว้ในเอกสารรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวหรือไม่ เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้ที่เกี่ยวข้องประกอบการพิจารณาเพิ่มเติม

[i]http://www.sec.or.th/TH/RaisingFunds/EquityDebt/Pages/link-Laws_Regulations/Fund.aspx#IPO21

[ii]http://capital.sec.or.th/webapp/phs/upload/phs1509108390hearing_34_2560.pdf

*** ชื่อเต็ม: ICOการระดมทุนในโลกยุคดิจิทัลข้อกังวลและแนวทางในการกำกับดูแล [ตอนที่ 1]

โดย... 

ปวีร์ เจนวีระนนท์ 

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทีมวิจัยของรายงานประจำปีว่าด้วยการเงินทางเลือกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ปี 2017 ศูนย์การเงินทางเลือก มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์