นาฬิกา ล่าสัตว์ ค้ามนุษย์และการลงทัณฑ์

นาฬิกา ล่าสัตว์ ค้ามนุษย์และการลงทัณฑ์

ติดคุกซ้ำ(recidivism) และกระทำผิดแล้วลอยนวลพ้นผิด(impunity) เป็นหลุมดำในกระบวนการยุติธรรมอย่างยิ่ง

บ่อยครั้งที่เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญกำลังใจ เช่น ปาดคอชิงไอโฟน ข่มขืนบังคับหญิงค้าประเวณี แท็กซี่ทำร้ายผู้โดยสาร เรามักจะหยิบยกปัญหาซ้ำซากเรื่องเดิมๆ ในสังคมของเรา คือ ผู้ต้องหาที่ก่อเหตุมักจะเคยต้องโทษติดคุกติดตะรางมาแล้ว บ้างเพิ่งจะออกคุกมาสดๆ ร้อนๆ เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันไปจนถึงกระบวนการยุติธรรมว่าได้ผลสักแค่ไหนกันในการลงโทษทางอาญา

สถิติตัวเลขผู้กระทำผิดซ้ำของกรมราชทัณฑ์แต่ละปีมาจนถึง2560 ดูจะยืนยันคำวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมได้เป็นอย่างดีว่า มีมูล

ผู้กระทำผิดซ้ำ(recidivist)หมายความว่า ผู้เคยต้องโทษได้กระทำผิดซ้ำอีก มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเยาวชนซึ่งการปฏิบัติงานและเสนอแนวทางแก้ไขของกรมราชทัณฑ์ตลอดมาไม่สามารถจะก้าวทันการกระทำผิดซ้ำซากของผู้เคยต้องโทษได้เลย

คุกตะรางจึงแก้ปัญหาการกระทำผิดทางอาญาไม่ได้ แนวโน้มที่สูงขึ้นของการกระทำผิดซ้ำ และนักโทษล้นคุก เป็นคำตอบในตัวเองอยู่แล้วไม่เฉพาะในเมืองไทยแต่ทั่วโลก จึงไม่ใช่ “ทางออก” แต่อย่างใด

เพจล่ารายชื่อเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายว่าจะต้องไม่มีการลดหย่อนผ่อนโทษให้แก่ผู้กระทำผิดซ้ำซาก เพราะนั่นเป็นเพียงประวิงเวลาไว้ชั่วคราวเท่านั้น

แม้โทษประหารชีวิตมีงานวิจัยมากมายในนานาประเทศแสดงว่าไม่ว่าจะใช้การประหารแบบใดโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอาชญากรรม

กล่าวได้ว่าทั้งโทษการประหารชีวิตและคุกไม่ใช่ทางออกของปัญหาการกระทำผิดและผู้กระทำผิด

กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า ป่วยการที่เราจะหาตัวผู้กระทำความผิด และปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวลพ้นผิด เพราะจะยิ่งส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้กระทำ ที่จะย่ามใจทำแล้วทำอีกซ้ำซากอย่างที่เราเห็นกันว่า เมื่อใดที่ผู้กระทำผิดกลุ่มนี้ถูกจับได้นั่นมักไม่ใช่ครั้งแรกที่กระทำ บ้างทำจนเป็นนิสัยเป็นวิถีชีวิตเป็น 'อาชีพ' ไปเลย(อย่างไร้รายงานไร้สถิติจากกรมราชทัณฑ์) ซึ่งจะยิ่งสร้าง และส่งเสริมวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในสังคมให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ยิ่งทำให้เกิดบรรทัดฐานค่านิยมว่าความผิดและความรุนแรงใดๆ ย่อมทำได้ และใครก็ทำกันอย่างลอยนวล ซึ่งจะนำไปสู่การล่มสลายของสังคมเมื่อคนมากขึ้นเรื่อยๆ พากันเชื่อ และทำอย่างนั้น 

นับเป็นผลเสียหายข้างเคียงที่ตามมา(collateral damage )อันสาหัสสากรรจ์เป็นภัยต่อสังคมเสียยิ่งกว่าเรื่องของผู้กระทำผิดซ้ำเสียอีก 

ปัจจุบันสังคมไทยมีความรวยความจนเหลื่อมล้ำกันในลำดับต้นๆ ของโลก “คนรวย” เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ในระยะหลังๆ มานี้ ถูกชี้ชัดเพิ่มขึ้นมาในปรากฏการณ์การลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทย ที่แต่เดิมมักได้แก่คนกลุ่มหน้าเดิมๆ เช่น เจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะตำรวจ ทหาร รัฐมนตรี นักการเมือง ผู้ประกอบอาชีพครู ทนายความ อัยการ แพทย์ พระ(อลัชชี) 

คำกล่าวที่ว่า “คุกไม่ได้มีไว้ขังคนรวย” ดูจะแพร่หลายและออกฤทธิ์หลอนมากขึ้นเรื่อยๆ ในจิตสำนึกคนไทยส่วนใหญ่ที่ไม่ “รวย”ซึ่งเป็นเรื่องน่ากลัวหากพลเมืองจะตกอยู่ใต้ฤทธิ์หลอนเช่นนี้นานๆ โดยไม่มีการแก้ไข

ในสังคมจะเกิดการการไล่ล่าเฝ้าระวังผู้ต้องสงสัย หรือผู้กระทำผิดด้วยความมุ่งมาดอาฆาตร้ายแก้ความคับแค้น หรือสนองความสะใจความโกรธความเกลียดที่มีในใจ เพียงเพราะเขามีอำนาจ มีเงิน หรือเพียงเพราะเห็นเขาจนอำนาจจนเงิน จึงถล่มได้ถล่มเอา

การติดตามเฝ้าระวังเช่นนี้มีแต่จะสนองด้านมืดในจิตใจยิ่งเพาะความก้าวร้าวความเจ็บช้ำความอาฆาตมุ่งร้ายที่ไร้ผลให้ผู้กระทำผิดเลิกกระทำผิดอีกทั้งความรู้สึกดีใจลิงโลดใจในการทำให้ผู้อื่นเจ็บปวดต้องโทษที่เพาะสะสมขึ้นในส่วนลึกของจิตใจผู้เฝ้าระวังก็หาใช่สิ่งที่ควรยินดีไม่

โรดแมพสู่หลักนิติธรรม มีความเสมอภาคของกฎหมายและไร้การเลือกปฏิบัติ จึงมีความเร่งด่วนต่อสังคมไทยในขณะนี้ ไม่แพ้โรดแมพสู่ประชาธิปไตยแต่อย่างใดเลย

การลงโทษ นอกจากต้องเคารพหลักนิติธรรมแล้ว เราอาจต้องมีทางเลือกอื่นๆ อีก ไม่ใช่มีแค่คุก และโทษประหารชีวิตกักขัง หรือการปรับเป็นเงิน ริบทรัพย์ ตามหลักการกฎหมายอาญา

ด้วยหลักคิดแบบพรหมวิหารธรรมด้วยเมตตากรุณาและมีอุเบกขาไม่แบ่งแยกเลือกปฏิบัติใครด้วยเหตุใด เราอาจพบ และยอมรับการลงโทษทัณฑ์ ด้วยวิธีหลากหลายมากขึ้น ที่เน้นการอภัยการได้รับความเมตตากรุณาสร้างจิตใจรับผิดชอบต่อชีวิตผู้อื่นและสังคม เช่น ลดทอนตัดโอกาส ที่จะทำความผิดเช่นนั้นอีกกำหนดชั่วโมงทำประโยชน์สาธารณะ กำหนดอัตราหักเปอร์เซนต์จากรายได้ทุกชนิดตลอดชีวิต รวมทั้ง เงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญให้แก่ครอบครัวของเหยื่อ หรือเข้าสู่กองทุนฟื้นฟูบริบาล และการศึกษาใดๆ แทนการจ่ายค่าปรับครั้งเดียว การบำบัดพฤติกรรมเป็นต้น

การที่เราเป็นสังคมเปิดสังคมประชาธิปไตยที่ถึงแม้จะเต็มใบ หรือครึ่งใบ แต่ก็มีการใช้หลักนิติธรรมอยู่ในระดับกลางๆ ประมาณลำดับที่ 65 ของโลก 

นาฬิกาแห่งหลักนิติธรรมนิ้ยากจะหมุนกลับแม้ในภาวะประกาศกฎอัยการศึกหรือประกาศใช้ม.ใดๆ โดยเฉพาะยิ่งถ้าผู้ต้องสงสัยอผู้กระทำความผิดมีทั้งอำนาจทางการปกครองและ “รวย” ด้วยวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด(impunity culture)ก็จะยิ่งถูกจับตามองจากสังคมไทยและสังคมโลกรอวันปะทุ