Organization Design

Organization Design

ทุกวันนี้ถ้าเรามองไปรอบๆ ตัวจะเห็นว่ามีผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมจากบริษัทชั้นนำระดับโลกออกมาสู่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เช่น ผลิตภัณฑ์ของApple

ที่ใช้คอนเซปต์ของ Design Thinking ในการทำ Product Design จนสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ถูกอกถูกใจผู้บริโภค ทั้งในแง่ของฟังก์ชั่นการใช้งาน รูปลักษณ์ที่ทันสมัย และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภค ออกมาได้อย่างต่อเนื่อง 

ความสำเร็จของ Apple นั้นไม่ได้เกิดจาก Product Design ที่เป็นเลิศเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เบื้องหลังความสำเร็จนี้เกิดจากปัจจัยสำคัญหลายอย่างซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการมี Organizational Design ที่เอื้อต่อการทำงานของคนในโลกที่เปลี่ยนไป

ในโลกยุค digital ที่เรามีมนุษย์รุ่น millennial เยอะขึ้นนั้น การดีไซน์องค์กรให้น่าอยู่สำหรับคนกลุ่มนี้ เพื่อผลสำเร็จในอนาคตเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก 

การดีไซน์องค์กรแบบเดิมๆ จะใช้ไม่ได้แล้วเพราะองค์กรสมัยใหม่ไม่ได้ดูที่ span of control หรือ layer ระดับขั้นสายบังคับบัญชาแล้ว แต่ควรมองหาวิธีที่จะทำให้งานสำเร็จได้อย่างรวดเร็วขึ้น มีการศึกษาและทำความเข้าใจกับ organization network ที่เป็นอยู่ แล้วก็ดีไซน์องค์กรหรือจัดกลุ่มงานให้สนับสนุนการทำงาน cross functional ที่มีความยืดหยุ่น และเอื้อประโยชน์ให้สามารถทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด พร้อมสร้างผลิตภัณฑ์ออกมาได้ในระยะเวลาอันสั้น 

การจัดกลุ่มงานเหล่านี้ก็ควรจะเป็นกลุ่มที่ไม่ใหญ่เกินไป เป็นองค์กรที่ค่อนข้าง flat ดังคำกล่าวของ Jeff Bezos CEO ของ Amazon ที่เคยเปรียบเทียบไว้ว่า 

“if the team needs more than 2 pizzas for lunch, it’s too big”

ในโลกสมัยใหม่ความสำเร็จขององค์กร ไม่ใช่การที่เราจะมีประสิทธิภาพ และมุ่งเน้นแต่การเพิ่มผลผลิตอย่างเดียวแล้ว แต่กลายเรื่องที่จะทำให้คนเรียนรู้ได้รวดเร็วเก่งขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร 

นอกจากนี้ยังต้องสามารถที่จะลองผิดลองถูก กล้า take risk ที่จะทดลองทำอะไรใหม่ๆ เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าบน cycle ที่เร็วขึ้นกว่าเดิมเพื่อทำให้เราอยู่เหนือคู่แข่ง

การดีไซน์องค์กรให้มีลักษณะที่ยืดหยุ่น และทำงานร่วมกันได้อย่างคล่องตัวขึ้นแบบที่กล่าวมานั้นไม่ใช่เพียงแค่การวาดกล่อง และลากเส้นต่างๆ ในOrganization Chart เท่านั้น เราจำเป็นต้องเปลี่ยน หรือสร้าง foundation ต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้องค์กรเป็นไปในแบบที่เราต้องการ เช่น ต้องมีระบบการจ่ายค่าตอบแทนพนักงาน ไปตามผลสำเร็จของทีม ไม่ใช่ผลสำเร็จของพนักงานรายบุคคล 

การตั้งเป้าหมายก็ต้องเกิดขึ้นเป็นระยะสั้น ตามขนาดของ project ซึ่งต้องมองเห็นได้ชัดเจน คนสามารถที่จะแชร์กันได้ ต้องสามารถวัดความคืบหน้าของการทำงานด้วยระบบ real-time dashboards เพื่อทำให้มองเห็นความคืบหน้าของงาน และมีมุมมองในแต่ละเรื่องได้ชัดเจน 

ระบบนี้จะช่วยรายงานความคืบหน้าของงานได้ตลอดเวลา เมื่อเห็นปัญหาที่ทำให้งานไม่คืบหน้าก็สามารถลงไป focus และตัดสินใจแก้ไขได้ทันท่วงที

นอกจากนี้ต้อง empower และ ให้โอกาสคนรุ่นใหม่ๆ มาเป็นหัวหน้างานได้เร็วขึ้นเพื่อที่จะได้ช่วยกันสร้างความสำเร็จให้กับทีม 

ผู้จัดการต้องทำหน้าที่โค้ชที่ดีและเป็น sponsor idea ใหม่ๆ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสเติบโตและเป็นผู้นำ ทีมต้องปรับเปลี่ยนตลอดเวลาขึ้นกับความสามารถที่ต้องการในแต่ละงาน 

การทำงานแบบนี้ก็เป็นการเปิดโอกาสให้คนมีบทบาทที่หลากหลาย และสามารถสลับกันขึ้นมาเป็นผู้นำทีมในแต่ละงานที่มอบหมาย ทำให้สามารถที่จะพัฒนาแสดงฝีมือ และเติบโตเมื่องานนั้นประสบความสำเร็จ 

จะต้องสร้างวัฒนธรรมการทำงานใหม่ๆ ที่ทำให้เกิด collaboration ของคนในองค์กร ที่มีความหลากหลาย คล้ายกับการจัดการแข่งขันสร้าง computer program ใหม่ๆ ที่เรียกว่า hackathons ซึ่งหมายถึงการรวบรวมคนซึ่งมี expertise ที่ต่างกัน เช่น programmer, graphic designer, user experience, project manager หรือ ผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับ software มาร่วมกันพัฒนา software หรือ application ที่ทำให้เกิดประโยชน์ได้ตามโจทย์ที่องค์กรได้มอบหมายให้ ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันเป็นอย่างมาก เพื่อทำให้เกิดผลสำเร็จไม่ว่าจะเป็นคนในระดับไหนก็ตาม

Organizational Design เป็นเครื่องมือเชิงกลยุทธ์ที่ช่วยให้เราหาวิธีที่จะทำให้คนทุกระดับในองค์กรทำงานสอดประสานกันได้ดีขึ้น connect กันมากขึ้น มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ลดอุปสรรคหรือความล่าช้าต่างๆ ที่เกิดจากโครงสร้างองค์กร เปิดโอกาสให้คนได้พัฒนาศักยภาพในการทำงานบน project ที่หลากหลาย 

นอกจากจะเอื้อต่อการทำงานของคนรุ่นใหม่แล้วยังช่วยให้องค์กรสามารถโลดแล่นในโลกธุรกิจและแข่งขันได้อย่างทันท่วงที

โดย... พรรณพร คงยิ่งยง

รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief People Officer