การขยายตลาดในยุคไร้พรมแดน

การขยายตลาดในยุคไร้พรมแดน

การขยายตลาดในยุคไร้พรมแดน

การลงทุนในยุคใหม่นี้ นับว่ามีความรวดเร็วและสะดวกสบายอย่างมาก ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี การชำระเงินและส่งมอบสินทรัพย์สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว การซื้อขายก็มีช่องทางออนไลน์หรือความเชื่อมโยงระหว่างผู้ให้บริการที่ทำให้การทำธุรกรรมสะดวก และมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในหรือนอกประเทศ ซึ่งพัฒนาการเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลในประเทศต่างๆที่มีการผ่อนคลายมากขึ้นทั้งในแง่ของการอนุญาตให้ผู้ลงทุนในประเทศสามารถไปลงทุนในต่างประเทศได้โดยสะดวกขึ้น และการสนับสนุนให้ผู้ลงทุนต่างชาติสามารถนำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศของตนเองได้ด้วยเช่นกัน ในภาวการณ์ที่ผู้ลงทุนมีทางเลือกมากขึ้นเช่นนี้ ผู้ประกอบธุรกิจในประเทศต่างๆจึงพยายามจะหากลยุทธ์ที่จะขยายธุรกิจและตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนให้มากขึ้น ซึ่งแนวทางหนึ่งที่พบเห็นได้ก็คือการร่วมมือกันระหว่างประเทศมักได้แก่แการเชื่อมโยงระบบซื้อขายหรือชำระราคาระหว่างกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้ในฐานสินค้าที่กว้างขึ้น ได้แบบง่ายๆเหมือนกับการลงทุนในประเทศ ที่ผ่านมา ความร่วมมือลักษณะดังกล่าวนี้มีทั้งที่สำเร็จและไม่ประสบผลสำเร็จอย่างที่คาด แต่ที่น่าสนใจล่าสุด ก็คือกรณีของตลาดสิงคโปร์และมาเลเซียประเทศเพื่อนบ้านของเราที่เพิ่งประกาศว่าจะมีความร่วมมือกันไปในช่วงต้นเดือนนี้  ภายใต้โครงการ Bursa-SGX Trading Link ซึ่งจะเป็นโครงการที่ทำให้ผู้ลงทุนมาเลเซียและสิงคโปร์สามารถซื้อขายและชำระราคาหุ้นของทั้งตลาด SGX (Singapore Exchange) และตลาด Bursa Malaysia ได้จากประเทศของตน โดยผู้กำกับดูแลจากทั้งสิงคโปร์ หรือ MAS (Monetary Authority of Singapore) และมาเลเซีย หรือ SC (Securities Commission Malaysia) จะร่วมกันจัดตั้งหน่วยงานกลางที่ดูแลการซื้อขายระหว่างสองประเทศ

ถ้าถามว่าโครงการนี้เป็นครั้งแรกของความเชื่อมโยงของตลาดหุ้นทั้งสองประเทศหรือเปล่า คำตอบก็คือใช่ถ้าเป็นโครงการที่รัฐบาลทั้งสองประเทศสนับสนุน แต่ถ้ามองย้อนกลับไปในอดีต ช่วงปี 2533-2541 ตลาดสิงคโปร์นั้นเคยมีการจัดทำ CLOB (Central Limit Order Book) ซึ่งทำให้ผู้ลงทุนสิงคโปร์สามารถซื้อหุ้นในตลาดมาเลเซียแบบ OTC (Over The Counter) ที่ตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์และเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนต่างชาติสามารถเข้าถึงหุ้นมาเลเซียได้ผ่านทางประเทศสิงคโปร์ ซึ่งผลก็คือ โครงการดังกล่าวค่อนข้างประสบความสำเร็จ โดยในบางช่วงมีมูลค่าการซื้อขายของ CLOB สูงถึง 1.5 – 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงกว่ามูลค่าหุ้นสิงคโปร์ในตลาด SGX (Singapore Exchange) เสียอีก อย่างไรก็ตาม  CLOB ระหว่างมาเลเซียและสิงคโปร์ได้ถูกยกเลิกไปในปี 2541 อันเป็นผลจาก Financial Crisis ของทวีปเอเชียในช่วงเวลาดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ถือหุ้นในโครงการ CLOB ราว 180,000 ราย ที่มีหุ้นมูลค่ารวมกันประมาณ 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไม่สามารถซื้อขายหุ้นได้ เนื่องจากทางการมาเลเซียเกรงผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนและเงินสำรองระหว่างประเทศ ก่อนจะเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนสามารถทะยอยขายหุ้นในโครงการ CLOB ได้อีกครั้งในปี 2546

อย่างไรก็ตาม การร่วมมือของตลาดทั้งสองแห่งในครั้งนี้  นับว่ามีความเข้มแข็งด้วยเป็นนโยบายของภาครัฐ แต่รายละเอียดต่างๆนั้น ยังไม่มีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ แต่หากประมวลข้อมูลจากตลาดทั้งสอง พบว่า ประเทศมาเลเซียมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือการเพิ่มปริมาณการซื้อขาย โดยพร้อมๆ กับการประกาศความร่วมมือของสิงคโปร์ มาเลเซียได้มีการออกมาตรการหลายประการ ซึ่งน่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุนของผู้ลงทุนรายย่อยที่ยังนับเป็นสัดส่วนที่น้อยในตลาด (สัดส่วนราว 20%) ไม่ว่าจะเป็น การยกเว้น Stamp Duty สำหรับหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก การลดค่าธรรมเนียมตามปริมาณการซื้อขาย การยกเว้นค่าธรรมเนียมการซื้อขายสำหรับผู้ลงทุนรายใหม่ รวมไปถึงการผ่อนคลายเกณฑ์การซื้อขาย เช่น การอนุญาตให้สามารถซื้อขายแบบ Short Sell ระหว่างวันได้ เป็นต้น ในส่วนของประเทศสิงคโปร์นั้น เป็นประเทศที่ มีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่เข้มแข็งและนโยบายกำกับดูแลด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่ผ่อนคลายกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ดังนั้น การเชื่อมโยงในด้านการชำระราคา จึงเป็นประโยชน์อย่างมากในอำนวยความสะดวกให้ผู้ลงทุนในสิงคโปรซึ่งประกอบด้วยผู้ลงทุนท้องถิ่นและผู้ลงทุนต่างประเทศที่มีสำนักงานในสิงคโปร์ที่ต้องการซื้อหุ้นในมาเลเซีย สามารถซื้อขายและชำระราคาหุ้นทั้งสองตลาดโดยรวมศูนย์ที่สิงคโปร์ ซึ่งในอนาคต สิงคโปร์ก็คาดหวังจะขยาย Model การเชื่อมต่อนี้ไปยังตลาดอื่นๆ ในภูมิภาคอีกด้วย ซึ่งก็จะทำให้มีบทบาทอย่างมากในการเป็นศูนย์รวมการชำระราคาในภูมิภาค

แม้ว่าโครงการ Bursa-SGX Trading Link นั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ความสำเร็จของโครงการยังมีปัจจัยและความท้าทายที่ทั้งสองประเทศจะต้องร่วมกันพิจารณาต่อในอีกหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างของต้นทุนสำหรับผู้ลงทุนในการซื้อขายผ่าน Trading Link เมื่อเทียบกับการซื้อขายระหว่างสองประเทศที่ปัจจุบันสามารถดำเนินการได้อยู่แล้วผ่านโบรกเกอร์ที่เป็นสมาชิกของทั้ง 2 ตลาด (ปัจจุบันมีบริษัทที่เป็นสมาชิกทั้งตลาด SGX และ Bursa อยู่ทั้งสิ้น 10 ราย) การบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดจากการซื้อขายหุ้นในสองตลาดที่อยู่ภายใต้สกุลเงินที่แตกต่างกัน การปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศให้มีความใกล้เคียงกัน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะต้องมีการพิจารณาเพื่อให้เกิดผลดีต่อทั้งสองตลาด หรือให้เกิด win win solution  ในปัจจุบัน Exchange และผู้กำกับดูแลของทั้งสองประเทศยังคงอยู่ระหว่างหารือในรายละเอียด และคาดว่าจะสามารถเริ่มโครงการได้ในปลายปีนี้  ิ