Smart Contract … อนาคตของการโอนเงินระหว่างประเทศ (ตอนที่ 1)

Smart Contract … อนาคตของการโอนเงินระหว่างประเทศ (ตอนที่ 1)

Smart Contract … อนาคตของการโอนเงินระหว่างประเทศ (ตอนที่ 1)

เชื่อว่าหลายท่านเคยโอนเงินไปต่างประเทศ ไม่ว่าจะเพื่อชำระค่าสินค้า นำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ หรือเรื่องใกล้ตัวเช่นค่าเทอมลูก  เรียนถามครับว่า  … เบื่อมั้ย ? 

ทั้งที่ธนาคารคิดค่าธรรมเนียมและยังได้กำไรจาก bid-ask spread บนอัตราแลกเปลี่ยน แต่ทำไมโอนแล้วไม่รู้ว่าเงินไปถึงครบจำนวนหรือเปล่า แถมยังบอกไม่ได้อีกว่าเงินจะไปถึงเมื่อไร  

Smart Contract … อนาคตของการโอนเงินระหว่างประเทศ (ตอนที่ 1)

ปัญหากวนใจนี้เกิดจากขั้นตอนที่ยุ่งยากและไม่มีประสิทธภาพ เรามาดูภาพประกอบกันครับจะได้เข้าใจที่มาที่ไป เริ่มจาก ผู้โอนแสดงความจำนงค์ในการโอนเงินไปต่างประเทศและโอนเงินไปให้ธนาคารผู้ส่ง ธนาคารผู้ส่งแจ้งข้อมูลการโอนไปให้ธนาคารผู้รับในต่างประเทศและธนาคารตัวแทนระหว่างประเทศ (correspondent bank)ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างธนาคารผ่านระบบ SWIFT  ทั้งนี้ SWIFT ไม่ใช่ระบบโอนหรือชำระเงินนะครับ เป็นแค่เพียงระบบการสื่อสารระหว่างธนาคารที่เป็นมาตรฐานสากล ในขณะเดียวกันธนาคารผู้ส่งก็แลกเงินบาทเป็นเงินสกุลต่างประเทศแล้วโอนไปที่ธนาคารตัวแทนระหว่างประเทศ จากนั้นธนาคารตัวแทนโอนต่อไปให้ธนาคารผู้รับในต่างประเทศแล้วถึงเข้าบัญชีผู้รับ

แล้วทำไมโอนแล้วเงินอาจถึงไม่ครบจำนวน?  ถ้าธนาคารของผู้รับเป็นธนาคารเดียวกับธนาคารตัวแทนระหว่างประเทศหรือเป็นธนาคารที่อยู่ในเครือข่าย ค่าธรรมเนียมการโอนจะรู้ได้ตั้งแต่ตอนโอน กรณีนี้เงินถึงครบไม่มีปัญหา แต่ถ้าธนาคารผู้รับอยู่นอกเครือข่าย จะเกิดค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมหลังจากตอนโอนทำให้เงินไปถึงไม่ครบ

แล้วทำไมบอกไม่ได้ว่าเงินไปถึงเมื่อไร ? เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุครับ จากเวลาทำการที่ไม่ตรงกัน แต่ละธนาคารมี cut-off time ในการทำธุรกรรมต่างกัน แถมอยู่กันอยู่คนละประเทศ เจอ time zone ต่างกัน ถ้าการโอนเกิดหลัง cut-off time เงินอาจไปถึงช้าไปอีกวัน ส่วนนี้พอคาดการณ์ได้ครับแต่ไม่สามารถการันตีได้ว่าเงินจะถึง แต่กรณีที่บอกไม่ได้ว่าเงินจะถึงเมื่อไรคือเมื่อธนาคารผู้รับอยู่นอกเครือข่าย ความซับซ้อนในการโอนเงินระหว่างธนาคารที่เป็นการ credit/debit จาก Vostro เงินบาทและ Nostro เงินสกุลต่างประเทศ  นั่นคือต้องโอนเงินต่อออกเป็นทอดทำให้บอกไม่ได้ว่าตอนนี้เงินไปถึงไหนแล้ว  ฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจเลยครับว่าธนาคารก็เช็คสถานะไม่ได้ เพราะแค่จะตามว่าตอนนี้เงินอยู่ที่ไหนเจ้าหน้าที่ธนาคารยังต้องโทรศัพท์ถามแต่ละแบงค์กันให้วุ่น

จริงๆผมเชื่อว่าระบบธนาคารเองก็ปวดหัวในความซับซ้อนและไม่มีประสิทธิภาพ และปวดใจกับประสบการณ์ที่ลูกค้าต้องเจอ แต่ระบบการโอนเงินระหว่างธนาคารที่ใช้กันทั้งโลกนี้ถือเป็นสมบัติตกทอดที่มีมา 40 กว่าปีแล้ว ถึงแม้ที่ผ่านมาจะมีการอัพเกรดฮาร์ดแวร์และซอฟแวร์ตามเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่โดยหลักแล้วเรียกได้ว่าทำกันบนกรอบและกระบวนการเดิม

การโอนเงินระหว่างประเทศที่ดีคือ โอนถึงเร็ว รู้เลยว่าถึงเมื่อไร โอนถึงเต็มจำนวน ไม่โดนหักค่าธรรมเนียมกลางทาง เช็คสถานะได้ว่าเงินถึงไหน และมีการแจ้งเตือนว่าโอนถึงแล้ว ทั้งหมดนี้เป็นไปได้ถ้าธนาคารทั้งในและต่างประเทศเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยี Smart Contract และรื้อระบบการทำงานใหม่

ซึ่ง Smart Contract ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวเราในวันนี้เลยครับ เงินสกุลดิจิตอล หรือ crypto-currency ที่เราๆท่านๆมีอยู่ในพอร์ตแล้วหรืออาจตามข่าวกันอยู่ตอนนี้ก็เป็น Smart Contract อย่างนึง … แต่เดี๋ยวก่อน ต้องเรียนขอท่านผู้อ่านมองเทคโนโลยีนี้ในแง่ลบจากความโกลาหลในตลาดเงินดิจิตัลที่เจอกันอยู่ตอนนี้  

บทความหน้าเราจะมาทำความเข้าใจเทคโนโลยี Smart Contract กัน ว่ามันคืออะไร และจะนำมาสู่การปฏิวัติการระบบการโอนเงินระหว่างประเทศได้อย่างไร