SpaceX สร้างฝันให้มวลมนุษยชาติ

SpaceX สร้างฝันให้มวลมนุษยชาติ

เมื่อกว่าล้านปีที่แล้วอาจมีลูกอุกกาบาตตกกระทบพื้นโลก สร้างฝุ่นหนาทึบปกคลุมชั้น บรรยากาศโลก ทำให้ “ไดโนเสาร์” ที่ครอบครองพื้นโลกต้องสูญพันธุ์

ไม่ว่าจะเป็นด้วยภัยพิบัตินี้ หรือเหตุการณ์อื่นใด ความพยายามที่จะรักษามวลมนุษยชาติให้รอดพ้นจากการสูญพันธุ์ ได้ทำให้ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) เกิดความคิดที่จะพามนุษย์ไปตั้งถิ่นฐานในต่างดาว วิสัยทัศน์ไซไฟของมหาเศรษฐีผู้นี้ เปรียบได้ราวกับนิยายวิทยาศาสตร์ที่กำลังถูกจับตามองอย่างท้าทาย

บริษัท Space Exploration Technologies Corp หรือ “สเปซเอ็กซ์" (SpaceX) เป็นบริษัทผู้ออกแบบ ผลิต และส่งจรวดและยานอวกาศสู่นอกโลก ก่อตั้งโดย อีลอน มัสก์ ในปี 2002 ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะนำ มนุษยชาติไปตั้งถิ่นฐานในต่างดาว และได้ปฏิวัติอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology) อย่างล้ำหน้า 

จรวดที่สร้างชื่อเสียงของสเปซเอ็กซ์ ได้แก่ ฟาวด์คอน 9 (Falcon 9) เป็นจรวดสองตอน (two-stage rocket) ที่ถูกออกแบบให้สามารถขนส่งดาวเทียมและยานอวกาศเข้าสู่วงโคจรของโลก โดยได้ สร้างประวัติศาสตร์โลกด้วยการเป็นจรวดลำแรก ที่สามารถร่อนกลับมาจอดยังแท่นรับในมหาสมุทร (Reusable Rocket) ได้สำเร็จ

ก้าวสู่เผ่าพันธุ์มนุษย์ต่างดาว

อีลอน มัสก์ ได้บรรยายถึงวิสัยทัศน์ของสเปซเอ็กซ์ เกี่ยวกับการพามนุษย์ไปตั้งถิ่นฐานยังดาวอังคารในหัวข้อ “Making Humans a Multiplanetary Species” ในงาน International Astronautical Congress เมื่อเดือน ก.ย.2016 ว่า ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีในการนำจรวดหรือชิ้นส่วน กลับมาใช้ใหม่ (Reusableโดยอีลอนมีเป้าหมายที่จะพัฒนาเทคโนโลยีที่ลดค่าใช้จ่าย ในการส่งจรวดขึ้นสู่อวกาศลงให้เหลือเพียง 10% ของค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน หรือหากเป็นไปได้ในระยะยาว ยังต้องการจะลดค่าใช้จ่ายลงให้เหลือเพียง 1% นั่นคือ การลดค่าใช้จ่ายการส่งจรวดแต่ละครั้งลง จาก 62 ล้านดอลลาร์ ให้เหลือเพียง 620,000 ดอลลาร์ ​

ภาพการถ่ายทอดการทดสอบส่งจรวดฟาวด์คอนเฮวี่ (Falcon Heavy) ซึ่งเป็นจรวดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่ ปฏิบัติได้อยู่ในเวลานี้ขึ้นสู่อวกาศพร้อมกับสัมภาระชิ้นสำคัญ คือ รถยนต์ Tesla Roadster สีแดง คันงามของอีลอน มัสก์และหุ่นจำลอง Starman ให้เข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารจากฐานยิงจรวดที่แหลม คานาเวอร์ลัน ในรัฐฟลอริดาเมื่อวันที่ 6 ก.พ.2018 ได้สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้กับอุตสาหกรรมอวกาศอีกครั้ง เมื่อบริษัทเอกชนสามารถส่งจรวดขนาดใหญ่ที่สุดออกสู่อวกาศและสามารถนำ 2 ใน 3 ของจรวดที่ใช้ขับเคลื่อนฟาวด์คอนเฮวี่กลับสู่พื้นโลกเพื่อใช้งานต่อไปได้สำเร็จ 

โดยนักวิทยาศาสตร์คาดว่า หากรถยนต์อวกาศคันงามของอีลอนไม่ถูกทำลายไปเสียก่อน รถคันนี้จะเคลื่อนเข้ามาใกล้โลกมากที่สุดในปี 2091 และจะท่องไปในจักรวาลนานหลายสิบล้านปี

ความสำเร็จในครั้งนี้ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นถึงความเป็นไปได้ในการที่สเปซเอ็กซ์ จะสามารถนำจรวดลงจอด ยังดาวอังคารได้ แต่ยังคงมีคำถามมากมายถึงการตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคาร อาทิ การอยู่รอดภายใต้รังสีและ แสงอาทิตย์ที่ร้อนแรง การผลิตอาหารและพลังงาน การสร้างชุมชน ตลอดจนเงินลงทุนในโครงการ

ลดต้นทุน เพิ่มความหวัง

รายได้หลักของสเปซเอ็กซ์ มาจากการขนส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรของโลก ซึ่งสเปซเอ็กซ์จะได้รับ ค่าใช้จ่ายจากการใช้ฟาวด์คอน 9 ในการขนส่งครั้งละประมาณ 62 ล้านดอลลาร์ หรืออาจสูงถึง 82 ล้านดอลลาร์หากเป็นการขนส่งที่ซับซ้อน เช่น การลำเลียงสัมภาระ (Payload) ไปยังสถานีอวกาศ International Space Station (ISS) เป็นต้น 

นักวิเคราะห์เชื่อว่าเป็นรายได้ที่ดีของสเปซเอ็กซ์ และอาจให้ผลกำไรที่เหนือกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมอย่าง Lockheed Martin และ Boeing หากคำนวณว่าในปี 2016 สเปซเอ็กซ์ได้ขนส่งดาวเทียมถึง 18 เที่ยว จึงน่าจะได้รับรายได้ประมาณ 1,300 ล้านดอลลาร์ จนเป็นข้อสงสัยจากลูกค้าของสเปซเอ็กซ์ ถึงค่าใช้จ่ายที่ลดลงจากการนำจรวดมาใช้ใหม่ว่า จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของลูกค้าลงได้หรือไม่ และแน่นอนจะกระทบกับผลกำไรและแผนการของสเปซเอ็กซ์ อย่างไร

เทคโนโลยีที่ไม่หยุดนิ่ง

สเปซเอ็กซ์ใช้เวลาในการสร้างฟาวด์คอนเฮวี่ นานกว่า 7 ปี ด้วยเงินลงทุนกว่า 500 ล้านดอลลาร์ เพื่อใช้ในการขนส่งดาวเทียมขนาดใหญ่และยานอวกาศขึ้นสู่นอกโลก โดยสามารถขนส่งสินค้าขนาดหนักถึง 64 เมตริกตันและสามารถบรรทุกสัมภาระที่หนักกว่าคู่แข่งถึงสองเท่า แต่กลับสามารถลดค่าใช้จ่ายให้ต่ำกว่า คู่แข่งได้เป็นอย่างมาก จึงนับเป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาทางอุตสาหกรรม

ด้วยความพยายามอย่างยิ่งในการส่งจรวดไปยังดาวอังคาร สเปซเอ็กซ์จึงได้ออกแบบ “Big Falcon Rocket (BFR)” จรวดลำใหม่ที่จะมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเพื่อเดินทางไปยังดาวอังคาร จากฐานถึงยอดจะมีความสูงถึง 106 เมตรและสามารถบรรทุกสัมภาระได้หนักถึง 150 ตัน และยังมียานอวกาศที่สามารถจุผู้โดยสารได้ถึง 100 คน คาดว่า BFR จะปรากฏโฉมให้เห็นได้ในปี 2019 และพร้อมต่อการทดสอบใน 3-4 ปีข้างหน้า

ฝันที่สร้างเอง

ประวัติความสำเร็จของ SpaceX ที่ได้สร้างสิ่งเกิดคาดให้กับเทคโนโลยีอวกาศ และความไม่ย่อท้อต่อความล้มเหลวของการทดลอง ได้เปิดฉากใหม่ให้กับการค้นคว้าและการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ คงดีไม่น้อยหากการเดินทางไปต่างดาวของมนุษย์ จะเป็นการสำรวจแทนที่จะเป็นการอพยพเพื่อหลีกหนีการสูญพันธุ์ ที่อาจเกิดจากน้ำมือของมนุษย์เอง 

คงดีที่สุดหากมนุษย์อยู่ในโลกใบนี้ได้ตราบนานเท่านาน