ลงทุนอย่างไรเมื่อตลาดหุ้นกลายเป็นสนามรบ

ลงทุนอย่างไรเมื่อตลาดหุ้นกลายเป็นสนามรบ

ลงทุนอย่างไรเมื่อตลาดหุ้นกลายเป็นสนามรบ

ตั้งแต่กลางปีที่แล้วตลาดหุ้นทั่วโลกอยู่ในภาวะขาขึ้น รวมถึง SET Index ที่ปิดปี 2560 ด้วยกำไรราวๆ 12% น่าสังเกตว่านักลงทุนทั่วโลกเริ่มมีอาการ “กล้าเกิ้น” จนลืมเรื่องความเสี่ยงหรือความผันผวนของตลาด เห็นได้จาก VIX index (ดัชนีที่บ่งบอกถึงความกังวลต่อความผันผวนของนักลงทุน)  ที่เคยอยู่ในระดับ 15-20 จุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ร่วงมาเหลือ 10 จุดในเกือบตลอดช่วงปีที่แล้ว (ลดลง 30-50%)  ต่อเนื่องมายังต้นปีนี้

ผลของการไม่มีความกังวล ก็คือความกล้าที่สูงผิดปกติ ราคาหุ้นถูกไล่ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ผลตอบแทนคาดหวังของแต่ละการลงทุนเหลือน้อยลงเรื่อยๆ (วัดจากราคาที่เข้าซื้อ ไปยังราคาเป้าหมายตามปัจจัยพื้นฐานที่ควรจะเป็นว่ามี upside ของกำไรจากการลงทุนเท่าไร) และพอใจกับผลตอบแทนคาดหวังที่เหลือน้อยนั้น โดยกล้าซื้อในราคาที่สูงขึ้นๆ ไม่เผื่อใจให้กับความผิดหวังเท่าไรนัก

อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นมาถึงจุดหักเห ผู้กล้าทั้งหลายได้เข้ามาอยู่ในยุทธภพกันหมดแล้ว เมื่อไม่มีเงินใหม่เข้ามาไล่ซื้อประกอบกับเงินทุนต่างชาติที่ไหลออก ทำให้ตลาดเริ่มปรับตัวลง โดยอ้างว่ากลัว “การปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed” หรือก็คือต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น ทำให้เม็ดเงินที่มาจากการกู้มาเล่นหุ้นเริ่มไหลออก โดยเฉพาะจากนักลงทุนต่างชาติ (ที่เรียกว่า carry trade  หรือการกู้เงินจากประเทศที่มีดอกเบี้ยต่ำ มาลงทุนในตลาดที่ให้ผลตอบแทนสูง) ซึ่งข่าวนี้นับว่าเป็นข่าวเก่าและมีการพูดถึงมานานมาก จึงน่าจะเป็นเพียงข้ออ้างในการขายทำกำไรเท่านั้น

ผลก็คือ ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลง และผันผวนอย่างมาก VIX Index ที่เคยอยู่แถวๆ 10 จุดในปีก่อน ดีดขึ้นไปถึงราว 40-50 จุดในวันที่ 6 ก.พ. (ปรับขึ้น 4-5 เท่า) ก่อนจะลดลงมาแกว่งอยู่แถวๆ 20 จุด (ก็ยังสูงเป็น 2 เท่าของปีที่แล้ว) ทั้งหมดนี้บ่งบอกว่า นักลงทุนเริ่มกลับมารู้ตัวแล้วว่า นี่มันคือตลาดหุ้น ต้องเผื่อใจรับความผันผวนด้วย ซึ่งความกลัวความผันผวน (Fear) ดังกล่าว ทำให้เงินที่จะเข้ามาซื้อหุ้น ย่อมไม่ไล่ราคาแรงๆ เหมือนเมื่อก่อน  หรือก็คือ นักลงทุนเริ่มเรียกร้องหา upside (ผลตอบแทนคาดหวัง) ที่เหมาะสมและเพียงพอที่จะชดเชยกับความผันผวนที่ต้องเผชิญ ซึ่งเมื่อรวมกับต้นทุนทางการเงิน (อัตราดอกเบี้ย) ที่ปรับตัวขึ้นก็เลยทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดลง

แต่ข่าวดีก็คือ ต้องไม่ลืมว่าเบื้องหลังการขึ้นดอกเบี้ย มันต้องเริ่มจากมุมมองของธนาคารกลางว่าเศรษฐกิจโตดี แข็งแรง  เงินเฟ้อเริ่มมา ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลดีต่อผลประกอบการบริษัทในอนาคตทั้งสิ้น เงินเฟ้อที่สูงขึ้น ไม่ใช่เรื่องร้าย เพราะมันสะท้อนราคาขายสินค้าที่เพิ่มขึ้น เว้นแต่ว่ามันจะพุ่งสูงเร็วและแรงเกินไป ซึ่งน่าจะไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ฟื้นตัว ราคาน้ำมันที่ยังมีปัจจัยเรื่อง Supply จาก Shale ที่กำลังเพิ่มขึ้น และตลาดแรงงานในปัจจุบันที่มีความสามารถในการต่อรองค่าแรงค่อนข้างน้อย (แนวโน้มสหภาพแรงงานทั่วโลกค่อนข้างอ่อนแอ เทคโนโลยีกระทบตลาดแรงงานให้เรียกร้องค่าแรงได้ยาก)

ตลาดหุ้นตอนนี้จึงเป็นสนามรบ ระหว่างตัวเลขเศรษฐกิจที่ดี กับ ความกังวลว่าภาวะเงินเฟ้อจะเร่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลาง ทั้งหมดนี้ถ่ายทอดออกมาเป็นอารมณ์ของนักลงทุน ที่มีการต่อสู้ระหว่างความอยากเป็นเจ้าของผลประกอบการที่ดีในอนาคต กับความกลัวการปรับขึ้นดอกเบี้ยและความผันผวนของตลาดหุ้น (Greed & Fear)   

ในอดีตที่ผ่านมา สงครามนี้มักจบลงด้วยชัยชนะของเศรษฐกิจและผลประกอบการที่ดี โดยตลาดหุ้นมักผันผวนในช่วงแรก (2-3 เดือน)  หลังจากนั้น ตลาดจะเข้าสู่ภาวะกระทิง คือปรับตัวขึ้นตามตัวเลขผลประกอบการที่ดี และจะวิ่งไปเรื่อย จนกว่าจะถึงวิกฤติเศรษฐกิจครั้งต่อไป ซึ่งจากตัวเลขทั้งหลายที่ออกมาน่าจะไม่ใช่เร็วๆ นี้

กลยุทธ์สำหรับสนามรบการลงทุนที่เป็นขาขึ้น แต่มีความผันผวนสูงเช่นนี้คือ 1) ยังคงเน้นการลงทุนในหุ้นเป็นหลักมากกว่าตราสารหนี้ เพราะยังไม่ใกล้ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ 2) ทำกำไรจากความผันผวนด้วยการเพิ่มสัดส่วนเงินสดขึ้นจากปกติ 10-20% ของพอร์ต จะได้มีกระสุนไว้ยิง เพิ่มน้ำหนักหุ้นเมื่อตลาดย่อตัว และอย่าลืมทยอยขายในขาขึ้น  3) เน้นหุ้นตามวัฏจักรเศรษฐกิจขาขึ้นหรือ Cyclical (เช่น ก่อสร้าง อุตสาหกรรม commodities ธนาคาร ท่องเที่ยว นิคมอุตสาหกรรม) มากกว่าหุ้น defensive (เช่น REIT, infrastructure funds, สาธารณูปโภค, สินค้าอุปโภคพื้นฐาน เป็นต้น)