วงจรของความล้มเหลว

วงจรของความล้มเหลว

มีโอกาสค้นเจอหนังสือเก่าที่ซื้อไว้เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ชื่อ How the mighty fall เขียนโดย Jim Collins ที่ศึกษาวิจัยบริษัทต่างๆ ในสหรัฐ

ทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว พบว่าบริษัทจำนวนมากที่เคยประสบความสำเร็จมาก่อนแล้ว ภายหลังล้มเหลวนั้น มักจะผ่านเข้าสู่วงจรต่างๆ 5 ขั้นตอน ซึ่งยังเป็นข้อคิดที่ทันสมัย และเป็นประโยชน์ในปัจจุบัน 

ถ้าพิจารณาดีๆ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากวงจรความล้มเหลวนี้ ยังสามารถนำมาปรับใช้กับคนได้เช่นเดียวกันว่า ทำไมผู้นำของประเทศและโลกจำนวนมากที่เคยยิ่งใหญ่มาก่อน สุดท้ายก็ต้องล้มเหลวในบั้นปลายเหมือนกับบริษัท

ขั้นที่ 1 เป็นขั้นของ ความสำเร็จเป็นพื้นฐานของความล้มเหลว เนื่องจากพอองค์กรประสบความสำเร็จ ก็มักที่จะนำไปสู่ความหลงตัว ความหลงผิด ความกร่างของตัวผู้นำองค์กร อีกทั้งผู้นำยังเชื่อว่าความสำเร็จนั้นจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้ละเลยต่อสัญญาณของภัยคุกคามต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ละเลยต่อการที่จะคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้องค์กรก้าวหน้าขึ้นไปอีก 

นอกจากนี้ผู้นำ และองค์กรยังหยุด หรือชะลอที่จะเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับช่วงที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เรียกได้ว่าในขั้นที่ 1 นี้ตัวผู้นำและองค์กรเริ่มติดอยู่ในกับดักของความสำเร็จ

ขั้นที่ 2 เป็นขั้นของการเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง และนำไปสู่การโตเกินตัว เนื่องจากเมื่อประสบความสำเร็จ องค์กรก็มักจะแสวงหาการเติบโตต่อไปเรื่อยๆ และมักเข้าใจผิดว่าการที่จะเป็นสุดยอดองค์กรได้นั้น จะต้องมีขนาดที่ใหญ่ 

ความพยายามในการเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง และเติบโตอย่างขาดวินัยจึงมักจะนำไปสู่ปัญหา ทั้งในเรื่องของ การสร้างความคาดหวังที่เกินจริงให้กับผู้ถือหุ้น ผู้บริหารในระดับต่างๆ ที่ไม่เพียงพอและไม่พร้อม  ขาดระบบในการทำงานที่รองรับ หรือ วัฒนธรรมองค์กรที่ไม่เกื้อหนุน 

ปัญหาใหญ่ที่มักจะพบในขั้นนี้คือบรรดาผู้บริหารทั้งหลายจะเริ่มมองที่ตนเองมากกว่าที่องค์กร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผลตอบแทน ชื่อเสียง สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ

ขั้นที่ 3 เป็นขั้นที่มองไม่เห็นและไม่ยอมรับต่อปัญหาและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ขั้นนี้ผู้บริหารหลายๆ องค์กรมักจะตัดสินใจโดยขาดข้อมูลสนับสนุน เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในความสำเร็จของตนเอง และเมื่อมีข้อมูลที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ผู้บริหารก็มักจะพยายามมองแต่ในด้านบวก โดยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับตัวปัญหาหรือความเสี่ยง 

นอกจากนี้ ในการประชุมส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นไปในลักษณะของการเห็นพ้องต้องกัน หรือมีผู้นำกึ่งเผด็จการที่นำการประชุม ทำให้การประชุมขาดการถกเถียง โต้แย้งที่ทำให้เห็นมุมมองที่หลากหลาย อีกทั้งถ้ามีความผิดพลาดใดเกิดขึ้นก็มักจะโทษต่อปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้

ขั้นที่ 4 เป็นขั้นที่องค์กรเริ่มประสบกับปัญหาในการดำเนินงาน แต่ยังไม่ถึงขั้นล้ม ดังนั้นองค์กรก็พยายามหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการหาผู้นำสูงสุดคนใหม่ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างอยู่ตลอดเวลา การพยายามหาเทคนิคหรือเครื่องมือทางการจัดการใหม่ๆ เข้ามาใช้ การเน้นเรื่องการเปลี่ยนแปลงและสิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น กลยุทธ์ใหม่ ค่านิยมใหม่ ซอฟต์แวร์ใหม่ ฯลฯ 

ในขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่องค์กรพยายามดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อความอยู่รอด ซึ่งความพยายามต่างๆ นั้นแทนที่จะช่วยเหลือกลับทำให้บุคลากรสับสน ขาดความเชื่อถือในตัวผู้บริหารและองค์กรมากขึ้น

ขั้นที่ 5 เป็นขั้นสุดท้ายที่องค์กรประสบกับความล้มเหลว

อย่างไรก็ดีใช่ว่าทุกองค์กรจะต้องเข้าสู่วงจรของความล้มเหลวทั้ง 5 ขั้นนี้ หรือ ว่าเมื่อองค์กรเข้าสู่ขั้นใดขั้นหนึ่งแล้ว จะต้องเดินไปตามทั้ง 5 ขั้นจนนำไปสู่ความล้มเหลว มีตัวอย่างขององค์กรจำนวนมากที่สามารถทั้งประสบความสำเร็จ และยั่งยืนได้ รวมทั้งตัวอย่างองค์กรที่เริ่มประสบปัญหา แต่สุดท้ายก็สามารถพลิกฟื้นตนเองได้

ทั้ง 5 ขั้นตอนที่นำเสนอนั้นเพียงแต่ต้องการให้เกิดความตระหนัก และระมัดระวังไม่นำพาตนเองหรือองค์กรตนเองเข้าสู่วงจรนี้เท่านั้น