ผลของ EEC ต่ออนาคตเศรษฐกิจไทย

ผลของ EEC ต่ออนาคตเศรษฐกิจไทย

ผลของ EEC ต่ออนาคตเศรษฐกิจไทยเป็นเรื่องที่ต้องมีศึกษาวิจัยอีกมาก และต้องรอให้เกิดผลกระทบทางบวกทางลบในเชิงประจักษ์เกิดขึ้นก่อน

การแสดงความเห็นในวันนี้จึงยังเป็นเพียงการคาดการณ์สิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตเท่านั้น หากนำเอากรอบเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติ ที่มองการพัฒนาเป็นมิติ (Dimensions) แทนที่มองแบบแยกเป็นเสาหลัก (Pillars) ทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม แล้ว ก็จะพบว่า การพัฒนา EEC ยังคงมีลักษณะการพัฒนาแบบแยกส่วนตามกรอบความคิดแบบเสาหลักอยู่ ไม่ได้เชื่อมโยงทุกมิติให้เป็นเนื้อเดียวมากนัก โดยเฉพาะยังขาดมิติคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ คุณภาพชีวิตแรงงาน และโครงสร้างดุลอำนาจ (มิติการเมือง) ของประเทศ

หากไม่จัดสมดุลพลังอำนาจทางเศรษฐกิจในพื้นที่ให้ดี EEC อาจมีสภาพเป็นพื้นที่ “กึ่งอาณานิคมทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนข้ามชาติ” แทนที่จะเป็น “หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกับกลุ่มทุนข้ามชาติ”

เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สามารถเชื่อมต่อกับตลาดอินโดจีน 230 ล้านคนได้ โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกนั้นถือเป็นภาคต่อของโครงการ Eastern Seaboard ที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สามารถแข่งขัน และดึงดูดการลงทุนได้ในช่วง 10-20 ปีข้างหน้า 

โจทย์สำคัญ คือ จะทำอย่างไรให้ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอันเกิดจาก “เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก” กระจายมายังคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่กระจุกอยู่เพียงกลุ่มทุนขนาดใหญ่ และ รายได้เม็ดเงินที่เกิดขึ้นจากการลงทุนในพื้นที่กลายเป็นเพียงเงินทุนส่งกลับไปยังประเทศต้นทางของบรรษัทข้ามชาติทั้งหลาย โดยประเทศไทยไม่ได้เกิดการพัฒนาก้าวหน้าขึ้นเท่าไหร่นัก

แน่นอนว่า พระราชบัญญัติเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC ที่ผ่าน สนช. จะส่งผลกระตุ้นภาคการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนจากต่างชาติ ขับเคลื่อนการขยายตัวเศรษฐกิจภาคตะวันออก 

ผมเห็นว่า ผลของ EEC ต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในช่วงแรก จะยังมีไม่มากนักในระยะนี้ โดยจะมีผลทางบวกมากขึ้นหลังการเลือกตั้ง และขอเสนอให้ออกระเบียบและเงื่อนไขเพิ่มเติมด้านสิ่งแวดล้อม การถ่ายโอนเทคโนโลยี สภาพการจ้างงาน และการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งการให้สัมปทานต่างชาติในโครงการขนาดใหญ่ต้องรอบคอบและโปร่งใส

การถ่ายโอนเทคโนโลยีสู่แรงงานและกิจการของคนไทยนั้นต้องอาศัย “ทุนมนุษย์” ที่มีศักยภาพในการดูดซับความรู้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้ รัฐบาลต้องมีมาตรการเพิ่มเติม และทำงานเชิงรุกมากขึ้นในการแก้ปัญหาโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุ การขาดแคลนแรงงาน รวมทั้ง การเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ทั้ง Labour Productivity และ Capital Productivity

เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษา 

การลงทุนทางด้านการวิจัยและสร้างนวัตกรรม การลงทุนในเทคโนโลยีการผลิตและเทคโนโลยีการจัดการต่างๆ การแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานโดยใช้หุ่นยนต์ เครื่องจักรกลอัตโนมัติ และ สมองกลอัจฉริยะ เป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมปรับตัวไปในทิศทางดังกล่าวอยู่แล้ว 

บทบาทของรัฐ คือ การดำเนินการส่งเสริมอย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการว่างงานเนื่องจากการใช้เทคโนโลยี แต่ต้องฝึกอบรมคนให้มีทักษะขั้นสูงเพื่อทำงานกับเทคโนโลยี สร้างงานใหม่ๆ ขึ้นมาแทนที่งานจำนวนหนึ่งที่ไม่ต้องอาศัยแรงงานคนแต่ใช้เทคโนโลยีมาแทนได้

การสร้างภาวะแวดล้อมและระบบแรงจูงใจเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี แล้ว “ไทย” สามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาพัฒนาต่อยอดเป็น “นวัตกรรม” เพิ่มเติมได้ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

ต้องไม่ลืมว่า โครงการ Eastern Seaboard ที่เกิดขึ้นเมื่อสามสี่ทศวรรษที่แล้ว ไม่ได้ส่งผลอย่างมีการนัยยสำคัญต่อการยกระดับเทคโนโลยีของไทยเลย เพราะเราละเลยประเด็นนี้ไป 

ขณะที่ จีน ซึ่งพัฒนาเศรษฐกิจไล่หลังไทยมาเมื่อสามสิบปีที่แล้ว วันนี้ สามารถพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองแซงหน้าไทยไปแล้ว เราไม่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงได้ เพราะไทยยังไม่มีความพร้อมทางด้านการวิจัย เรายังลงทุนทางด้านวิจัยและการสร้างนวัตกรรม ที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมน้อยกว่าประเทศที่ประสบความสำเร็จในภูมิภาค อย่าง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน  เรายังขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญ และนักวิจัยในหลายสาขา โดยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 

นอกจากนี้ ระบบการศึกษาไทยยังจำเป็นต้องมีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงอีกมาก ระบบนิติรัฐ ความโปร่งใสและธรรมาภิบาลในระบบราชการ และการตัดสินใจทางนโยบาย (การเมือง) ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ที่ไทยต้องทำให้ได้ในมาตรฐานของประเทศที่พัฒนาแล้ว

ไทยต้องมีมาตรการที่ชัดเจนในเตรียมรับการถ่ายโอนเทคโนโลยี และ กระบวนการฝึกอบรมทักษะแรงงานอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ในอนาคต สินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงจะได้เป็นสินค้าที่ไทยผลิตเองได้ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่สินค้าที่ผลิตในประเทศไทยเท่านั้น  และต้องตระหนักด้วยว่า เราไม่ควรแลกการเติบโตทางเศรษฐกิจอันเป็นผลจากการลงทุนของต่างชาติ กับ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตของผู้คน ตลอดจนการยอมอยู่ในสภาพกึ่งอาณานิคมทางเศรษฐกิจของทุนข้ามชาติ โดยที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์อะไร ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่ได้กระจายไปยังประชาชนส่วนใหญ่ และกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มทุนขนาดใหญ่และกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆเท่านั้น 

การจะไม่เกิดสภาพ “กึ่งอาณานิคมทางเศรษฐกิจ” หรือ การเป็น “เบี้ยล่างทางเศรษฐกิจ” ก็ด้วยการกำหนดกฎเกณฑ์ที่สร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค มีความสมดุลและถ่วงดุลไม่ให้เกิดการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจโดยกลุ่มทุนกลุ่มใหญ่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

การเปิดเสรีให้ “ทุนขนาดใหญ่ต่างชาติ” เข้ามารับสัมปทาน หรือ ร่วมถือครองความเป็นเจ้าของ หรือถือหุ้นในโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เช่น สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง เส้นทางรถไฟและระบบรางในภาคตะวันออก พัฒนาที่ดินของรัฐ โครงการบริหารจัดการน้ำ ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ รัดกุม และสร้างความสมดุลให้ดี ไม่ให้ “ไทย” ต้องตกเป็นเบี้ยล่างและกลายเป็น “กึ่งอาณานิคมทางเศรษฐกิจ” ของกลุ่มทุนขนาดใหญ่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง 

การเปิดเสรีการลงทุนของต่างชาติจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ และประชาชนส่วนใหญ่ก็ต่อเมื่อระบบการบริหารประเทศ การให้สัมปทานมีความโปร่งใส มีธรรมาภิบาล มียุทธศาสตร์ที่ดี รักษาดุลอำนาจอย่างเหมาะสมในโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อให้ผลประโยชน์จากการลงทุนกระจายมายังคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่คนไทยกลุ่มเล็กๆหรือทุนขนาดใหญ่ข้ามชาติเท่านั้น

โครงการลงทุนส่วนใหญ่ที่จ่อเข้ามาลงทุนใน EEC จะยังรอดูความชัดเจนว่า ไทยจะกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ 

หากรัฐบาล คสช. ประกาศวันเลือกตั้งให้ชัดเจนจะเป็นผลดีต่อการลงทุน และ ควรเปิดให้ประชาชน และพรรคการเมืองมีเสรีภาพในการแสดงความเห็น และดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ตามปกติ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและเกิดการตรวจสอบถ่วงดุลในการบริหารประเทศ และการกำหนดนโยบาย 

การเปิดกว้างดังกล่าวยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดวิกฤตการณ์การเมืองรอบใหม่ได้อีกด้วย

หาก EEC ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ ไทยก็อยู่ในกับดักของประเทศรายได้ระดับปานกลางไปอีก แต่ก็ต้องมาพิจารณาว่า EEC ไม่ประสบความสำเร็จเพราะอะไร 

หาก EEC ไม่สำเร็จ เราก็ยังมีนโยบายหรือมาตรการอื่นๆ หรือ พื้นที่อื่นๆในการเป็นพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจได้ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน การเพิ่มรายได้และเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนโดยมาตรการทางด้านเศรษฐกิจต่างๆเพื่อให้ประเทศไทยมีเศรษฐกิจภายในที่เข้มแข็งมากขึ้น เป็นDual Tracks Policy พึ่งพาตลาดภายใน เศรษฐกิจภายในมากขึ้น ไม่ใช่อาศัยการส่งออกหรือการลงทุนจากต่างชาติเป็นด้านหลัก 

ทำเช่นนี้ได้ก็จะทำให้ เศรษฐกิจของประเทศมีความสมดุลมากขึ้นอีกด้วย