อีเมล มาร์เก็ตติ้ง เวิร์คหรือไม่เวิร์ค?

อีเมล มาร์เก็ตติ้ง เวิร์คหรือไม่เวิร์ค?

เร็วๆนี้ผมเองเพิ่งจะจัดสัมมนาให้กับบริษัทครับ หัวข้อง่ายๆ แต่บรรยายไม่ง่าย “Digital Marketing for Entrepreneur”

งานนี้ไม่ใช่ Entrepreneur บรรยายไม่ได้นะครับ ตัวผมเองล้มลุกคลุกคลานกับการทำ Digital Marketing มาประมาณครึ่งชีวิต เข้าใจหัวอกคนเป็น Entrepreneur หรือ ผู้ประกอบการเป็นอย่างดี เรียกได้ว่าแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันกับผู้ฟังอย่างสนุก

หนึ่งใน “หัวข้อ” ที่น่าสนใจ ที่มีผู้ฟังยกมือถาม กลายเป็นเรื่อง “อีเมล มาร์เก็ตติ้ง” ครับ

อาจจะด้วยในเนื้อหาสัมมนา ผมจะเน้นมากๆ ว่า Digital Marketer ทุกคนต้องทำการเก็บข้อมูลลูกค้า หรือ ผู้เข้าชมให้ได้ ถ้าเก็บยากเก็บเย็น เก็บแทบไม่ได้ อย่างน้อยที่สุดก็ขอเก็บ อีเมล ไว้ก่อน เป็นขั้นพื้นฐาน เพราะ “อีเมล”สำคัญกว่า ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ ด้วยซ้ำ อย่างน้อยที่สุด เราก็นำอีเมล มาทำเป็น  อีเมล มาร์เก็ตติ้ง เพื่อติดต่อลูกค้าได้

พอพูดดังนั้น จะไม่แปลกใจครับ มีคนยกมือเถียงผมในทันทีว่า ทำ“อีเมล มาร์เก็ตติ้ง”ไม่เคยเวิร์คเลยสักครั้ง เคยทำแล้ว แต่คนไม่เปิดอ่านเลย! ประเด็นนี้เลยต้องมาถกเถียงกันต่อในรายละเอียดครับ ที่บอกว่าไม่เวิร์คนั้น มันเพราะเหตุใดกันแน่

อย่างแรกเลย คุณไปเอาอีเมลที่ใช้ส่งมาจากไหน...  ซื้อมา, ก็อบมาจากอินเทอร์เน็ต,  ทำกิจกรรมแจกไอโฟน แล้วได้อีเมล

จะบอกว่าอีเมลของคนที่ไม่ได้สนใจในสินค้าหรือบริการของเราจริงๆ ตามที่กล่าวข้างต้นนี้ ต้องยอมรับครับว่า มันโครตจะไม่เวิร์คเลยครับ จริงๆ ถ้าเราได้อีเมลมา โดยที่เจ้าของอีเมลไม่ได้ยินยอมให้เราส่งอีเมลหา ผมจะเรียกสิ่งนี้ว่า Spam Marketing!  ถ้าไม่สิ้นไร้ ไม้ตอกจริงๆ ไม่ค่อยจะแนะนำให้ทำครับ

“อีเมล มาร์เก็ตติ้ง” จะได้ผลดีนั้น อีเมลที่ใช้ส่ง ควรจะได้รับความยินยอมจากเจ้าของอีเมลก่อนเป็นอันดับแรกครับ

อย่างที่สอง สำคัญไม่แพ้กันคือ ระบบที่ใช้ส่งเมลครับ เวลาเราส่งเมลออกจำนวนมากๆ ปัญหาอันหนึ่งที่เราจะเจอเสมอ คือ อีเมลจะวิ่งไปตกในกล่อง Spam ของผู้รับ ทำให้ผู้รับไม่ได้เปิดอ่าน

เรื่องนี้ค่อนข้างเทคนิคพอสมควร ผมไม่ขออธิบาย เหตุฉะไหน อีเมลถึงไปอยู่ในกล่อง Spam ได้ แต่เอาเป็นว่าเราต้องมีระบบส่งอีเมลที่ไว้ใจได้

ผมเองแนะนำโซลูชั่น ของต่างประเทศครับ ชื่อว่า Mailchimp.com ราคาอยู่ในอัตราที่รับได้ และไม่มีปัญหาเรื่องอีเมล หลุดไปอยู่ในกล่อง Spam แถมมีระบบ Tracking ที่ค่อนข้างโอเคด้วย

อย่างที่สาม ตามมาติดๆ คือ Subject ของอีเมลที่จะใช้ในการส่งครับ  เมื่ออีเมลไปตกอยู่ในอินบ็อกซ์ของผู้รับแล้ว จะเปิดหรือไม่เปิด ก็ขึ้นอยู่กับตรงนี้ครับ ว่าจะเปิดอ่านหรือไม่เปิดอ่าน

ทั้งนี้ทั้งนั้นส่วนใหญ่แล้ว Subject จะขึ้นอยู่กับความเป็น “ครีเอทีฟ” ของผู้ส่ง ซึ่งค่อนข้างยากมากที่จะตัดสินว่า Subject อีเมลที่เราคิดขึ้นมานั้น มันดีหรือไม่ดี  เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ประเภทของธุรกิจ, สินค้า, กลุ่มผู้รับอีเมล ฯลฯ

ดังนั้นผมอยากแนะนำเทคนิคง่ายๆ ในการทดสอบ Subject อีเมลครับ เรียกกันง่ายๆว่า Split Testing

สมมุติว่าเรามีอีเมลที่จะใช้ส่งทั้งหมด 10,000 อีเมล เมื่อเราคิด Subject อีเมล อันกิ๋บเก๋เรียบร้อยแล้ว วิธีการส่งเมลคือ อย่าเพิ่งส่งเมลทั้ง 10,000 อีเมลออกไป ลองสุ่มอีเมลขึ้นมาสัก 100-200 อีเมล แล้วส่งออกไปเทสต์ก่อน ว่า Open Rate จะประมาณสักเท่าไหร่

สมมุติส่งออกไป เราเจอว่า Open Rate แค่ 2% อันนี้ถือว่ารับไม่ได้สุดๆ ผมแนะนำให้คิด Subject อีเมลอันใหม่ขึ้นมาเพื่อใช้ส่งแทน  ทำเทสต์ไปเรื่อยๆ ทีละ 100-200 อีเมล ส่งจนกว่าเราจะได้ Open Rate ที่เราพอใจ จากนั้นถึงจะส่งเมลที่เหลือทั้งหมดออกไปในขั้นตอนสุดท้ายครับ

ถ้าถามผมว่า Open Rate มันควรจะประมาณเท่าไหร่ มาตราฐานอุตสาหกรรมของอีเมล มาร์เก็ตติ้ง Open Rate จะอยู่ที่ประมาณ 10%

บางคนร้องกรี๊ดๆ ว่าทำไมแค่ 10% เอง แต่ขอโทษครับ ทุกวันนี้ Reach บนเพจเฟซบุ๊คของเรา อยู่ที่ประมาณ 1% เท่านั้น บางเพจต่ำกว่า 1% เสียเอง ดังนั้นอีเมล มาร์เก็ตติ้ง ส่งออกแต่ละครั้ง ถือว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าเฟซบุ๊ค เพจ ประมาณ 10 เท่า

ท้ายสุดและสุดท้าย คือ ตัวเนื้อหาอีเมล

คำแนะนำของผมคือ ให้เนื้อหารวบกระชับ ไม่เวิ่นเว้อ แบ่ง section ให้อ่านง่าย มี Call-to-Action ที่เราต้องการอยู่ในเนื้อหาอีเมลด้วย

ถ้าจะส่งอีเมลแบบ HTML ก็ให้ชัวร์ว่า อีเมลสามารถโหลดได้เร็ว อย่าพยายามใส่รูป หรือไฟล์หนักๆ ลงไป เพราะจะทำให้คนอ่านชิงปิดอีเมลไปก่อนที่รูปมันจะโหลดขึ้นมาจนเสร็จ

อันนี้เป็นเคล็ดลับ ที่ไม่ลับในการทำอีเมล มาร์เก็ตติ้งครับ ลองนำไปพัฒนาการทำอีเมล มาร์เก็ตติ้งของตัวเองดู  ทีนี้ถ้ายังไม่เวิร์คอยู่อีกละก็...ตัวใครตัวมันครับ!